บาลีวันละคำ

ฎีกา (บาลีวันละคำ 3,026)

ฎีกา

อ่านว่า ดี-กา (ฎี- ฎ ชฎา)

บาลีเป็น “ฏีกา” อ่านว่า ตี-กา (ฏี– ฏ ปฏัก) รากศัพท์มาจาก ฏิกฺ (ธาตุ = รู้, บรรลุ) + (อะ) ปัจจัย, ทีฆะ อิ ที่ ฏิ-(กฺ) เป็น อี (ฏิกฺ > ฏีก) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: ฏิกฺ + = ฏิก > ฏีก + อา = ฏีกา แปลตามศัพท์ว่า “ถ้อยคำเป็นเครื่องรู้ข้อความ

ความหมายเดิมในภาษาบาลี “ฏีกา” หมายถึง คัมภีร์ที่อธิบายความในคัมภีร์ชั้นอรรถกถา (a sub-commentary)

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “อรรถกถา” ได้กล่าวถึงคัมภีร์พระพุทธศาสนาที่เรียกว่า “ฎีกา” (ฏีกา) ไว้ดังนี้ –

…………..

ต่อจากอรรถกถา ยังมีคัมภีร์ที่อธิบายรุ่นต่อมาอีกหลายชั้นเป็นอันมาก เริ่มแต่ “ฎีกา” (ฏีกา) แจงไขขยายความต่อจากอรรถกถา “อนุฎีกา” แจงไขขยายความต่อจากฎีกา แต่ในที่นี้จะไม่กล่าวถึง เว้นแต่จะขอบอกนามท่านผู้แต่ง “ฎีกา” ที่สำคัญ พอให้ทราบไว้

พระอาจารย์ธรรมปาละ ซึ่งเป็นพระอรรถกถาจารย์สำคัญที่เรียบเรียงอรรถกถาไว้มาก รองจากพระพุทธโฆส ได้เรียบเรียงฎีกาสำคัญ ซึ่งอธิบายอรรถกถาที่พระพุทธโฆสได้เรียบเรียงไว้อีกด้วย คือ ลีนัตถปกาสินี (เป็นฎีกาซึ่งอธิบายอรรถกถาแห่งนิกายทั้งสี่ คือ ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย และอังคุตตรนิกาย และอธิบายอรรถกถาแห่งชาดก) นอกจากนั้นก็ยังได้เรียบเรียงปรมัตถทีปนี (ฎีกาอธิบายอรรถกถาแห่งพุทธวงส์ ที่พระพุทธทัตตะเรียบเรียงไว้) และปรมัตถมัญชุสา (ฎีกาแห่งวิสุทธิมัคค์ ที่เรียกกันว่ามหาฎีกา),

ฎีกาจารย์ท่านหนึ่ง ชื่อพระวาจิสสระ รจนา ลีนัตถทีปนี (ฎีกาอันอธิบายต่อจากอรรถกถาแห่งปฏิสัมภิทามัคค์);

นอกจากนี้ มีฎีกาอีก ๒ เรื่อง ที่ควรกล่าวไว้ด้วย เพราะกำหนดให้ใช้เล่าเรียนในหลักสูตรพระปริยัติธรรมแผนกบาลีของคณะสงฆ์ไทย คือ สารัตถทีปนี (ฎีกาแห่งวินยัฏฐกถา) ผู้แต่งคือพระอาจารย์ชื่อสารีบุตร (ไม่ใช่พระสารีบุตรอัครสาวก) และ อภิธัมมัตถวิภาวินี (ฎีกาแห่งอภิธัมมัตถสังคหะ) ผู้แต่งคือพระสุมังคละ.

…………..

บาลี “ฏีกา” ( ปฏัก) ภาษาไทยใช้เป็น “ฎีกา” ( ชฎา) และใช้ในความหมายอื่นๆ อีกหลายอย่าง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำว่า “ฎีกา” ในภาษาไทยไว้ดังนี้ –

(๑) (คำนาม) : คำอธิบายขยายความ เช่น ฎีกาพาหุง (ป. ฏีกา).

(๒) (คำนาม) : ชื่อคัมภีร์หนังสือที่แก้หรืออธิบายคัมภีร์อรรถกถา (ป. ฏีกา).

(๓) (คำนาม) : หนังสือที่เขียนนิมนต์พระสงฆ์ (ป. ฏีกา).

(๔) (คำนาม) : ใบแจ้งการขอเบิกเงินจากคลัง (ป. ฏีกา).

(๕) (คำนาม) : ใบบอกบุญเรี่ยไร (ป. ฏีกา).

(๖) (คำที่ใช้ในกฎหมาย) (คำนาม) : คำร้องทุกข์ที่ราษฎรทูลเกล้าฯ ถวายต่อพระมหากษัตริย์ (ป. ฏีกา).

(๗) (คำนาม) : ชื่อศาลยุติธรรมสูงสุดของประเทศไทย ซึ่งเรียกว่า ศาลฎีกา (ป. ฏีกา).

(๘) (คำนาม) : การคัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ เพื่อเสนอให้ศาลฎีกาพิจารณาพิพากษาหรือวินิจฉัยชี้ขาด (ป. ฏีกา).

(๙) (คำโบราณ) (คำนาม) : ใบเรียกเก็บเงิน. (ป. ฏีกา).

(๑๐) (ภาษาปาก) (คำกริยา) : ยื่นคำร้องขอหรือคำคัดค้านต่อศาลฎีกา เช่น คดีนี้จะฎีกาหรือไม่. (ป. ฏีกา).

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ทำชั่ว ศาลฎีกาอาจตัดสินว่าไม่ผิด

: แต่นรกไม่อนุญาตให้ใช้สิทธิ์อ้างคำตัดสินของศาลฎีกา

#บาลีวันละคำ (3,026)

24-9-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย