บาลีวันละคำ

อมรินทราเมศร์ (บาลีวันละคำ 3,086)

อมรินทราเมศร์

แยกศัพท์อย่างไร

ที่วัดอมรินทราราม อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่ในวิหาร มีนามเรียกขานกันว่า “หลวงพ่ออมรินทราเมศร์

อมรินทราเมศร์” อ่านว่า อะ-มะ-ริน-ทฺรา-เมด อ่านผ่านๆ ก็ไม่มีปัญหา ความหมายก็พอเดาได้ว่า หมายถึง พระพุทธรูปองค์สำคัญประจำวัดอมรินทร์

แต่พอลองแยกศัพท์ดู กลับน่าสงสัยว่า “อมรินทราเมศร์” จะแยกศัพท์อย่างไรจึงจะมีความหมายว่า “พระพุทธรูปองค์สำคัญประจำวัดอมรินทร์

อมรินทร-” คำนี้ไม่มีปัญหา หมายถึง วัดอมรินทร์

วัดอมรินทร์” อ่านว่า วัด-อะ-มะ-ริน ชื่อสามัญที่ชาวบ้านเรียกรู้กันคือ วัดตาล

อมรินทร-” แยกเป็น อมร + อินทร

อมร” มาจาก ( = ไม่, ไม่ใช่) + มร ( = ความตาย) แปลง เป็น = อมร แปลตามศัพท์ว่า “ไม่ตาย

ในภาษาบาลี “อมร” ถ้าเป็นคำนาม หมายถึง เทวดา ถ้าเป็นคำคุณศัพท์ มีความหมายว่า ไม่ตาย, ไม่เสื่อมสูญ, ยั่งยืน, คงที่, เที่ยงแท้

อินทร” ตรงกับบาลีว่า “อินฺท” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้กระทำความเป็นใหญ่ยิ่ง” “ผู้ประกอบด้วยความยิ่งใหญ่” หมายถึง ผู้เป็นเจ้า, ผู้เป็นใหญ่, ผู้ยิ่งใหญ่, ผู้เป็นหัวหน้า, จอม, เจ้า, พระราชา

อมร + อินทร = อมรินทร แปลว่า “จอมแห่งเทวดา” หมายถึง พระอินทร์

เมื่อแยก “อมรินทร-” ออกไปแล้ว ส่วนที่เหลือก็จะเป็น “-อาเมศร์” นั่นคือ : อมรินทร + อาเมศร์ = อมรินทราเมศร์

อาเมศร์” คือคำอะไร? ตามรูปศัพท์ก็จะต้องเป็น อาม + เอศร์

เอศร์” ก็คือ “อิศร” ตรงกับบาลีว่า “อิสฺสร” (อิด-สะ-ระ) แปลว่า “ผู้เป็นใหญ่” ไม่มีปัญหา แต่มีปัญหาว่า “อาม” แปลว่าอะไร

ตามรูปศัพท์ ถ้าเป็นคำบาลี “อาม” (อ่านว่า อา-มะ) เป็นคำตอบรับ แปลว่า ใช่, ใช่แล้ว, เป็นเช่นนั้น, ถูกต้องตามนั้น ตรงกับคำอังกฤษว่า yes นั่นเอง

จะเห็นได้ว่า “อาม” ไม่ควรจะเข้ามาเกี่ยวข้องอะไรเลยกับความหมายที่ว่า “พระพุทธรูปองค์สำคัญประจำวัดอมรินทร์” ดังนั้น คำนี้น่าจะไม่ใช่ อาม + เอศร์

ถ้าไม่ใช่ + อาม + เอศร์ จะแยกคำข้างหน้าว่าอย่างไร?

แยกได้อีกอย่างหนึ่ง คือ อมรินท + ราเมศร์ = อมรินทราเมศร์

นั่นคือ “อมรินท” เขียนตามรูปบาลี มีความหมายเท่ากันกับ “อมรินทร” แต่จะเกิดความคลาดเคลื่อน ทั้งนี้เพราะวัดนี้ชื่อ “วัดอมรินทร์” ไม่ใช่ “วัดอมรินท์” ซึ่งก็คงจะต้องอธิบายใหม่ว่า “อมรินท” ในชื่อพระพุทธรูปนี้ไม่ได้เอามาจากชื่อวัด “อมรินทร์” ก็พอจะแก้ปัญหาตรงนี้ไปได้

แต่ครั้นไปดู “ราเมศร์” (อมรินท + ราเมศร์) ก็มีปัญหาอีก เพราะ “ราเมศร์” ต้องแยกศัพท์เป็น ราม + เอศร์ (เอศร์ < อิศร < อิสฺสร) ปัญหาก็คือ “ราม” จะแปลว่าอะไร หมายถึงอะไร

ที่เข้าใจกันเป็นปกติ “ราม” คือพระรามในเรื่องรามเกียรติ์ พระรามมาเกี่ยวอะไรกับ “พระพุทธรูปองค์สำคัญประจำวัดอมรินทร์

อีกนัยหนึ่ง “ราม” หมายถึง พระนารายณ์อวตารลงมาเป็นพระราม แล้วหมายถึง “พระราชา” นามพระพุทธรูปองค์นี้ก็ไม่ได้มีความหมายเกี่ยวกับพระราชาองค์องค์หนึ่ง

ถ้าอธิบายว่า “ราม” หมายถึง งาม (ดังคำในศิลาจารึกสุโขทัยว่า “… มีพระพุทธรูปอันใหญ่ มีพระพุทธรูปอันราม”) ก็ดูท่าว่าจะไปกันไกลเกินไป จะเอาคำเก่าถึงสุโขทัยมาใส่ในนามพระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์ด้วยเหตุอันใดเล่า ผู้ถวายนามพระพุทธรูปคงไม่คิดไกลถึงเพียงนั้น

แยกศัพท์มาถึงตรงนี้ ผู้เขียนบาลีวันละคำก็หมดปัญญาเพียงแค่นี้

คงได้แต่สันนิษฐาน นั่นคือ วัดอมรินทร์ มีชื่อเต็มๆ ว่า “วัดอมรินทราราม” ผู้ตั้งนามพระพุทธรูปคงเอาเสียง –ราราม มาประสมประเสกันเป็น –ราเมศร์ โดยไม่ทันได้นึกว่าจะแยกศัพท์เป็นอะไร

ชื่อ “อมรินทราเมศร์” นี้ ถ้าจะให้มีความหมายว่า “พระพุทธรูปองค์สำคัญประจำวัดอมรินทร์” ก็ควรจะเป็น –

(๑) “อมรินทเรศร์” = อมรินทร (วัดอมรินทร์) + เอศร์ (ผู้ยิ่งใหญ่ หมายถึง พระพุทธรูปองค์สำคัญ)

(๒) “อมรินทราราเมศร์” = อมรินทราราม (วัดอมรินทราราม) + เอศร์

แต่จะแก้ก็คงยากหน่อย เพราะชื่อ “อมรินทราเมศร์” แพร่หลายไปมากแล้ว เว้นเสียแต่จะมีผู้มีบุญมาเกิดแล้วใช้บุญบารมีแก้ให้ถูก

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ไวยากรณ์เป็นความงามของภาษา

: กติกาเป็นความงามของสังคม

#บาลีวันละคำ (3,086)

23-11-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย