บาลีวันละคำ

ชยสิทธิคาถา (บาลีวันละคำ 3,126)

ชยสิทธิคาถา

ตั้งความปรารถนาเพื่อสำเร็จชัย

อ่านว่า ชะ-ยะ-สิด-ทิ-คา-ถา

ประกอบด้วยคำว่า ชย + สิทธิ + คาถา

รายการ จามจุรีมีเรื่องเล่า ของวิทยุจุฬา มีเรื่อง “ชยสิทธิคาถา” เผยแพร่เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2563 โดย รศ.ดร.ชัชพล ไชยพร รองคณบดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นวิทยากร สรุปความไว้ตอนหนึ่งว่า –

…………..

ชยสิทธิคาถา คือ บทร้อยกรองเพื่อชัยชนะที่อวยชัยให้พรแก่นักรบฝ่ายกองทัพบกของสยามที่ไปร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นโดยอนุวัติตามบทพระบาลีร้อยกรองวสันตดิลกฉันท์ ที่พระราชทานให้แก่นักรบที่ไปร่วมรบให้เกิดกำลังใจ จึงให้ร่วมสวดบทพาหุง ซึ่งเป็นบทสวดที่กล่าวถึงชัยชนะของพระพุทธเจ้าในการเอาชนะมาร ที่แปลเป็นภาษาไทยขึ้น โดยทหารอาสาที่ได้ไปร่วมรบกับฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่1 ก็ได้รับชัยชนะกลับมา ในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2461 ทำให้วันที่ 11 พฤศจิกายน ถือเป็นวันที่ระลึกทหารอาสาจากเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 1

…………..

[๑] ความหมายของชื่อ “ชยสิทธิคาถา

(๑) “ชย

อ่านว่า ชะ-ยะ รากศัพท์มาจาก ชิ (ธาตุ = ชนะ) + ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อิ ที่ ชิ เป็น เอ แล้วแปลง เอ เป็น อย (ชิ > เช > ชย)

: ชิ + = ชิณ > ชิ > เช > ชย แปลตามศัพท์ว่า “การชนะ” หมายถึง การปราบ, การพิชิต, ชัยชนะ (vanquishing, overcoming, victory)

(๒) “สิทธิ

บาลีเขียน “สิทฺธิ” (มีจุดใต้ ทฺ) อ่านว่า สิด-ทิ รากศัพท์มาจาก สิธฺ (ธาตุ = สำเร็จ) + ติ ปัจจัย, แปลง ติ เป็น ทฺธิ, ลบ ธฺ ที่สุดธาตุ

: สิธฺ + ติ = สิธฺติ (แปลง ติ เป็น ทฺธิ) > สิธฺทฺธิ (ลบ ธฺ ที่สุดธาตุ) > สิทฺธิ แปลตามศัพท์ว่า “ความสำเร็จ” หมายถึง การกระทำสำเร็จ, ความสำเร็จ, ความรุ่งเรือง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สิทธิ, สิทธิ์ : (คำนาม) อำนาจอันชอบธรรม เช่น บุคคลมีสิทธิและหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ เขามีสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้. (ป., ส.); (คำที่ใช้ในกฎหมาย) อำนาจที่กฎหมายรับรองให้กระทำการใด ๆ โดยสุจริตได้อย่างอิสระ แต่ต้องไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของคนอื่น. (อ. right).”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สิทฺธิ” เป็นอังกฤษว่า accomplishment, success, prosperity (การกระทำสำเร็จ, ความสำเร็จ, ความรุ่งเรือง)

โปรดสังเกตว่า พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ซึ่งฝรั่งชาติอังกฤษเป็นผู้ทำ ไม่ได้แปล “สิทฺธิ” ว่า right

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “สิทฺธิ” 3 คำ ขอยกมาเสนอเทียบกันดูคำหนึ่ง ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

สิทฺธิ : (คำนาม) ‘สิทธิ,’ ความบัลลุถึงผลสำเร็จ, วิภูษณาธิคมหรืออลังการลาภ; ปรมคติหรือความสิ้นชาติ, บรมสุข; บุณโยทัย, ความสมมโนรถ; วิทยา, พุทธิ; ความถูกต้องหรือถ่องแท้; ปราลพย์หรือความชอบธรรม (ในธรรมนีติ); การชำระณี่ (หรือหนี้); การปิดงำไว้เปนความลับ; ผลของการบูชาเทวดา; เขียงเท้า; เอาษธียมูล, รากไม้อันเปนยา; ความสำคัญใจว่าบัลลุถึงทิพยศักดิ์โดยเรียนจบมายาวิธี; accomplishment, ornamental acquirement; final emancipation from existence, supreme felicity; prosperity, success; knowledge, understanding; accuracy or correctness; validity (in law); discharge of a dept; concealment; the result of adoration of the gods; a wooden slipper; a medicinal root; the supposed acquirement of supernatural power of the completion of magical processes.”

(๓) “คาถา

รากศัพท์มาจาก คา (ธาตุ = ส่งเสียง) + ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: คา + = คาถ + อา = คาถา แปลตามศัพท์ว่า “วาจาอันเขาขับร้อง” หมายถึง คำกลอน, โศลก, คำประพันธ์ประเภทร้อยกรอง (a verse, stanza, line of poetry)

ในภาษาบาลี คำว่า “คาถา” หมายถึงคําประพันธ์ประเภท “ร้อยกรอง” อย่างที่ภาษาไทยเรียกว่า กาพย์ กลอน โคลง ฉันท์

คาถาบทหนึ่งจะมี 4 บาท หรือ 4 วรรค จำนวนคำแต่ละวรรคและตำแหน่งคำภายในวรรคที่จะต้องใช้เสียงสั้น-ยาว หนัก-เบา เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของคาถาแต่ละชนิด ทำนองเดียวกับกาพย์กลอนของไทยที่กำหนดว่าคำไหนต้องสัมผัสกับคำไหน

คาถา” แปลว่า “วาจาอันเขาขับร้อง” ความประสงค์ของการแต่งถ้อยคำให้เป็นคาถา ก็เพื่อจะได้ขับขานเป็นท่วงทำนองให้ชวนฟังกว่าการพูดธรรมดานั่นเอง

ในภาษาไทย คำว่า “คาถา” มักเข้าใจกันว่า เป็นคำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้เสกเป่าหรือร่ายมนต์ขลังให้เกิดเป็นอิทธิฤทธิ์บันดาลผลที่ต้องการ

เพื่อเสริมความเข้าใจที่ถูกต้อง โปรดดูความหมายของ “คาถา” ในสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

คาถา : (คำนาม) ‘คาถา,’ กวิตา, คำประพันธ์; โศลก; ฉันทัส, คำฉันท์, พฤตต์; ดาล; เพลง, คำว่า ‘คีต, คีติ, รพ, ราพ, รวะ, ราวะ, เคยะ, คานะ’ ก็มีนัยอย่างเดียวกัน; ประกฤตหรือภาษาใดภาษาหนึ่งซึ่งมิใช่สํสกฤต; ชื่อของอารยาฉันท์ (คำประพันธ์ซึ่งมีหกสิบอักษรมาตรา, จัดไว้ต่างๆ กัน); a verse; a stanza, metre; rhythm; a song, a chant; Prākrit or any language not Sanskrit; the name of the Āryā metre (a verse which contains sixty syllabic instants, variously arranged).”

จะเห็นว่าในสันสกฤตก็ไม่มีความหมายไปในทางคำเสกเป่าเพื่อเกิดความขลังศักดิ์สิทธิ์แต่ประการใด

เหตุที่ “คาถา” ในภาษาไทยความหมายเคลื่อนที่ไปจากเดิมน่าจะเป็นเพราะคนไทยนับถือภาษาบาลีว่าเป็นคำพระ เมื่อเห็นคำสอนที่แต่งเป็น “คาถา” มีความหมายในทางดี จึงน้อมมาเป็นกำลังใจ เดิมก็คงเอามาท่องบ่นด้วยความพอใจในความหมายด้วยความรู้ความเข้าใจ แต่เมื่อนานเข้าก็ทิ้งความเข้าใจในหลักคำสอนที่มีอยู่ในถ้อยคำอันเป็น “คาถา” นั้นๆ คงยึดถือแต่เพียงถ้อยคำหรือเสียงโดยเชื่อว่าเมื่อท่องบ่นแล้วจะเกิดผลดลบันดาลให้สำเร็จในทางนั้นๆ คำว่า “คาถา” จึงกลายความหมายเป็นคำขลังศักดิ์สิทธิ์ไปในที่สุด

การประสมคำ :

ชย + สิทฺธิ = ชยสิทฺธิ (ชะ-ยะ-สิด-ทิ) แปลว่า “ความสำเร็จแห่งชัยชนะ” หมายความว่า ที่หวังว่าจะได้ชัยชนะก็สำเร็จสมหวัง คือเอาชัยได้สำเร็จจริงๆ

ชยสิทฺธิ + คาถา = ชยสิทฺธิคาถา (ชะ-ยะ-สิด-ทิ-คา-ถา) แปลว่า “คาถาแสดงความสำเร็จแห่งชัยชนะ” หมายถึง บทร้อยกรองบรรยายถึงการสัประยุทธ์ที่จบลงด้วยชัยชนะอย่างงดงาม

ชยสิทฺธิคาถา” เขียนแบบไทยเป็น “ชยสิทธิคาถา” (ไม่มีจุดใต้ )

[๒] ตัวบท “ชยสิทธิคาถา

ก. ภาษาบาลี

(เขียนแบบบาลี)

พาหุํ  สหสฺสมภินิมฺมิตสาวุธนฺตํ

คฺรีเมขลํ  อุทิตโฆรสเสนมารํ

ทานาทิธมฺมวิธินา  ชิตวา  มุนินฺโท

ตนฺเตชสา  ภวตุ  เต  ชยสิทฺธินิจฺจํ.

(เขียนแบบคำอ่าน)

พาหุง  สะหัสสะมะภินิมมิตะสาวุธันตัง

ค๎รีเมขะลัง  อุทิตะโฆระสะเสนะมารัง

ทานาทิธัมมะวิธินา  ชิตะวา  มุนินโท

ตันเตชะสา  ภะวะตุ  เต  ชะยะสิทธินิจจัง.

…………..

ข. ภาษาไทย

(สวดทำนองสรภัญญะ)

(เขียนตามอักขรวิธี)

(ขึ้น) ๏ ปางเมื่อพระองค์ปรมพุท-..(รับ) ธวิสุทธศาสดา

ตรัสรู้อนุตรสมา-……………ธิ ณ โพธิบัลลังก์

๏ ขุนมารสหัสพหุพา-……..หุวิชาวิชิตขลัง

ขี่คีริเมขละประทัง………….คชะเหี้ยมกระเหิมหาญ

๏ แสร้งเสกสราวุธประดิษฐ์..กลคิดจะรอนราน

รุมพลพหลพยุหะปาน……..พระสมุทรนองมา

๏ หวังเพื่อผจญวรมุนิน-……ทสุชินราชา

พระปราบพหลพยุหมา-……รเมลืองมลายสูญ

๏ ด้วยเดชะองค์พระทศพล..สุวิมลไพบูลย์

ทานาทิธัมมวิธิกูล………….ชนน้อมมโนตาม

๏ ด้วยเดชะสัจวจนา……….และนมามิองค์สาม

ขอจงนิกรพลสยาม………..ชยสิทธิทุกวาร

๏ ถึงแม้จะมีอริวิเศษ………พลเดชเทียมมาร

ขอไทยผจญพิชิตผลาญ….อริแม้นมุนินทร๚ะ๛

…………..

(เขียนคำอ่านตามอักขรวิธี)

(ขึ้น) ๏ ปางเมื่อพระองค์ปะระมะพุท-.. (รับ) ธะวิสุทธะศาสดา

ตรัสรู้อะนุตตะระสมา-……………..ธิ ณ โพธิบัลลังก์

๏ ขุนมารสะหัสะพะหุพา-………..หุวิชาวิชิตขลัง

ขี่คีริเมขะละประทัง……………….คะชะเหี้ยมกระเหิมหาญ

๏ แสร้งเสกสะราวุธะประดิษฐ์……กะละคิดจะรอนราน

รุมพลพะหลพะยุหะปาน………….พระสมุททะนองมา

๏ หวังเพื่อผจญวะระมุนิน-………ทะสุชินนะราชา

พระปราบพะหลพะยุหะมา-……..ระมะเลืองมะลายสูญ

๏ ด้วยเดชะองค์พระทะศะพล….สุวิมลละไพบูลย์

ทานาทิธัมมะวิธิกูล……………..ชะนะน้อมมะโนตาม

๏ ด้วยเดชะสัจจะวะจะนา……..และนะมามิองค์สาม

ขอจงนิกรพละสยาม…………..ชยะสิทธิทุกวาร

๏ ถึงแม้จะมีอริวิเศษ…………..พละเดชชะเทียมมาร

ขอไทยผจญพิชิตะผลาญ……..อริแม้นมุนินทร.

…………..

(เขียนเป็นคำอ่านตรง เทียบอักขรวิธี)

๏ ปางเมื่อพระองค์ปรมพุท-….ธวิสุทธศาสดา

ตรัสรู้อนุตรสมา-………ธิ ณ โพธิบัลลังก์

ปาง-เมื่อ-พระ-อง-ปะ-ระ-มะ-พุด-….ทะ-วิ-สุด-ทะ-สาด-สดา

ตรัด-สะรู้-อะ-นุด-ตะ-ระ-สะ-มา-(เอื้อนเสียงยาวไปถึงคำหลัง)ทิ-นะ-โพ-ทิ-บัน-ลัง

๏ ขุนมารสหัสพหุพา-………หุวิชาวิชิตขลัง

ขี่คีริเมขละประทัง…………..คชะเหี้ยมกระเหิมหาญ

ขุน-มาน-สะ-หัด-สะ-พะ-หุ-พา-(เอื้อนเสียงยาวไปถึงคำหลัง)หุ-วิ-ชา-วิ-ชิด-ขลัง

ขี่-คี-ริ-เม-ขะ-ละ-ประ-ทัง….คะ-ชะ-เหี้ยม-กระ-เหิม-หาน

๏ แสร้งเสกสราวุธประดิษฐ์…..กลคิดจะรอนราน

รุมพลพหลพยุหะปาน…………พระสมุทรนองมา

แส้ง-เสก-สะ-รา-วุ-ทะ-ประ-ดิด….กะ-ละ-คิด-จะ-รอน-ราน

รุม-พน-พะ-หน-พะ-ยุ-หะ-ปาน….พระ-สะ-หมุด-ทะ-นอง-มา

๏ หวังเพื่อผจญวรมุนิน-………ทสุชินราชา

พระปราบพหลพยุหมา-………รเมลืองมลายสูญ

หวัง-เพื่อ-ผะ-จน-วะ-ระ-มุ-นิน-(เอื้อนเสียงยาวไปถึงคำหลัง)ทะ-สุ-ชิน-นะ-รา-ชา

พระ-ปราบ-พะ-หน-พะ-ยุ-หะ-มา-(เอื้อนเสียงยาวไปถึงคำหลัง)ระ-มะ-เลือง-มะ-ลาย-สูน

๏ ด้วยเดชะองค์พระทศพล…..สุวิมลไพบูลย์

ทานาทิธัมมวิธิกูล……………..ชนน้อมมโนตาม

ด้วย-เด-ชะ-อง-พระ-ทะ-ศะ-พล….สุ-วิ-มน-ละ ไพ-บูน

ทา-นา-ทิ-ทำ-มะ-วิ-ทิ-กูน….ชะ-นะ-น้อม-มะ-โน-ตาม

๏ ด้วยเดชะสัจวจนา…………และนมามิองค์สาม

ขอจงนิกรพลสยาม………….ชยสิทธิทุกวาร

ด้วย-เด-ชะ-สัด-จะ-วะ-จะ-นา….และ-นะ-มา-มิ-อง-สาม

ขอ-จง-นิ-กอน-พะ-ละ-สะ-หฺยาม….ชะ-ยะ-สิด ทิ-ทุก-วาน

๏ ถึงแม้จะมีอริวิเศษ………..พลเดชเทียมมาร

ขอไทยผจญพิชิตผลาญ……อริแม้นมุนินทร๚ะ๛

ถึง-แม้-จะ-มี-อะ-หฺริ-วิ-เสด….พะ-ละ-เดด-ชะ-เทียม-มาน

ขอ-ไท-ผะ-จน-พิ-ชิ-ตะ-ผลาน….อะ-หฺริ-แม้น-มุ-นิน-ทอน

[๓] คำศัพท์-คำแปล

(คำในวงเล็บหมายถึงคำที่เขียนตามอักขรวิธี)

ปะระมะพุทธะ (ปรมพุทธ) = พระพุทธเจ้าผู้ยิ่งใหญ่

วิสุทธะศาสดา (วิสุทธศาสดา) = พระบรมครูผู้บริสุทธิ์

อะนุตตะระสมาธิ (อนุตรสมาธิ) = สมาธิอันยอดเยี่ยม

สะหัสะพะหุพาหุ (สหัสพหุพาหุ)

สหัส = จำนวนพัน

พหุ = มาก

พาหุ = แขน

แปลรวมว่า มีแขนมากตั้งพัน

วิชาวิชิต = มีความรู้ที่สามารถจะเอาชนะใครๆ ได้, สามารถเอาชนะใครๆ ได้ด้วยความรู้

คีริเมขะละ (คีริเมขละ) = ชื่อช้างของพญามาร

ตีความหมาย:

ขี่คีริเมละประทัง = ขี่ช้างคิริเมขละเข้ามาปะทะเพื่อจะรบ

ประทัง = ทําให้ทรงอยู่ได้, ทําให้ดํารงอยู่ได้

ประทังคช = ยืนช้าง ขี่ช้างรอท่าอยู่ในเวลาที่จะรบกัน

คะชะ (คช) = ช้าง

เหี้ยมกระเหิมหาญ

กระเหิม = เหิม, กําเริบ, คะนอง

เหิม = กําเริบ, ลําพองใจ

สะราวุธะ (สราวุธ) = อาวุธคือลูกศร, อาวุธคือธนู

กะละ (กล) = เล่ห์เหลี่ยม, การลวงหรือล่อลวงให้หลง หรือให้เข้าใจผิดเพื่อให้ฉงนหรือเสียเปรียบ

พะหลพะยุหะ (พหลพยุหะ)

พหล = กองทัพใหญ่

พยุหะ = กระบวน, หมู่, กองทัพ

พระสมุททะ (พระสมุท, พระสมุทร) = ทะเลลึก

วะระมุนิน- ทะสุชินนะราชา (วรมุนินทสุชินราชา)

วรมุนินท์, วรมุนินทร์ = พระจอมมุนีผู้ประเสริฐ คือพระพุทธเจ้า

สุชิน = ผู้ชนะเป็นอันดี

สุชินราชา (อ่านว่า สุ-ชิน-นะ-) = พระราชาผู้ชนะเป็นอันดี หมายถึงพระพุทธเจ้า

พะหลพะยุหะมาระ (พหลพยุหมาร) = ตัวพญามาร พร้อมทั้งกองทัพใหญ่

มะเลือง (เมลือง) = สิ้นเปลือง

เมลืองมลาย = แตกสลายหมดสิ้นไป

(พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ ว่า –

เมลือง [มะ-] ว. งาม, รุ่งเรือง, เปล่งปลั่ง, สุกใส, ใช้ว่า มําเลือง ก็มี.)

พระทะศะพล (พระทศพล) = ผู้มีกําลัง ๑๐, ผู้ทรงมีพระญาณอันเป็นกำลัง ๑๐ ประการ มี ฐานาฐานญาณ คือ ปรีชาหยั่งรู้ฐานะและสิ่งที่มิใช่ฐานะเป็นต้น เป็นพระนามของพระพุทธเจ้า

ปรกติคำนี้อ่านว่า ทด-สะ-พน แต่ในที่นี้ต้องอ่าน ว่า ทะ-สะ-พน เพราะอยู่ในตำแหน่งที่ต้องเป็นครุ (เสียงสั้น) สองคำ

สุวิมลละ (สุวิมล) = ปราศจากมลทิน, ปราศจากกิเลส

ทานาทิธัมมะวิธิกูล (ทานาทิธัมมวิธิกูล)

คำนี้เลียนคำในบทพาหุงที่ว่า ทานาทิธัมมะวิธินา ชิตะวา มุนินโท = พระจอมมุนีเอาชนะพญามารด้วยธรรมวิธี มีทานบารมีเป็นต้น

ทานาทิ (ทาน + อาทิ) = มีทานเป็นต้น

ธรรมวิธี (ธัมมวิธิ) = วิธีทางธรรม, วิธีที่ถูกต้องดีงาม

กูล = เกื้อกูล = อุดหนุน, เจือจาน, เอื้อเฟื้อ, เผื่อแผ่

ชะนะน้อมมะโน (ชนน้อมมโน)

คำในสองวรรคนี้ (ทานาทิธัมมวิธิกูล ชนน้อมมโนตาม) น่าจะแปลความหมายได้ว่า ด้วยธรรมวิธีของพระพุทธองค์ มีทานบารมีเป็นต้นจึงทำให้ทรงชนะพญามาร (ทานาทิธัมมวิธิกูลชนะ) พร้อมกันนั้นก็ทำให้พญามารยอมรับความพ่ายแพ้ (น้อมมโนตาม)

อีกนัยหนึ่ง กูลชนะ = ทานบารมีคือการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่ชนทั้งหลาย (เป็นเหตุให้ทรงชนะพญามาร)

สัจจะวะจะนา (สัจวจนา) = การกล่าวคำสัตย์, การพูดคำจริง

นะมามิองค์สาม (นมามิองค์สาม)

นมามิ =  ข้าพเจ้าขอนอบน้อม, การนอบน้อม, การแสดงความเคารพ

องค์สาม มีความหมาย ๒ นัย นัยหนึ่งหมายถึงการนอบน้อมต่อพระรัตนตรัย

อีกนัยหนึ่ง การนอบน้อมที่แสดงออกทั้ง ๓ ทาง คือ กาย วาจา ใจ

นิกรพละสยาม (นิกรพลสยาม)

นิกร = หมู่, พวก

นิกรพล = กองกำลังทหาร

ชยะสิทธิทุกวาร (ชยสิทธิทุกวาร) = สำเร็จชัยชนะ, ได้รับชัยชนะทุกวันเวลา ทุกโอกาส

อริวิเศษ = ข้าศึกศัตรูที่มีความสามารถยิ่งกว่าธรรมดา

พละเดชชะเทียมมาร (พลเดชเทียมมาร) = มีกำลังและมีอำนาจเสมอเหมือนมารที่มาผจญพระพุทธเจ้า

เดช ในที่นี้ต้องอ่านว่า เดด-ชะ เพื่อให้สัมผัสกับคำว่า วิเศษ ในวรรคแรก

พิชิตะ (พิชิต) = ชนะ, ปราบให้แพ้

ผลาญอริ = ทำลายล้างข้าศึกศัตรู

แม้นมุนินทร

มุนินทร = (อ่านว่า มุ-นิน-ทอน) พระจอมมุนี

แม้นมุนินทร = เหมือนพระจอมมุนี (ชนะมาร)

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ใช้ชีวิตถูกธรรมถูกวิธี

: ชนะตลอดปีตลอดไป

#บาลีวันละคำ (3,126)

2-1-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย