บาลีวันละคำ

บ้านโป่ง (บาลีวันละคำ 2,914)

บ้านโป่ง

มีความหมายว่าอย่างไร

คำว่า “บ้านโป่ง” ในที่นี้เป็นชื่ออำเภอหนึ่งในจังหวัดราชบุรี คำที่มีคนพูดกันทั่วไปและเป็นส่วนหนึ่งในคำขวัญของจังหวัดราชบุรี คือ “คนสวยโพธาราม คนงามบ้านโป่ง” ก็หมายถึงอำเภอ “บ้านโป่ง” ที่กล่าวถึงนี้

คำว่า “บ้าน” เราเข้าใจกันดีแล้ว แต่คำว่า “โป่ง” มีความหมายว่าอย่างไร ผู้เขียนบาลีวันละคำเชื่อว่าคนไทยรุ่นใหม่คงนึกถึงลูกโป่งเป็นอันดับแรก ต่อจากนั้นก็นึกถึงสิ่งที่มีลักษณะโป่งๆ พองๆ

โป่ง” ในคำว่า “บ้านโป่ง” ไม่ได้มีความอย่างที่นึก

เริ่มหาความรู้จากพจนานุกรมเช่นเคย “โป่ง” เป็นคำนาม พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ 3 นัย คือ –

(๑) ลักษณะของสิ่งที่พองด้วยลมหรือแก๊ส เช่น ลูกโป่ง.

(๒) พื้นดินที่มีเกลือสินเธาว์ผุดเกรอะกรังอยู่, ป่าหรือดินที่มีโป่ง เรียกว่า ป่าโป่ง ดินโป่ง, เรียกผีที่เชื่อว่ามีอยู่ในที่เช่นนั้น ว่า ผีโป่ง, เรียกลักษณะที่นั่งบนห้างที่ใช้ไม้ขัดและผูกเป็นแคร่บนต้นไม้หรือบนกอไผ่เพื่อคอยเฝ้าดูหรือยิงสัตว์ที่มากินดินโป่ง ว่า นั่งโป่ง, ป่ง ก็ว่า.

(๓) เรียกพื้นดินที่มีนํ้าผุดพุขึ้นมา ว่า โป่งนํ้า และเรียกนํ้าที่ผุดพุขึ้นมานั้น ว่า นํ้าโป่ง.

โป่ง” ในคำว่า “บ้านโป่ง” มีความหมายตามนัยที่ (๒) คือ พื้นดินที่มีเกลือสินเธาว์ผุดเกรอะกรังอยู่ เรียกกันว่า ดินโป่ง

ดินโป่งมีลักษณะเป็นดินทราย (คนละชนิดกับทรายตามหาดทราย) ร่วนซุย มีรสเค็ม ผิวดินเรียบ ไม่มีหญ้าขึ้นปกคลุมอันเนื่องมาจากความเค็ม บริเวณที่มีดินโป่งอาจเป็นหย่อมๆ หรือเป็นพื้นที่กว้างพอประมาณ สัตว์ป่าจำพวกเคี้ยวเอื้อง เช่น กระทิง เก้ง กวาง จะรู้ว่าย่านไหนมีดินโป่ง และมักไปกินดินโป่ง ไม่ใช่กินเป็นอาหาร แต่กินเหมือนเป็นอาหารเสริมหรือยาบำรุง เนื่องจากร่างกายต้องสารที่เป็นเกลือแร่ สัตว์จำพวกนั้นจึงต้องกินดินโป่งเป็นครั้งคราว

ในคัมภีร์จะมีเรื่องเล่าถึงนักบวชฤๅษีชีไพรไปบำเพ็ญพรตอยู่ในป่า พอถึงระยะเวลาหนึ่งก็จะพากันออกจากป่ามาในเมือง

คัมภีร์ใช้คำว่า “โลณมฺพิลเสวนตฺถาย” (โลณัมพิละเสวะนัตถายะ) นักเรียนแปลกันว่า “เพื่อต้องการเสพรสเค็มรสเปรี้ยว

นี่ก็ด้วยเหตุผลเดียวกัน คือเพื่อมาเติมสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายเนื่องจากอยู่ในป่าอาจกินอาหารไม่ครบตามที่ร่างกายต้องการ

พื้นที่ที่เรียกว่า “บ้านโป่ง” ในจังหวัดราชบุรี เมื่อยังเป็นป่ามีบริเวณที่มีดินโป่งอยู่มาก เมื่อตั้งเป็นชุมชนจึงเรียกกันว่า “บ้านโป่ง” หมายถึงถิ่นที่สมัยเป็นป่ามีดินโป่งมาก

ข้อยืนยันในความหมายดังกล่าวนี้ก็คือ พระสังฆาธิการระดับเจ้าคณะอำเภอของอำเภอบ้านโป่งเคยมีสมณศักดิ์ว่า “พระครูพิทักษ์โลณภูมิ

คำว่า “โลณภูมิ” แปลงไปจากชื่อ “บ้านโป่ง” นั่นเอง

โลณภูมิ” อ่านว่า โล-นะ-พูม ประกอบด้วยคำว่า โลณ + ภูมิ

(๑) “โลณ” (โล-นะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) ลุ (ธาตุ = ตัด) + ยุ ปัจจัย, แผลง อุ ที่ ลุ เป็น โอ (ลุ > โล), แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แล้วแปลง เป็น

: ลุ + ยุ > อน = ลุน > โลน > โลณ แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่ตัดโรค” (2) “สิ่งที่ตัดรสทุกอย่าง” (3) “สิ่งที่ตัดภาวะที่ไม่มีรสทำให้มีรสดี

(2) ลี (ธาตุ = ติดแน่น) + ยุ ปัจจัย, แผลง อี ที่ ลี เป็น โอ (ลี > โล), แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แล้วแปลง เป็น

: ลี + ยุ > อน = ลีน > โลน > โลณ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ติดเป็นรสอยู่ในที่ทุกแห่ง

(3) ลุหฺ (ธาตุ = ติดใจ, อยาก) + ยุ ปัจจัย, แผลง อุ ที่ ลุ-(หฺ) เป็น โอ แล้วลบ หฺ (ลุหฺ > โลห > โล), แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แล้วแปลง เป็น

: ลุหฺ + ยุ > อน = ลุหน > โลหน > โลน > โลณ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันคนติดใจ

(4) เกฺลทฺ (ธาตุ = เอิบอาบ, ซึมซาบ) + ยุ ปัจจัย, แปลง เกฺลทฺ เป็น โล, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แล้วแปลง เป็น

: เกฺลทฺ + ยุ > อน = เกฺลทฺน > โลน > โลณ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ซึมเข้าไปในรสทั้งปวง

โลณ” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) เป็นคำนามหมายถึง เกลือ (salt)

(2) เป็นคุณศัพท์หมายถึง เค็ม, มีรสเค็ม, เป็นด่าง (salty, of salt, alkaline)

(๒) “ภูมิ” บาลีอ่านว่า พู-มิ รากศัพท์มาจาก ภู (ธาตุ = มี, เป็น) + มิ ปัจจัย

: ภู + มิ = ภูมิ แปลตามศัพท์ว่า “สถานที่มีอยู่เป็นอยู่แห่งสัตว์โลก

ภูมิ” (อิตถีลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) พื้นดิน, ดิน, แผ่นดิน (ground, soil, earth)

(2) สถานที่, ถิ่น, แคว้น, แถบ, ภูมิภาค (place, quarter, district, region)

(3) พื้น, พื้นราบ, ขั้นตอน, ระดับ (ground, plane, stage, level)

(4) สถานะของความรู้สึกตัว (state of consciousness)

ในที่นี้ “ภูมิ” ใช้ในความหมายตามข้อ (1)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “ภูมิ” ไว้ 3 คำ คำที่ประสงค์คือ “ภูมิ ๑” บอกความหมายไว้ดังนี้ –

ภูมิ ๑, ภูมิ– : (คำนาม) แผ่นดิน, ที่ดิน.”

โลณ + ภูมิ = โลณภูมิ อ่านแบบบาลีว่า โล-นะ-พู-มิ อ่านแบบไทยว่า โล-นะ-พูม แปลว่า “ดินที่มีความเค็ม” หมายถึง ดินโป่ง (ดูความหมายข้างต้น) แปลงกลับเป็นไทยก็คือ “บ้านโป่ง” นั่นเอง

ข้อคิด :

ถ้าคนรุ่นเราไม่ศึกษาความหมายดั้งเดิมของชื่อบ้านนามเมือง นานไปก็จะไม่เข้าใจว่าชื่อนั้นๆ มีความหมายว่าอย่างไร

อย่างกรณีชื่อ “บ้านโป่ง” นี้ ต่อไปอาจมีผู้แต่งตำนานว่า เดิมชาวบ้านในถิ่นนี้ทำลูกโป่งขาย จึงเรียกกันว่า “บ้านโป่ง” แล้วก็จะมีคนเชื่อว่าจริง

ถึงตอนนั้นแม้ใครจะสืบค้นความหมายดั้งเดิมได้ถูกต้องแล้วบอกว่า “บ้านโป่ง” หมายถึงถิ่นที่มีดินโป่งคือดินเค็ม คนก็จะไม่เชื่อ เพราะไม่เคยรู้จักว่าดินโป่งเป็นอย่างไร หรืออย่างดีก็จะพูดกันว่า – เดิมชาวบ้านในถิ่นนี้ทำลูกโป่งขาย จึงเรียกกันว่า “บ้านโป่ง” แต่บางคนบอกว่า “บ้านโป่ง” หมายถึงถิ่นที่มีดินโป่งคือดินเค็ม …

เรื่องที่ชัดเจนอยู่แล้วเลยกลายเป็นคลุมเครือ ไม่รู้จะเชื่อทางไหนดี

ถ้าไม่ต้องการให้เป็นเช่นว่านี้ มีทางเดียวคือช่วยกันศึกษาเรียนรู้แล้วบอกกล่าวเผยแผ่ให้แพร่หลายสืบไป

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าลืมโคตรเหง้าของตัวเอง

: สักวันเถอะกางเกงก็จะไม่เหลือ

#บาลีวันละคำ (2,914)

4-6-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *