บาลีวันละคำ

(บาลีวันละคำ 2,954)

การ์ดตก

ช่วงเวลาที่โรคโควิด-19 ระบาด มีคนพูดคำว่า “การ์ดตก” “การ์ดอย่าตก” กันทั่วไป

การ์ดตก” “การ์ดอย่าตก” เป็นคำสมัยใหม่ ภาษาบาลีเป็นภาษาโบราณ เมื่อจะเอามาใช้พูดถึงของสมัยใหม่จึงมักมีปัญหาว่า คำอย่างนี้ ของอย่างนี้ เรื่องอย่างนี้ ภาษาบาลีว่าอย่างไร

เริ่มที่คำว่า “การ์ด” สะกดอย่างนี้ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

การ์ด : (ภาษาปาก) (คำนาม) บัตรเชิญในโอกาสต่าง ๆ เช่น การ์ดแต่งงาน การ์ดงานศพ.”

เริ่มก็มีปัญหาแล้ว คือถ้าสะกดเป็น “การ์ด” ก็จะไปตรงกับคำที่ยกมาให้ดู ซึ่งเห็นได้ทันทีว่าเป็นคนละคำกับ “การ์ดตก

การ์ด” ตามความหมายในพจนานุกรมฯ มาจากคำอังกฤษว่า card แต่ “การ์ด” ในคำที่เขียนกันว่า “การ์ดตก” มาจากคำอังกฤษว่า guard

ในระยะยาวคงต้องตกลงกันให้ชัดเจนว่า card และ guard จะสะกดเป็นอักษรไทยอย่างไรจึงจะไม่พ้องกัน แต่ในเวลาเฉพาะหน้านี้ก็ขอใช้ตามนี้ไปก่อน

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล guard เป็นไทยไว้หลายคำ คำแปลที่ตรงกับความหมายในที่นี้มากที่สุด คือ สู้, ปกป้อง, ป้องกันรักษา

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล guard เป็นบาลีดังนี้ –

๑ เป็นคำนาม:

(1) ārakkhā อารกฺขา (อา-รัก-ขา) = การดูแล, การระมัดระวัง

(2) gutti คุตฺติ (คุด-ติ) = การคุมครอง, การป้องกัน

(3) rakkhaka รกฺขก (รัก-ขะ-กะ) = ผู้รักษา, ผู้ระมัดระวัง

(4) pālaka ปาลก (ปา-ละ-กะ) = ผู้ป้องกัน, ผู้คอยดูแล

(5) gopaka โคปก (โค-ปะ-กะ) = คนยาม, ผู้เฝ้ารักษา

(6) anurakkhī อนุรกฺขี (อะ-นุ-รัก-ขี) = ผู้ดูแล, ผู้รักษา

(7) pāletu ปาเลตุ (ปา-เล-ตุ) = ผู้ป้องกัน, ผู้คอยดูแล

๒ เป็นคำกริยา:

(1) rakkhati รกฺขติ (รัก-ขะ-ติ) = ป้องกัน, ปกปักรักษา

(2) gopeti โคเปติ (โค-เป-ติ) = เฝ้าดู, ระวังรักษา

(3) pāleti ปาเลติ (ปา-เล-ติ) = ป้องกัน, ระวังรักษา

(4) tāyati ตายติ (ตา-ยะ-ติ) = ปกป้อง, คุ้มครอง

ขยายความ :

ในเวลานักมวยชกกัน คำว่า “การ์ด” หมายถึงยกมือที่สวมนวมทั้งสองข้างขึ้นเสมอใบหน้าเพื่อป้องกันไม่ให้คู่ต่อสู้ชกถูกส่วนสำคัญ เรียกว่า ตั้งการ์ด หรือยกการ์ด

ถ้าลดมือลงจะด้วยเผลอหรือด้วยเหตุใดๆ ก็ตาม เรียกว่า “การ์ดตก” เป็นการเปิดช่องให้คู่ต่อสู้ชกถูกตัวได้ง่าย

คำว่า “การ์ดตก” เมื่อนำมาใช้เรียกการกระทำอย่างอื่น เช่นการป้องกันระวังโรคโควิด-19 เป็นต้น จึงหมายถึง ไม่ระวังให้ดี ไม่ดูแลป้องกันให้ดี หรือดูแลป้องกันไม่ดีพอ ไม่รัดกุม เป็นช่องให้เกิดเหตุร้ายขึ้นได้

ความหมายดังกล่าวนี้ ถ้าพูดเป็นบาลีตรงๆ ก็อาจทำได้โดยการเติมคำว่า “ทุ-” หรือ “ทุฏฺฐ” ซึ่งแปลว่า ชั่ว, ร้าย, เสียหาย เข้าข้างหน้าคำบาลีที่แปลมาจากคำว่า guard ดังแสดงไว้ข้างต้น เช่น –

ทุ + + อารกฺขา = ทุรารกฺขา แปลว่า “การระวังรักษาที่ไม่ดี”

ทุฏฺฐ + อารกฺขา = ทุฏฺฐารกฺขา แปลว่า “การระวังรักษาที่เสียหาย”

ดังนี้เป็นต้น

แต่คำที่ปรุงขึ้นใหม่เช่นนี้ก็จะเป็นคำบาลีแบบใหม่ อาจไม่มีใช้ในคัมภีร์

ถ้าจะถอดความให้ได้ความหมายตรงตามที่เข้าใจกันและตรงตามสำนวนบาลีจริง คำว่า “การ์ดตก” ก็ตรงกับคำว่า “ปมาท” หรือที่เราคุ้นกันว่า “ประมาท” นั่นเอง

มีพุทธภาษิตบทหนึ่งที่ตรงกับคำว่า “การ์ดตก” อย่างยิ่ง นั่นคือ

ปมาโท รกฺขโต มลํ

(ปะมาโท รักขะโต มะลัง)

แปลว่า “ความประมาทเป็นมลทินของผู้ระวังรักษา

ขอยกคาถาเต็มๆ จากคัมภีร์ธรรมบทอันเป็นที่มาของพุทธภาษิตบทนี้มาเสนอไว้ในที่นี้ คำแปลเป็นไทยและแปลเป็นอังกฤษจากหนังสือ “พุทธวจนะในธรรมบท” โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก

ข้อความเต็มมีดังนี้

…………..

อสชฺฌายมลา มนฺตา

อนุฏฺฐานมลา ฆรา

มลํ วณฺณสฺส โกสชฺชํ

ปมาโท รกฺขโต มลํ.

ความเสื่อมของมนตรา อยู่ที่การไม่ทบทวน

ความเสื่อมของเรือน อยู่ที่ไม่ซ่อมแซม

ความเสื่อมของความงาม อยู่ที่เกียจคร้านตบแต่ง

ความเสื่อมของนายยาม อยู่ที่ความเผลอ

Non-recitation is the bane of scriptures.

Non-repair is the bane of houses.

Sloth is the bane of beauty.

Negligence is the bane of a watcher.

ที่มาคาถา: มลวรรค ธรรมบท พระไตรปิฎกเล่ม 25 ข้อ 28

…………..

ดูก่อนภราดา!

: การ์ดตกก็ยกจิต

อย่าตกติดตามลงไป

: เสียใจเถอะเสียใจ

แต่อย่าให้ใจเสียตาม

#บาลีวันละคำ (2,954)

14-7-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *