บาลีวันละคำ

อิทํ เม ญาตินํ โหตุ [2] (บาลีวันละคำ 2,997)

อิทํ เม ญาตินํ โหตุ [2]

คำกรวดน้ำย่อ

ความรู้เกี่ยวกับคำว่า “ญาตินํ

เขียนแบบคำอ่านเป็น “อิทัง เม ญาตินัง โหตุ”

ขยายความ :

อิทํ เม ญาตินํ โหตุ” มักเรียกกันว่า “คำกรวดน้ำย่อ” ข้อความมีต่อไปอีกวรรคหนึ่งว่า “สุขิตา โหนฺตุ ญาตโย” (สุขิตา โหนตุ ญาตะโย)

พูดเต็มๆ ว่า –

อิทํ เม ญาตินํ โหตุ

สุขิตา โหนฺตุ ญาตโย.”

เขียนแบบคำอ่านว่า –

อิทัง เม ญาตินัง โหตุ

สุขิตา โหนตุ ญาตะโย.

ในทางรูปประโยค ข้อความนี้ไม่ใช่คำร้อยแก้วธรรมดา แต่เป็น “คาถา” คือเป็นคำกลอน 2 วรรค

แปลยกศัพท์ :

อิทํ (ปุญฺญํ) = อันว่าบุญนี้

โหตุ = จงมี (คือจงถึง)

ญาตินํ = แก่ญาติทั้งหลาย

เม = ของข้าพเจ้า

(ขอบุญนี้จงถึงแก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า)

ญาตโย = อันว่าญาติทั้งหลาย

สุขิตา = เป็นผู้มีความสุข

โหนฺตุ = จงเป็น

(ขอญาติทั้งหลายจงเป็นผู้มีความสุข)

หลักภาษา คำว่า “ญาตินํ:

ญาตินํ” เขียนแบบคำอ่านเป็น “ญาตินัง” อ่านว่า ยา-ติ-นัง (ไม่ใช่ ยาด-นัง) รูปคำเดิมเป็น “ญาติ” ภาษาบาลีอ่านว่า ยา-ติ ไม่ใช่ ยาด หรือ ยาด-ติ อย่างที่ออกเสียงในภาษาไทย

ดังที่ทราบกันเป็นหลักพื้นฐานว่า “บาลีเป็นภาษาที่มีวิภัตติปัจจัย” บรรดาคำนามเมื่อจะนำไปพูดหรือเขียนเป็นประโยคให้ได้เรื่องราวตามประสงค์ ต้องประกอบวิภัตติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด คือจะใช้ในหน้าที่หรือความหมายอย่างไร ก็ต้องประกอบวิภัตติให้ตรงตามความหมายนั้นๆ ก่อนจึงจะนำไปใช้ได้

ตัวอย่างเช่นคำว่า “ปุริส” (ปุ-ริ-สะ) แปลว่า บุรุษ หรือผู้ชาย

ถ้าใช้เป็นประธาน บุรุษคนเดียวปุริส” เปลี่ยนรูปเป็น “ปุริโส

ใช้เป็นประธาน บุรุษหลายคนปุริส” เปลี่ยนรูปเป็น “ปุริสา

การที่ “ปุริส” เปลี่ยนรูปเป็น “ปุริโส” หรือ “ปุริสา” นี่แหละ คือที่เรียกว่า “ประกอบวิภัตติ” หรือที่เรียกรู้กันในหมู่นักเรียนบาลีว่า “แบบแจก

ปุริส” อาจเปลี่ยนรูปเป็นอะไรอีกหลายรูป แล้วแต่ว่าจะใช้ในหน้าที่หรือความหมายอย่างไร

วิภัตติสำหรับเปลี่ยนรูปคำนามมีทั้งหมด 7 วิภัตติ (คือ ปฐมาวิภัตติ จนถึง อาลปนะดูภาพประกอบที่ 1) แต่ละวิภัตติมีหน้าที่และความหมายแตกต่างกันออกไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในบาลีไวยากรณ์ (ซึ่งเป็นหน้าที่ของนักเรียนบาลีที่จะต้องกำหนดจดจำให้แม่นยำ ด้วยวิธีที่เรียกรู้กันในหมู่นักเรียนบาลีว่า “ท่องหลัก”)

ญาติ” เป็นคำนามชนิดหนึ่ง เมื่อจะนำไปใช้ก็จึงต้อง “ประกอบวิภัตติ” หรือเอาไปเข้า “แบบแจก” และจะเปลี่ยนรูปไปตามหน้าที่หรือความหมายตามที่ต้องการ

ในที่นี้ คำกรวดน้ำหรือคำอุทิศส่วนบุญข้างต้นนั้น ต้องการจะพูดว่า “ขอบุญนี้จงถึงแก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า” นั่นคือคำว่า “ญาติ” จะต้องแปลว่า “แก่ญาติทั้งหลาย

ตามหน้าที่และความหมายเช่นนี้ “ญาติ” เมื่อประกอบวิภัตติแล้วจะเปลี่ยนรูปเป็น “ญาตีนํ” (อ่านว่า ยา-ตี-นัง โปรดดูภาพประกอบว่า “ญาตีนํ” มีอยู่ที่วิภัตติไหนและตำแหน่งไหนบ้าง) จึงจะแปลว่า “แก่ญาติทั้งหลาย” ได้ตามประสงค์ (ถ้ายังคงเป็น “ญาติ” อยู่ จะแปลว่า “แก่ญาติทั้งหลาย” ไม่ได้)

จะรู้ได้ว่าวิภัตติตัวไหนทำหน้าที่อะไรและมีความหมายอย่างไร เป็นเรื่องที่มีรายละเอียดยืดยาวมาก ไม่อาจนำมาอธิบายในที่นี้ได้ ผู้ปรารถนาจะทราบสามารถหาหนทางศึกษาดูได้ในที่อื่นๆ

อนึ่ง มีหลักเป็นเรื่องแทรกที่ควรทราบอยู่ในที่นี้นิดหนึ่ง นั่นก็คือ เนื่องจากข้อความในคำกรวดน้ำที่ยกมานั้นเป็น “คาถา” คือคำกลอนในภาษาบาลี หลักที่เป็นหัวใจของ “คาถา” คือจำกัดด้วยคำครุ-ลหุ

คำว่า “ญาตีนํ” นั้น พยางค์ –ตี– เป็นคำ “ครุ” หรือสระเสียงยาว ไปอยู่ในตำแหน่งของคำที่ต้องเป็น “ลหุ” คือคำเสียงเบาหรือสระเสียงสั้น ท่านจึงใช้กติกาที่เรียกว่า “ฉันทานุรักษ์” คือสิทธิในการเปลี่ยนแปลงรูปคำเพื่อให้ได้คำครุ-ลหุตามที่ต้องการ โดยวิธีรัสสะ อี เป็น อิ

ญาตีนํ” (ญาตีนัง) จึงเปลี่ยนรูปเป็น “ญาตินํ” (ญาตินัง)

เป็นอันว่า บัดนี้เรารู้หลักพื้นฐานคร่าวๆ น่าจะพอเข้าใจเรื่องที่เป็นประเด็นปัญหาในที่นี้ดังที่จะกล่าวต่อไปนี้ได้แล้วพอสมควร

โปรดดูภาพประกอบที่ 2

ข้อความในภาพประกอบเป็นภาษาบาลี เขียนว่า –

……………………….

อิทัง เม ญาติ นัง โหตุ

สุขิตา โหนตุ ญาตะโย

……………………….

แล้วโปรดดูเทียบกับข้อความเดียวกันที่เขียนไว้ข้างต้น –

……………………….

อิทํ เม ญาตินํ โหตุ

สุขิตา โหนฺตุ ญาตโย.”

เขียนแบบคำอ่านว่า –

อิทัง เม ญาตินัง โหตุ

สุขิตา โหนตุ ญาตะโย.

……………………….

จะเห็นได้ว่า คำว่า “ญาตินัง” ในภาพประกอบนั้นเขียนผิด คือไปเขียนแยกเป็น “ญาติ  นัง

โปรดทราบหลักสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือภาษาบาลีนั้นคำแต่คำเป็นอิสระในตัวเอง เวลาเขียนจึงแยกเป็นคำๆ ไม่ได้เขียนติดกันเป็นพืดเหมือนภาษาไทย

ญาตินัง” เป็นคำเดียวกัน ไม่ใช่ “ญาติ” คำหนึ่ง “นัง” อีกคำหนึ่ง

การไปเขียนแยกคำเช่นนั้นจึงนับว่าเป็นการผิดหลักพื้นฐานของภาษาบาลี ทำให้ข้อความนั้นวิปริตผิดความหมาย

ความผิดพลาดเช่นนี้ แม้จะเพียงคำเดียว ซึ่งอาจมองว่าเป็นเรื่อง “จิ๊บจ๊อย” เต็มที ไม่เห็นจะต้องเอาพูดให้เป็นเรื่องใหญ่โต แต่เมื่อเป็นการผิดในระดับหลักพื้นฐาน จะบอกว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยไม่ได้

อย่างเรื่องที่เล่ากันว่า มีผู้เขียนภาษาบาลีประโยคหนึ่ง แต่เขียนติดกันเป็นพืด ข้อความว่า –

พฺยคฺโฆโภชนํภุญฺชติ.

(พ๎ยัคโฆโภชะนังภุญชะติ)

นักแปลคนหนึ่ง แยกคำเป็น พฺยคฺโฆ / โภชนํ / ภุญฺชติ. แล้วแปลว่า พฺยคฺโฆ อันว่าเสือ ภุญฺชติ ย่อมกิน โภชนํ ซึ่งอาหาร

สรุปว่า “เสือกินข้าว”

นักแปลอีกคนหนึ่ง แยกคำเป็น พฺยคฺโฆ / โภ / ชนํ / ภุญฺชติ. แล้วแปลว่า โภ ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พฺยคฺโฆ อันว่าเสือ ภุญฺชติ ย่อมกิน ชนํ ซึ่งคน

สรุปว่า “เจ้าข้าเอ้ย! เสือกินคน”

จะเห็นได้ว่า แยกคำพลาด ความหมายก็เพี้ยน

แยกคำผิดพลาดจึงไม่ใช่เรื่องเล็ก

จุดที่เราพลาดกันมากเวลานี้ก็คือ เห็นใครเขียนอะไรผิดพลาด ก็มองกันว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ซ้ำยังมีค่านิยม-ไม่นิยมทักท้วงเรื่องที่มีผู้ทำผิด ถือกันว่าเป็นการเสียมารยาท จึงพากันปล่อยให้เรื่องผิดๆ คงอยู่อย่างนั้น

คนภายหลังมาเห็นเข้าก็เข้าใจว่าถูก (เพราะไม่เห็นมีใครทักท้วง) แล้วก็เอาไปพูดต่อ เขียนต่อ ทำต่อ คำผิดเรื่องผิดก็เลยกระจายแพร่หลายไปทั่วดังที่เห็นกันอยู่ในเวลานี้

คำบาลีที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน เช่นคาถาอาคมคำขลังคำศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายเป็นต้น ที่ผิดพลาดจนไม่รู้ว่าเป็นคำอะไรก็ยังอุตส่าห์ท่องกันมาจำกันมา ก็เกิดมาจากเหตุนี้-คือผิดแล้วไม่มีใครทักท้วง

คำร้องขอ :

สำหรับท่านที่มีศรัทธาชอบเผยแพร่คำและภาพที่มีภาษาบาลีอยู่ด้วย ขอร้องว่า โปรดอย่าเห็นแก่ความสะดวก ขอได้โปรดเห็นแก่ความถูกต้อง โปรดตรวจสอบเทียบทานคำบาลีให้แน่ใจเสียก่อนว่าไม่ผิดพลาด กรุณาอย่าอ้างว่า-เขาเขียนมาอย่างนั้น ฉันก็ลอกมาอย่างนี้ ถ้าไม่แน่ใจกรุณาศึกษาสอบถามกันก่อน เวลานี้นักเรียนบาลีและแหล่งเรียนรู้บาลีในบ้านเรามีอยู่ทั่วไป อย่าบอกว่าไม่รู้จะไปถามใคร

ย้ำกำลังใจ :

สำหรับท่านที่ไม่ได้เรียนหลักภาษาบาลีมาโดยตรง ก็ต้องใช้วิธีจำไว้เป็นคำๆ ตามที่ได้อธิบายมา ด้วยความหวังว่า เมื่อพูด หรือเขียน หรือไปพบเห็นถ้อยคำนั้นๆ จะได้พูดถูก เขียนถูก และตัดสินได้ว่าคำไหนผิดคำไหนถูก เป็นการช่วยกันรักษาคำบาลีให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ตามกำลังสติปัญญา และอนุโลมเข้าเป็นการรักษาพระศาสนาอีกทางหนึ่งด้วย

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าเห็นการทักท้วงเป็นเรื่องเลว

: ก็ปล่อยให้เดินตกเหวไปก็แล้วกัน

#บาลีวันละคำ (2,997)

26-8-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *