บาลีวันละคำ

สังคีต – สังคีติ (บาลีวันละคำ 3,062)

สังคีตสังคีติ

ความงามที่เกิดจากความพร้อมเพรียง

อ่านว่า สัง-คีด สัง-คี-ติ

(๑) “สังคีต

เขียนแบบบาลีเป็น “สงฺคีต” อ่านว่า สัง-คี-ตะ รากศัพท์มาจาก –

(1) สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + เค (ธาตุ = ส่งเสียง) + อิ อาคม + ปัจจัย, ลบ เอ ที่ เค (เค > ), ทีฆะ อิ อาคมเป็น อี, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น งฺ (สํ > สงฺ)

: สํ + เค = สํเค > สํค + อิ = สํคิ + = สํคิต > สํคีต > สงฺคีต แปลตามศัพท์ว่า “เสียงที่พึงร้องออกมา

(2) สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + คา (ธาตุ= ส่งเสียง) + อิ อาคม + ปัจจัย, ลบ อา ที่ คา (คา > ), ทีฆะ อิ อาคมเป็น อี, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น งฺ (สํ > สงฺ)

: สํ + คา = สํคา > สํค + อิ = สํคิ + = สํคิต > สํคีต > สงฺคีต แปลตามศัพท์ว่า “เสียงอันนักร้องเปล่งออกมา

สงฺคีต” เป็นคำกริยา หมายถึง ร้องเพลง; เปล่ง, ป่าวประกาศ, สังคายนา (sung; uttered, proclaimed, established as the text)

ถ้าใช้เป็นคำนาม (นปุงสกลิงค์) หมายถึง เพลงขับ, การสวด, การร้องรับพร้อม ๆ กัน (a song, chant, chorus)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สังคีต : (คำนาม) การร้องรําทําเพลง เช่น สังคีตศิลป์. (ป.; ส. สํคีต).”

(๒) “สังคีติ

เขียนแบบบาลีเป็น “สงฺคีติ” อ่านว่า สัง-คี-ติ รากศัพท์มาจาก –

(1) สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + เค (ธาตุ = ส่งเสียง) + อิ อาคม + ติ ปัจจัย, ลบ เอ ที่ เค (เค > ), ทีฆะ อิ อาคมเป็น อี, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น งฺ (สํ > สงฺ)

: สํ + เค = สํเค > สํค + อิ = สํคิ + ติ = สํคิติ > สํคีติ > สงฺคีติ แปลตามศัพท์ว่า “การเปล่งเสียงพร้อมกัน

(2) สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + คา (ธาตุ= ส่งเสียง) + อิ อาคม + ติ ปัจจัย, ลบ อา ที่ คา (คา > ), ทีฆะ อิ อาคมเป็น อี, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น งฺ (สํ > สงฺ)

: สํ + คา = สํคา > สํค + อิ = สํคิ + ติ = สํคิติ > สํคีติ > สงฺคีติ แปลตามศัพท์ว่า “เสียงที่เปล่งออกมาพร้อมกัน

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สงฺคีติ” (อิตถีลิงค์) ไว้ดังนี้ –

(1) a song, chorus, music (เพลงขับ, การร้องพร้อม ๆ กัน, ดนตรี)

(2) proclamation, rehearsal, general convocation of the Buddhist clergy in order to settle questions of doctrine and to fix the text of the Scriptures. (การป่าวประกาศ, การสังคายนา, การประชุมสงฆ์เพื่อชำระพระไตรปิฎก)

(3) text rehearsed, recension (พระคัมภีร์ที่ชำระแล้ว, การสังคายนา)

(4) text, formula (คัมภีร์, สูตร)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สังคีติ : (คำนาม) สังคายนา, การสวดพร้อมกันและเป็นแบบเดียวกัน, การประชุมชําระพระไตรปิฎกให้เป็นแบบเดียวกัน. (ป.).”

ที่คำว่า “สังคายนา” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สังคายนา, สังคายนาย : (คำนาม) การซักซ้อม, การสวดพร้อมกันและเป็นแบบเดียวกัน, การประชุมชําระพระไตรปิฎกให้เป็นแบบเดียวกัน. (ปาก) ก. สะสาง เช่น เรื่องนี้ต้องสังคายนากันเสียที. (ป. สงฺคายน).”

อภิปราย :

สงฺคีต” กับ “สงฺคีติ” ในบาลี มีรากศัพท์เดียวกัน ความหมายก็ใกล้เคียงกัน หรือบางทีก็ใช้เป็นคำนามมีความหมายเดียวกัน

สังคีตสังคีติ” หมายถึง การขับขานขึ้นพร้อมกัน อาจเป็นการร้องเพลงหมู่ หรือขับร้องหมู่ หรือแม้แต่การสวดมนต์ เช่นพระสงฆ์สวดมนต์พร้อมกัน สาธยายธรรมพร้อมกัน ก็อยู่ในความหมายของ “สังคีตสังคีติ” ทั้งสิ้น

ที่เรียกการประชุมชําระพระไตรปิฎกให้เป็นแบบเดียวกันว่า “สังคายนา” หรือ “สังคีติ” ก็เพราะเมื่อที่ประชุมสงฆ์ตรวจสอบซักถามพระธรรมวินัยข้อใดได้ความถูกต้องถ่องแท้แล้ว ก็จะสวดสาธยายธรรมวินัยข้อนั้นขึ้นพร้อมกัน การสวดพร้อมกันเป็นการรับประกันว่าธรรมวินัยข้อนั้นๆ ถูกต้องตรงกันอย่างแน่นอน ดังนี้จึงเรียกการประชุมชําระพระไตรปิฎกให้เป็นแบบเดียวกันว่า “สังคีติ” หรือ“สังคายนา”

ในภาษาไทย เรารู้จัก “สังคีต” มากกว่า เช่น “สังคีตศิลป์” ตามที่พจนานุกรมฯ ยกตัวอย่าง นอกจากนี้ยังมี “สังคีตศาลา” ของกรมศิลปากรที่นักนิยมเพลงรู้จักกันดีมายาวนาน

แต่พูดว่า “สังคีติ” แทบไม่มีใครรู้จักว่าคืออะไร

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ร้องพร้อมเพรียงทำให้เพลงพริ้งเพราะ

: ศีลเสมอเหมาะทำให้สงฆ์สงบงาม

#บาลีวันละคำ (3,062)

30-10-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย