บาลีวันละคำ

อาณัติสัญญาณ (บาลีวันละคำ 3,061)

อาณัติสัญญาณ

สำคัญที่ใครจะเป็นคนสั่งใคร

อ่านว่า อา-นัด-สัน-ยาน

ประกอบด้วยคำว่า อาณัติ + สัญญาณ

(๑) “อาณัติ

บาลีเป็น “อาณตฺติ” อ่านว่า อา-นัด-ติ รากศัพท์มาจาก อาณฺ (ธาตุ = ส่งไป) ติ ปัจจัย, แปลง ติ เป็น ตฺติ

: อาณ + ติ = อาณติ > อาณตฺติ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องส่งไป” (คือส่งอำนาจที่มีอยู่เหนือสิ่งนั้นๆ ไปบังคับ)

อาณตฺติ” หมายถึง อาณัติ, บัญญัติ, กฎ, คำสั่งหรือคำสั่งห้าม, คำบงการ (order, command, ordinance, injunction)

อาณตฺติ” มีรากศัพท์อย่างเดียวกับ “อาณา

อาณา” สันสกฤตเป็น “อาชฺญา

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

อาชฺญา : (คำนาม) คำสั่ง, บัญชา; an order, a command.”

อาณตฺติ” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่งตามหลักนิยม ใช้เป็น “อาณัติ” (อา-นัด)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อาณัติ : (คำนาม) ข้อบังคับ, คําสั่ง, กฎ, เครื่องหมาย; การมอบหมายให้ดูแลปกครอง เช่น อาณาเขตในอาณัติ ดินแดนในอาณัติ. (ป. อาณตฺติ).”

(๒) “สัญญาณ

เขียนแบบบาลีเป็น “สญฺญาณ” อ่านว่า สัน-ยา-นะ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + ญา (ธาตุ = รู้) + ยุ ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น ญฺ (สํ > สญฺ), แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง เป็น

: สํ + ญา = สํญา + ยุ > อน = สํญาน > สญฺญาน > สญฺญาณ แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องช่วยให้รู้พร้อมกัน” “สิ่งที่เป็นเหตุให้รู้พร้อมกัน” “รู้สิ่งที่พึงรู้พร้อมกัน

สญฺญาณ” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) สัญชาน, ความรู้ (perception, knowledge)

(2 เครื่องแสดง, เครื่องหมาย (token, mark) 244

(3) สิ่งที่ทำขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึก (monument)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สัญญาณ : (คำนาม) เครื่องหมายหรือเครื่องแสดงไว้ให้เห็นหรือให้ได้ยินเป็นต้นแม้อยู่ในระยะไกล เพื่อให้รู้ล่วงหน้าจะได้ระวังอันตรายหรือกระทําตามที่บอกหรือแนะไว้ เช่น สัญญาณไฟจราจร สัญญาณธง ตีระฆังเป็นสัญญาณให้พระลงโบสถ์.”

อาณัติ + สัญญาณ = อาณัติสัญญาณ แปลว่า “เครื่องแสดงให้รู้ถึงคำสั่ง”

ความหมายในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อาณัติสัญญาณ : (คำนาม) เครื่องหมายตามที่กําหนดรู้กันโดยอาศัยรูปหรือเสียงเป็นต้น.”

อภิปราย :

อาณัติ” ในความหมายเดิมหมายถึง อำนาจที่คนหนึ่งหรือฝ่ายหนึ่งมีอยู่เหนืออีกคนหนึ่งหรืออีกฝ่ายหนึ่งในอันที่จะสั่งบังคับให้ทำสิ่งใดๆ หรือไม่ให้ทำสิ่งใดๆ ตามที่ผู้ที่มีอำนาจต้องการ

อำนาจสั่งบังคับที่ว่านี้อาจเป็นไปโดยชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรมก็ได้ อาจเป็นระหว่างประเทศต่อประเทศ หรือบุคคลต่อบุคคลก็ได้ เช่นคำที่พูดกันว่า คนนี้เป็นคนในอาณัติของใคร คือใครมีอำนาจเหนือเขา หรือเขาต้องทำตามคำสั่งของใคร

แต่ “อาณัติ” หรืออำนาจสั่งบังคับที่ได้รับการยอมรับเป็นสากลก็คืออำนาจสั่งบังคับตามกฎหมายของบ้านเมือง ซึ่งถือกันว่าเป็นแหล่งอำนวยความเป็นธรรม ที่เรียกกันว่า ความยุติธรรม

จะเห็นได้ว่า “อาณัติ” เช่นกฎหมายของบ้านเมืองเป็นต้นนั้น เป้าหมายสูงสุดอยู่ที่ต้องสามารถอำนวยความยุติธรรมได้อย่างแท้จริง

แต่ในความเป็นจริง หลายๆ กรณี ผู้มีอำนาจใช้ “อาณัติ” ก็ไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมได้ตรงตามหน้าที่ เพราะได้รับ “สัญญาณ” นอกระบบให้ปฏิบัติการเบี่ยงเบนไป แทบทุกกรณีมักเป็นสัญญาณที่ยากแก่การปฏิเสธ และหลายกรณีตัวผู้มีอำนาจใช้ “อาณัติ” นั่นเองก็เต็มใจที่ปฏิบัติตาม “สัญญาณ” แต่โดยดี เนื่องเพราะเหตุจูงใจนานัปการ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ปฏิบัติการสะท้านพิภพ

: มักจะถูกสยบด้วยเสียงกระซิบสั่งเบาๆ

#บาลีวันละคำ (3,061)

29-10-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย