บาลีวันละคำ

สัพเพ สัตตา (บาลีวันละคำ 2,859)

สัพเพ สัตตา

ถ้าไม่คิดจะภาวนา ก็อย่าเอาไปล้อเลียน

อ่านว่า สับ-เพ สัด-ตา

สัพเพ สัตตา” เป็นคำที่คุ้นปากคนไทย จึงเป็นคำที่น่าจะทำความเข้าใจถึงรากศัพท์ไว้ประดับความรู้

(๑) “สัพเพ

เขียนแบบบาลีเป็น “สพฺเพ” รูปคำเดิมเป็น “สพฺพ” (สับ-พะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) สรฺ (ธาตุ = เป็นไป) + ปัจจัย, แปลง เป็น , แปลง รฺ ที่ สรฺ เป็น พฺ (สรฺ > สพฺ)

: สรฺ + = สรฺว > สรฺพ > สพฺพ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เป็นไป

(2) สพฺพฺ (ธาตุ = เป็นไป) + ปัจจัย

: สพฺพฺ + = สพฺพ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เป็นไป

สพฺพ” (คุณศัพท์) หมายถึง ทั้งหมด, ทั้งปวง, ทั้งสิ้น, ทุกอย่าง (whole, entire; all, every)

สพฺพ” ในที่นี้เป็นคำขยาย “สัตตา” ซึ่งเป็นปุงลิงค์ แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) พหูพจน์ จึงต้องเปลี่ยนรูปตามคำนามที่ตนขยายเป็น “สพฺเพ” (สับ-เพ)

(๑) “สัตตา

เขียนแบบบาลีเป็น “สตฺตา” รูปคำเดิมเป็น “สตฺต” (สัด-ตะ) รากศัพท์มาจาก สญฺช (ธาตุ = ติด, ข้อง) + ปัจจัย, ลบ ญฺช, ซ้อน

: สญฺช > + ตฺ + = สตฺต แปลตามศัพทว่า (1) “ผู้ติดข้องอยู่ในรูปารมณ์เป็นต้น” (2) “ผู้ยังผู้อื่นให้ติดข้อง” (3) “ผู้ประกอบด้วยคุณลักษณะของผู้ติดข้อง

ความหมายข้อ (3) หมายถึงว่าแม้ผู้ปราศจากกิเลสไม่ติดข้องอะไรอีกแล้ว ก็ยังเรียกว่า “สตฺต” ตามสำนวนนิยม

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สตฺต” ว่า a living being, creature, a sentient & rational being, a person (สัตว์โลก, สัตว์, สิ่งที่มีความรู้สึกและมีเหตุผล, คน)

บาลี “สตฺต” สันสกฤตเป็น “สตฺตฺว

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

สตฺตฺว, สตฺว : (คำนาม) ‘สัตว์,’ คุณหนึ่งในจำนวนสามของมนุษย์; คุณวัตตา, คุณความดี; พัสดุ; สฤษฏิ, ธรรมดา; ภูมณฑล; อากาศ, ไฟ, ฯลฯ; พลศักดิ์; ลมหายใจ; ภาวะหรือสมภพ; สาระ; ทรัพย์; ความเที่ยง; ชีวิต; เวตาล; ปราณิน, สัตว์หรือมนุษย์, สิ่งมีร่างและชีวิต; (คำใช้ในไวยากรณ์) นาม; one of the three Guṇas or properties of man; the quality of excellence, goodness; substance or thing; nature; the earth; air, fire, &c.; vigour or strength; breath; being or existence; essence; wealth; certainty; life; a goblin; an animal, a being; (In grammar) a noun.”

คำนี้ในภาษาไทยโดยทั่วไปเราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “สัตว” หรือ “สัตว์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สัตว-, สัตว์ : (คำนาม) สิ่งมีชีวิตซึ่งแตกต่างไปจากพรรณไม้ ส่วนมากมีความรู้สึกและเคลื่อนไหวย้ายที่ไปได้เอง, ความหมายที่ใช้กันเป็นสามัญหมายถึง สัตว์ที่ไม่ใช่คน, เดรัจฉาน. (ส. สตฺตฺว; ป. สตฺต).”

ในที่นี้คงใช้ตามรูปบาลีเป็น “สตฺต” เป็นปุงลิงค์ แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) พหูพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “สตฺตา” (สัด-ตา)

สตฺตา” แปลทับศัพท์ว่า “สัตว์ทั้งหลาย

พึงเข้าใจว่า “สัตว์” ในที่นี้ไม่ได้หมายเอาเฉพาะสัตว์ที่ไม่ใช่คนหรือสัตว์เดรัจฉานอย่างที่มักเข้าใจกันเป็นสามัญ แต่หมายถึงทั้งคนและสัตว์เดรัจฉาน ดังที่พจนานุกรมฯ บอกว่า “สิ่งมีชีวิตซึ่งแตกต่างไปจากพรรณไม้” นั่นแหละคือ “สัตว์ทั้งหลาย” ตามความหมายนี้

สัพเพ สัตตา” เขียนแบบบาลีเป็น “สพฺเพ สตฺตา” แปลธรรมดาๆ ว่า “สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง

ขยายความ :

สัพเพ สัตตา” เป็นคำที่คุ้นปากคนไทย เพราะเป็นคำขึ้นต้นในบทเจริญพรหมวิหารภาวนา คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ที่เรานิยมเจริญกันเป็นกิจประจำวัน และเนื่องจากมี “เมตตา” เป็นบทต้น จึงเรียกกันว่า “แผ่เมตตา” ประกอบกับมักภาวนากันเฉพาะบทเมตตาท่อนเดียว ไม่ได้ภาวนาให้ครบทั้ง 4 บท จึงมักเข้าใจกันว่า “สัพเพ สัตตา” เป็นบท “แผ่เมตตา”

ควรเข้าใจให้ถูกต้องว่า บทเจริญพรหมวิหารภาวนานั้นมีครบทั้ง 4 บท ถ้าเรียกว่า “แผ่เมตตา” ก็ต้องเรียกให้ครบว่า “แผ่กรุณา” “แผ่มุทิตา” “แผ่อุเบกขา” และทุกบทมีคำขึ้นต้นว่า “สัพเพ สัตตา

คำว่า “สัพเพ สัตตา” นี้ เวลาเจริญพรหมวิหารภาวนา ผู้รู้ท่านไม่นิยมแปลเท่าตัวว่า “สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง” แต่ท่านแปลแบบขยายความว่า “สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น

คำว่า “เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกัน” ไม่ใช่คำแปลตรงๆ ของ “สัพเพ สัตตา” แต่เป็นคำขยายความ เพื่อเตือนสติให้ระลึกว่า อันธรรมดา “สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง” นั้นล้วนแต่ “เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกัน” ของเราทั้งสิ้น เรารักสุขเกลียดทุกข์ฉันใด ผู้อื่นสัตว์อื่นก็รักสุขเกลียดทุกข์ฉันนั้น จึงไม่ควรเบียดเบียนกัน ไม่ควรเอาเปรียบกัน ไม่ควรคิดร้ายกัน หากแต่ควรมีไมตรีจิตเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน มองกันในฐานะเป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกัน

การตั้งอารมณ์เช่นนี้สัตว์เดรัจฉานทำไม่ได้เหมือนมนุษย์ (อย่างน้อยก็ตามความเข้าใจจากการสังเกตของมนุษย์เรา) ถ้ามนุษย์ไม่ทำ หรือทำไม่ได้ มนุษย์ก็จะไม่ประเสริฐไปกว่าสัตว์เดรัจฉาน นักคิดจึงกล่าวคำเตือนสติไว้ว่า “ถ้ารักกันไม่ได้ ก็ขอแค่อย่าให้เกลียดกัน

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าจะรักรักกันจนวันตาย

: ถ้าจะหน่ายหน่ายกันแค่วันเดียว

#บาลีวันละคำ (2,859)

10-4-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย