บาลีวันละคำ

อิทํ เม ญาตินํ โหตุ (บาลีวันละคำ 2,903)

อิทํ เม ญาตินํ โหตุ

คำกรวดน้ำย่อ

ความแตกต่างระหว่าง “โหตุ” กับ “โหนฺตุ

เขียนแบบคำอ่านเป็น “อิทัง เม ญาตินัง โหตุ”

ขยายความ :

อิทํ เม ญาตินํ โหตุ” มักเรียกกันว่า “คำกรวดน้ำย่อ” ข้อความมีต่อไปอีกวรรคหนึ่งว่า “สุขิตา โหนฺตุ ญาตโย” (สุขิตา โหนตุ ญาตะโย)

พูดเต็มๆ ว่า

อิทํ เม ญาตินํ โหตุ

สุขิตา โหนฺตุ ญาตโย.”

(อิทัง เม ญาตินัง โหตุ

สุขิตา โหนตุ ญาตะโย)

ในทางรูปประโยค ข้อความนี้ไม่ใช่คำร้อยแก้วธรรมดา แต่เป็น “คาถา” คือเป็นคำกลอน 2 วรรค

แปลยกศัพท์ :

อิทํ (ปุญฺญํ) = อันว่าบุญนี้

โหตุ = จงมี (คือจงถึง)

ญาตินํ = แก่ญาติทั้งหลาย

เม = ของข้าพเจ้า

(ขอบุญนี้จงถึงแก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า)

ญาตโย = อันว่าญาติทั้งหลาย

สุขิตา = เป็นผู้มีความสุข

โหนฺตุ = จงเป็น

(ขอญาติทั้งหลายจงเป็นผู้มีความสุข)

หลักภาษา :

(๑) “โหตุ” เป็นคำกริยา ปฐมบุรุษ ( = ผู้ที่ถูกพูดถึง), เอกพจน์ มาจาก หุ (ธาตุ = มี, เป็น) + ตุ วิภัตติอาขยาต แผลง อุ ที่ หุ เป็น โอ

: หุ > โห + ตุ = โหตุ แปลว่า “(เขา หรือเธอ หรือสิ่งนั้น) จงเป็น

โหตุ” ที่เราคุ้นกันดีก็คือ “ทีฆายุโก  โหตุ  มหาราชา

(๒) “โหนฺตุ” เป็นคำกริยา ปฐมบุรุษ (= ผู้ที่ถูกพูดถึง), พหูพจน์ มาจาก หุ (ธาตุ = มี, เป็น) + อนฺตุ วิภัตติอาขยาต แผลง อุ ที่ หุ เป็น โอ

: หุ > โห + อนฺตุ = โหนฺตุ แปลว่า “(พวกเขา หรือพวกเธอ หรือสิ่งเหล่านั้น) จงเป็น

ข้อแตกต่างที่สำคัญ :

โหตุ” เป็นเอกพจน์ (บาลีเรียก “เอกวจนะ”)

โหนฺตุ” เป็นพหูพจน์ (บาลีเรียก “พหุวจนะ”)

เขียนแบบบาลี :

โหตุ” โห- ไม่มี นฺ

โหนฺตุ” โหนฺ- มี นฺ และมีจุดใต้ นฺ เพื่อบังคับให้ นฺ เป็นตัวสะกด อ่านว่า โหน-ตุ ถ้าไม่มีจุดใต้ = โหนตุ ต้องอ่านว่า โห-นะ-ตุ ซึ่งไม่มีคำเช่นนี้ในบาลี

ใช้ “โหตุ” ในกรณีที่ประธานในประโยคเป็นเอกพจน์ ในที่นี้ประธานคือ “อิทํ (ปุญฺญํ)” เป็นเอกพจน์ (ถ้าพหูพจน์ เป็น “อิมานิ (ปุญฺญานิ)”) กริยาจึงต้องเป็น “โหตุ

ใช้ “โหนฺตุ” ในกรณีที่ประธานในประโยคเป็นพหูพจน์ ในที่นี้ประธานคือ “ญาตโย” (ญาตะโย) เป็นพหูพจน์ (ถ้าเอกพจน์ เป็น “ญาติ” [ยา-ติ]) กริยาจึงต้องเป็น “โหนฺตุ” ไม่ใช่ “โหตุ

โหตุ” (เอกพจน์) หรือ “โหนฺตุ” (พหูพจน์) เป็นกริยาแสดงความบังคับ หรือตั้งใจ ตั้งจิตปรารถนาให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ อย่างเช่นในคำแผ่เมตตาที่เราคุ้นกัน – สพฺเพ สตฺตา อเวรา โหนฺตุ แปลว่า (สพฺเพ สตฺตา) ขอสัตว์ทั้งปวง (อเวรา) เป็นผู้ไม่มีเวร (โหนฺตุ) จงเป็น = ขอสัตว์ทั้งปวงจงเป็นผู้ไม่มีเวรไม่มีภัย

คราวนี้โปรดดูข้อความในภาพประกอบ โดยเฉพาะภาษาบาลีบรรทัดล่าง เขียนว่า

สุขิตา โหตุ ญาตะโย

ญาตะโย” (เขียนแบบบาลี ญาตโย) เป็นพหูพจน์

โหตุ” เป็นเอกพจน์

ข้อความนั้นจึงผิด

เทียบกับภาษาอังกฤษเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น

he is …

they are …

โหนตุ ญาตะโย = they are … (ถูก)

โหตุ ญาตะโย = they is … (ผิด)

แถม :

ตามเกณฑ์การตรวจข้อสอบของกองบาลีสนามหลวง การผิดลักษณะนี้เรียกว่า “ผิดประโยค” เรียกกันว่า “ผิด ป.” จะถูกหักคะแนนแห่งละ 6 คะแนน ซึ่งเป็นการหักที่สูงสุด ถ้าผิดลักษณะนี้ถึง 2 แห่งขึ้นไป โอกาสสอบผ่านเป็น 0

ถ้าเป็นชั้นเปรียญเอก โดยเฉพาะประโยค ป.ธ.9 ผิดอย่างนี้เพียงแห่งเดียว ตกทันที ท่านถือว่า “ไม่สมภูมิ”

เทคนิคการจำแบบพลทหารอ่านหนังสือไม่ออก :

โหตุโหนตุ” ในคำกรวดน้ำย่อ –

คำแรกโมโห = “โห-ตุ”

คำหลังโหนเชือก = “โหน-ตุ”

ย้ำกำลังใจ :

สำหรับท่านที่ไม่ได้เรียนหลักภาษาบาลีมาโดยตรง ก็ต้องใช้วิธีจำเป็นคำๆ ตามที่ได้อธิบายมา ด้วยความหวังว่า เมื่อพูด หรือเขียน หรือไปพบเห็นถ้อยคำนั้นๆ จะได้พูดถูก เขียนถูก และตัดสินได้ว่าคำไหนผิดคำไหนถูก เป็นการช่วยกันรักษาคำบาลีให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ตามกำลังสติปัญญา และอนุโลมเข้าเป็นการรักษาพระศาสนาอีกทางหนึ่ง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: บาลีเป็นภาษารักษาพระพุทธพจน์

: เขียนและพูดให้หมดจดช่วยกันรักษาพระศาสนา

#บาลีวันละคำ (2,903)

24-5-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *