บาลีวันละคำ

สัทธัมมปกาสินี (บาลีวันละคำ 3,106)

สัทธัมมปกาสินี

คัมภีร์ประกาศพระสัทธรรม

อ่านว่า สัด-ทำ-มะ-ปะ-กา-สิ-นี

ประกอบด้วยคำว่า สัทธัมม + ปกาสินี

(๑) “สัทธัมม

เขียนแบบบาลีเป็น “สทฺธมฺม” อ่านว่า สัด-ทำ-มะ คำเดิมมาจาก สนฺต + ธมฺม

สนฺต” (สัน-ตะ) แปลว่า สัตบุรุษ หรือคนดี (a good, worthy man) หมายถึงอริยบุคคล

ธมฺม” แปลตามศัพท์ว่า “สภาพที่ทรงไว้” มีความหมายหลายหลาก ความหมายในที่นี้ คือ หลักการ, หลักปฏิบัติ, คำสอน (a general rule, general practice, doctrine) ซึ่งอาจผิดหรือถูก อาจเป็นคำสอนของคนดีหรือคนร้ายก็ได้

สนฺต + ธมฺม กระบวนการทางไวยากรณ์ คือ:-

(1) แปลง –นฺต (ที่ สนฺต) เป็น ทฺ : สนฺต > สทฺ + ธมฺม = สทฺธมฺม

(2) แปลง สนฺต เป็น ซ้อน ทฺ : สนฺต > + ทฺ + ธมฺม = สทฺธมฺม

สทฺธมฺม” เขียนแบบไทยเป็น “สัทธรรม(สัด-ทำ) แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมของสัตบุรุษคือพระอริยบุคคล” “ธรรมของสัตบุรุษที่ยังความเป็นสัตบุรุษให้สำเร็จได้” หมายถึง ธรรมะของคนดี, คำสอนที่ถูกต้อง, หลักการปฏิบัติที่นำไปสู่ความเป็นอริยบุคคล (the true dhamma, the best religion, good practice, the “doctrine of the good”)

เป็นการจำกัดความชัดเจนว่า “ธรรม” ในที่นี้หมายถึงคำสอนที่ถูกต้อง ไม่ใช่คำสอนผิดๆ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ขยายความคำว่า “สัทธรรม”  ไว้ว่า –

…………..

สัทธรรม : ธรรมที่ดี, ธรรมที่แท้, ธรรมของคนดี, ธรรมของสัตบุรุษ

สัทธรรม ๓ คือ ๑. ปริยัติสัทธรรม สัทธรรมคือคำสั่งสอนอันจะต้องเล่าเรียน ได้แก่พุทธพจน์ ๒. ปฏิบัติสัทธรรม สัทธรรมคือปฏิปทาอันจะต้องปฏิบัติ ได้แก่ไตรสิกขา (รวมตลอดบุพภาคปฏิปทา เช่น ธุดงค์) ๓. ปฏิเวธสัทธรรม หรือ อธิคมสัทธรรม สัทธรรมคือผลอันจะพึงเข้าถึงหรือบรรลุด้วยการปฏิบัติ ได้แก่ มรรค ผล และนิพพาน …

สัทธรรม ๗ คือ ๑. ศรัทธา ๒. หิริ ๓.โอตตัปปะ ๔. พาหุสัจจะ ๕. วิริยารัมภะ ๖. สติ ๗. ปัญญา …

…………..

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สัทธรรม : (คำนาม) คําสอนของพระพุทธเจ้า เรียกว่า พระสัทธรรม, ธรรมของสัตบุรุษหรือคนดี. (ส. สทฺธรฺม; ป. สทฺธมฺม).”

(๒) “ปกาสินี

อ่านว่า ปะ-กา-สิ-นี รากศัพท์มาจาก ปกาส + อินี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

(ก) “ปกาส” รากศัพท์มาจาก (คำอุปสรรค = ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + กาสฺ (ธาตุ = ส่องแสง, ส่งเสียง) + (อะ) ปัจจัย

: + กาสฺ = ปกาสฺ + = ปกาส (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ส่องสว่างทั่ว” “ผู้ส่งเสียงไปทั่ว

ปกาส” ในบาลีมักใช้ในความหมายว่า แสงสว่าง, ความสว่าง (light)

ถ้าใช้ในความหมายว่า การอธิบาย, การทำให้ทราบ, ข่าวสาร, หลักฐาน, การชี้แจง, การประกาศ, การเผยแพร่ (explaining, making known; information, evidence, explanation, publicity) บาลีนิยมใช้ในรูป “ปกาสน” (ปะ-กา-สะ-นะ) ( + กาสฺ + ยุ > อน = ปกาสน) แต่ “ปกาส” ที่ใช้ในความหมายเดียวกับ “ปกาสน” ก็มี

บาลี “ปกาส” สันสกฤตเป็น “ปฺรกาศ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ปฺรกาศ : (คำนาม) ‘ประกาศ,’ สูรยาตบะ, สูรยาโลก, แสงแดด; โศภา, ประภา; ความเบิกบาน, ความสร้าน, ความแสดงไข; หัวเราะ; ยิ้ม; ความเปิดเผยหรือแพร่หลาย; ธาตุสีขาวหรือธาตุหล่อระฆัง; sunshine; luster, light, expansion, diffusion, manifestation; a laugh; a smile; publicity; white or bellmetal.”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ยังมีคำว่า “ปฺรกาศ” ที่ใช้เป็นคำกริยาวิเศษณ์ บอกไว้ว่า –

ปฺรกาศ : (คำกริยาวิเศษณ์) ‘ประกาศ,’ โดยเปิดเผย; openly, publicly.”

และมีรูปคำ “ปฺรกาศน” เช่นเดียวกับ “ปกาสน” ในบาลี บอกไว้ดังนี้ –

ปฺรกาศน : (คำนาม) ‘ประกาศน์,’ การจุดประทีปโคมไฟ, การให้แสงสว่าง; การแสดงไข; illuminating, giving light; making clear or manifest.”

ในภาษาไทยใช้อิงรูปสันสกฤตเป็น “ประกาศ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ประกาศ : (คำกริยา) ป่าวร้อง, แจ้งให้ทราบ, เช่น ประกาศงานบุญงานกุศล. (คำนาม) ข้อความที่แจ้งให้ทราบทั่วกัน เช่น ประกาศของวัด ประกาศของบริษัท; ข้อความที่ทางราชการแจ้งให้ประชาชนทราบหรือวางแนวทางให้ปฏิบัติ เช่น ประกาศพระบรมราชโองการ ประกาศกระทรวง ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี. (ส. ปฺรกาศ; ป. ปกาส).”

(ข) ปกาส + อินี = ปกาสินี แปลว่า “(อรรถกถา) อันส่องสว่างทั่วถ้วน” หรือ “(อรรถกถา) อันประกาศให้เข้าใจชัด

สทฺธมฺม + ปกาสินี = สทฺธมฺมปกาสินี > สัทธัมมปกาสินี แปลความว่า “(อรรถกถา) อันส่องสว่างให้เห็นพระสัทธรรมทั่วถ้วน” หรือ “(อรรถกถา) อันประกาศพระสัทธรรมให้เข้าใจชัด

หมายเหตุ : คำนี้ว่าตามหลักบาลีไวยากรณ์ว่าด้วยการสมาส ย่อมนิยมซ้อน ปฺ ระหว่าง สทฺธมฺม กับ ปกาสินี เนื่องจากศัพท์หลังขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ

: สทฺธมฺม + ปฺ + ปกาสินี = สทฺธมฺมปฺปกาสินี (สัด-ทำ-มับ-ปะ-กา-สิ-นี)

แต่เมื่อใช้เป็นคำไทย นิยมตัดตัวซ้อนออก เขียนเป็น “สัทธัมมปกาสินี

ขยายความ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ขยายความไว้ว่า –

…………..

สัทธัมมปกาสินี : ชื่อคัมภีร์อรรถกถา อธิบายความในปฏิสัมภิทามรรค แห่งพระสุตตันตปิฎก พระมหานามะรจนาขึ้นเป็นภาษาบาลี โดยถือตามแนวอรรถกถาเก่าภาษาสิงหฬที่รักษาสืบทอดมาในลังกาทวีป.”

…………..

แถม :

พระสุตตันตปิฎก หรือพระสูตร เป็น 1 ในพระไตรปิฎก แบ่งเนื้อหาออกเป็น 5 กลุ่ม เรียกว่า “นิกาย” คือ ทีฆนิกาย, มัชฌิมนิกาย, สังยุตนิกาย, อังคุตรนิกาย และ ขุทกนิกาย

ขุทกนิกายมีคัมภีร์ที่แยกย่อยออกไป 15 คัมภีร์ คือ (1) ขุททกปาฐะ (2) ธรรมบท (3) อุทาน (4) อิติวุตตกะ (5) สุตตนิบาต (6) วิมานวัตถุ (7) เปตวัตถุ (8) เถรคาถา (9) เถรีคาถา (10) ชาดก (11) นิทเทส (มหานิทเทส-จูฬนิทเทส) (12) ปฏิสัมภิทามรรค (13) อปทาน (14) พุทธวงส์ (15) จริยาปิฎก

แต่ละคัมภีร์ก็มีอรรถกถาแยกกันไปแต่ละเล่ม คือคัมภีร์ (1) ขุททกปาฐะ (2) ธรรมบท (3) สุตตนิบาต และ (4) ชาดก ทั้ง 4 คัมภีร์นี้มีอรรถกถาชื่อเหมือนกัน คือชื่อ “ปรมัตถโชติกา” แต่แม้ชื่อจะเหมือนกัน อรรถกถาของแต่ละคัมภีร์ก็เป็นคนละเล่มกัน จบในเล่มของตน ไม่ได้รวมอยู่เป็นเล่มเดียวกัน

คัมภีร์ (1) อุทาน (2) อิติวุตตกะ (3) วิมานวัตถุ (4) เปตวัตถุ (5) เถรคาถา (6) เถรีคาถา และ (7) จริยาปิฎก ทั้ง 7 คัมภีร์นี้มีอรรถกถาชื่อเหมือนกัน คือชื่อ “ปรมัตถทีปนี” แต่ก็แยกกันเป็นคนละเล่มเช่นเดียวกับ “ปรมัตถโชติกา

คัมภีร์นิทเทส แบ่งออกไปอีกเป็น 2 คัมภีร์ คือ มหานิทเทส และจูฬนิทเทส มีอรรถกถาชื่อ “สัทธัมมปัชโชติกา

คัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค มีอรรถกถาชื่อ “สัทธัมมปกาสินี

…………..

ดูก่อนภราดา!

: การปฏิบัติตามพระสัทธรรมโดยไม่ประมาท

: เป็นการประกาศพระสัทธรรมที่วิเศษที่สุด

#บาลีวันละคำ (3,106)

13-12-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย