บาลีวันละคำ

สัทธัมมปัชโชติกา (บาลีวันละคำ 3,105)

สัทธัมมปัชโชติกา

ส่องสว่างให้เห็นทางแห่งพระสัทธรรม

อ่านว่า สัด-ทำ-มะ-ปัด-โช-ติ-กา

ประกอบด้วยคำว่า สัทธัมม + ปัชโชติกา

(๑) “สัทธัมม

เขียนแบบบาลีเป็น “สทฺธมฺม” อ่านว่า สัด-ทำ-มะ คำเดิมมาจาก สนฺต + ธมฺม

สนฺต” (สัน-ตะ) แปลว่า สัตบุรุษ หรือคนดี (a good, worthy man) หมายถึงอริยบุคคล

ธมฺม” แปลตามศัพท์ว่า “สภาพที่ทรงไว้” มีความหมายหลายหลาก ความหมายในที่นี้ คือ หลักการ, หลักปฏิบัติ, คำสอน (a general rule, general practice, doctrine) ซึ่งอาจผิดหรือถูก อาจเป็นคำสอนของคนดีหรือคนร้ายก็ได้

สนฺต + ธมฺม กระบวนการทางไวยากรณ์ คือ:-

(1) แปลง –นฺต (ที่ สนฺต) เป็น ทฺ : สนฺต > สทฺ + ธมฺม = สทฺธมฺม

(2) แปลง สนฺต เป็น ซ้อน ทฺ : สนฺต > + ทฺ + ธมฺม = สทฺธมฺม

สทฺธมฺม” เขียนแบบไทยเป็น “สัทธรรม” (สัด-ทำ) แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมของสัตบุรุษคือพระอริยบุคคล” “ธรรมของสัตบุรุษที่ยังความเป็นสัตบุรุษให้สำเร็จได้” หมายถึง ธรรมะของคนดี, คำสอนที่ถูกต้อง, หลักการปฏิบัติที่นำไปสู่ความเป็นอริยบุคคล (the true dhamma, the best religion, good practice, the “doctrine of the good”)

เป็นการจำกัดความชัดเจนว่า “ธรรม” ในที่นี้หมายถึงคำสอนที่ถูกต้อง ไม่ใช่คำสอนผิดๆ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ขยายความคำว่า “สัทธรรม”  ไว้ว่า –

…………..

สัทธรรม : ธรรมที่ดี, ธรรมที่แท้, ธรรมของคนดี, ธรรมของสัตบุรุษ

สัทธรรม ๓ คือ ๑. ปริยัติสัทธรรม สัทธรรมคือคำสั่งสอนอันจะต้องเล่าเรียน ได้แก่พุทธพจน์ ๒. ปฏิบัติสัทธรรม สัทธรรมคือปฏิปทาอันจะต้องปฏิบัติ ได้แก่ไตรสิกขา (รวมตลอดบุพภาคปฏิปทา เช่น ธุดงค์) ๓. ปฏิเวธสัทธรรม หรือ อธิคมสัทธรรม สัทธรรมคือผลอันจะพึงเข้าถึงหรือบรรลุด้วยการปฏิบัติ ได้แก่ มรรค ผล และนิพพาน …

สัทธรรม ๗ คือ ๑. ศรัทธา ๒. หิริ ๓.โอตตัปปะ ๔. พาหุสัจจะ ๕. วิริยารัมภะ ๖. สติ ๗. ปัญญา …

…………..

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สัทธรรม : (คำนาม) คําสอนของพระพุทธเจ้า เรียกว่า พระสัทธรรม, ธรรมของสัตบุรุษหรือคนดี. (ส. สทฺธรฺม; ป. สทฺธมฺม).”

(๒) “ปัชโชติกา

เขียนแบบบาลีเป็น “ปชฺโชติกา” อ่านว่า ปัด-โช-ติ-กา รูปคำเดิมมาจาก (คำอุปสรรค = ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + โชติกา

(1) “โชติกา” รากศัพท์มาจาก –

(ก) ชุตฺ (ธาตุ = สว่าง, รุ่งเรือง) + อิ ปัจจัย, แผลง อุ ที่ ชุ-(ตฺ) เป็น โอ (ชุตฺ > โชต)

: ชุตฺ + อิ = ชุติ > โชติ แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้ส่องลางดีลางร้าย” (2) “ผู้สว่าง” “ผู้รุ่งเรือง

โชติ” (ปกติเป็นอิตถีลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) แสงสว่าง, ความชัชวาล, แสง (light, splendour, radiance)

(2) ดาว (a star)

(3) ไฟ (fire)

(ข) โชติ + สกรรถ (กะ-สะ-กัด) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: โชติ + = โชติก + อา = โชติกา แปลว่า “(อรรถกถา) อันเป็นเครื่องส่องสว่าง

(2) + โชติกา ซ้อน ชฺ ( + ชฺ + โชติกา)

: + ชฺ + โชติกา = ปชฺโชติกา แปลว่า “(อรรถกถา) อันเป็นเครื่องส่องสว่างอย่างทั่วถ้วน

สทฺธมฺม + ปชฺโชติกา = สทฺธมฺมปชฺโชติกา > สัทธัมมปัชโชติกา แปลความว่า “(อรรถกถา) อันเป็นเครื่องส่องให้เห็นพระสัทธรรมอย่างทั่วถ้วน” หรือ “(อรรถกถา) อันเป็นเครื่องส่องสว่างให้เห็นทางแห่งพระสัทธรรม

ขยายความ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ขยายความไว้ว่า –

…………..

สัทธัมมปัชโชติกา : ชื่ออรรถกถาอธิบาย ความในคัมภีร์นิทเทส แห่งพระสุตตันตปิฎก พระอุปเสนเถระ (หลักฐานบางแห่งว่า พระอุปติสสเถระ) แห่งมหาวิหารในลังกาทวีป เป็นผู้รจนาขึ้นเป็นภาษาบาลีโดยถือตามแนวอรรถกถาเก่าภาษาสิงหฬ ที่ศึกษาและรักษาสืบทอดกันมา; หลักฐานบางแห่งเรียกว่า สัทธัมมัฏฐิติกา.”

…………..

แถม :

พระสุตตันตปิฎก หรือพระสูตร เป็น 1 ในพระไตรปิฎก แบ่งเนื้อหาออกเป็น 5 กลุ่ม เรียกว่า “นิกาย” คือ ทีฆนิกาย, มัชฌิมนิกาย, สังยุตนิกาย, อังคุตรนิกาย และ ขุทกนิกาย

ขุทกนิกายมีคัมภีร์ที่แยกย่อยออกไป 15 คัมภีร์ คือ (1) ขุททกปาฐะ (2) ธรรมบท (3) อุทาน (4) อิติวุตตกะ (5) สุตตนิบาต (6) วิมานวัตถุ (7) เปตวัตถุ (8) เถรคาถา (9) เถรีคาถา (10) ชาดก (11) นิทเทส (มหานิทเทส-จูฬนิทเทส) (12) ปฏิสัมภิทามรรค (13) อปทาน (14) พุทธวงส์ (15) จริยาปิฎก

แต่ละคัมภีร์ก็มีอรรถกถาแยกกันไปแต่ละเล่ม คือคัมภีร์ (1) ขุททกปาฐะ (2) ธรรมบท (3) สุตตนิบาต และ (4) ชาดก ทั้ง 4 คัมภีร์นี้มีอรรถกถาชื่อเหมือนกัน คือชื่อ “ปรมัตถโชติกา” แต่แม้ชื่อจะเหมือนกัน อรรถกถาของแต่ละคัมภีร์ก็เป็นคนละเล่มกัน จบในเล่มของตน ไม่ได้รวมอยู่เป็นเล่มเดียวกัน

คัมภีร์ (1) อุทาน (2) อิติวุตตกะ (3) วิมานวัตถุ (4) เปตวัตถุ (5) เถรคาถา (6) เถรีคาถา และ (7) จริยาปิฎก ทั้ง 7 คัมภีร์นี้มีอรรถกถาชื่อเหมือนกัน คือชื่อ “ปรมัตถทีปนี” แต่ก็แยกกันเป็นคนละเล่มเช่นเดียวกับ “ปรมัตถโชติกา

คัมภีร์นิทเทส แบ่งออกไปอีกเป็น 2 คัมภีร์ คือ มหานิทเทส และจูฬนิทเทส มีอรรถกถาชื่อ “สัทธัมมปัชโชติกา

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เมธีท่านอุตส่าห์ส่องทางสว่างไสวไว้ตลอด

: ถ้าไม่แกล้งทำเป็นตาบอดก็คงจะพอมองเห็นพระสัทธรรม

#บาลีวันละคำ (3,105)

12-12-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย