บาลีวันละคำ

เคหสถาน (บาลีวันละคำ 2,876)

เคหสถาน

ไม่ใช่ “เคหะสถาน”

อ่านว่า เค-หะ-สะ-ถาน

ประกอบด้วยคำว่า เคห + สถาน

(๑) “เคห

บาลีมี 2 ศัพท์ที่คล้ายกันคือ “คห” และ “เคห

(ก) “คห” (คะ-หะ) รากศัพท์มาจาก คหฺ (ธาตุ = จับ, ยึด, ถือเอา) + ปัจจัย

: คหฺ + = คห (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ที่เก็บทรัพย์อันคนนำมาแล้ว” (คนหาทรัพย์มาเก็บไว้ที่นั่น จึงเรียกที่นั่นว่า คห = ที่เก็บทรัพย์) หมายถึง บ้าน (a house)

(ข) “เคห” (เค-หะ) รากศัพท์มาจาก คหฺ (ธาตุ = จับ, ยึด, ถือเอา) + ปัจจัย, แปลง ที่ – เป็น เอ (คหฺ > เคห)

: คหฺ + = คห > เคห แปลตามศัพท์ว่า “ที่เก็บทรัพย์อันคนนำมาแล้ว” (คนหาทรัพย์มาเก็บไว้ที่นั่น จึงเรียกที่นั่นว่า เคห = ที่เก็บทรัพย์) หมายถึง ที่อยู่อาศัย, ที่พัก, บ้าน; ครัวเรือน (a dwelling, hut, house; the household)

ในที่นี้ใช้คำว่า “เคห

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เคห-, เคหะ, เคหา : (คำนาม) เรือน, ที่อยู่. (ป., ส. เคห).”

(๒) “สถาน

บาลีเป็น “ฐาน” (ถา-นะ) รากศัพท์มาจาก ฐา (ธาตุ = ตั้งอยู่) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: ฐา + ยุ > อน = ฐาน แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ตั้งแห่งผล

ฐาน” ใช้ในความหมายหลายอย่างตามแต่บริบท เช่น สถานที่, เขตแคว้น, ตำบล, แหล่ง, ที่อาศัย, ฐานะ, การตั้งอยู่, การดำรงอยู่, การหยุดอยู่, การยืน, ที่ตั้ง, ตำแหน่ง, เหตุ, โอกาส (ภาษาอังกฤษอาจใช้ได้หลายคำ เช่น place, region, locality, abode, part, state, condition, standing position, location, ground)

บาลี “ฐาน” สันสกฤตเป็น “สฺถาน

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

สฺถาน : (คำนาม) สถล, ที่, ตำแหน่ง; การอยู่; สมพาท, ความแม้น; อวกาศหรือมัธยสถาน; ที่แจ้งในเมือง, ทุ่ง, ฯลฯ; เรือน, บ้านหรือที่อาศรัย; บริเฉท; บุรี, นคร; สำนักงาร; บท, สถิติ; การหยุด; place, site, situation; staying; resemblance, likeness; leisure or interval; an open place in a town, a plain, &c.; a house, a dwelling; a chapter; a town, a city; an office; degree, station; halt.”

ภาษาไทยใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “สถาน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สถาน ๑ : (คำนาม) ที่ตั้ง เช่น สถานเสาวภา สถานพยาบาล สถานพักฟื้น สถานบริบาลทารก, ถ้าใช้ประกอบคำอื่นหมายถึง ที่, แหล่ง, เช่น โบราณสถาน ศาสนสถาน ฌาปนสถาน ปูชนียสถาน สังเวชนียสถาน; ประการ เช่น มีความผิดหลายสถาน. (ส.; ป. ฐาน).”

เคห + สถาน = เคหสถาน แปลตามศัพท์ว่า “ที่ตั้งแห่งเรือน

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เคหสถาน : (คำนาม) บ้านเรือน; (คำที่ใช้ในกฎหมาย) ที่ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัย เช่น เรือน โรง เรือ หรือแพ ซึ่งคนอยู่อาศัย และหมายความรวมถึงบริเวณของที่ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัยนั้นด้วย จะมีรั้วล้อมหรือไม่ก็ตาม. (ส.).”

อภิปราย :

คำว่า “เคหสถาน” ในภาษาไทยเป็นโรคอาการอย่างเดียวกับคำว่า “เคหภัณฑ์” กล่าวคือมักเขียนผิด

เคหสถาน” มักสะกดเป็น “เคหะสถาน

เคหภัณฑ์” ก็มักสะกดเป็น “เคหะภัณฑ์

เคหะสถาน” “เคหะภัณฑ์” สะกดอย่างนี้-คือมีสระ อะ ที่คำว่า “เคหะ-” โปรดทราบและโปรดช่วยกันจำและช่วยบอกต่อๆ กันไปว่า “สะกดผิด” – อย่าใช้

เคหะสถาน” มีสระ อะ ผิด

เคหสถาน” ไม่ต้องมีสระ อะ ถูก

เคหะภัณฑ์” มีสระ อะ ผิด

เคหภัณฑ์” ไม่ต้องมีสระ อะ ถูก

กฎ: คำที่มาจากบาลีสันสกฤตเมื่อสมาสสนธิกัน ไม่ต้องมีสระ อะ กลางคำ

ภาษาวิชาการว่า “ไม่ต้องประวิสรรชนีย์กลางคำ

…………..

ดูก่อนภราดา!

อันว่ากฎเกณฑ์กติกานั้น –

: ถ้ามักง่าย ก็ทำตามยาก

: ถ้ามักมาก ก็ฝ่าฝืนง่าย

#บาลีวันละคำ (2,876)

27-4-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย