บาลีวันละคำ

อรหนฺต (1) (บาลีวันละคำ 63)

อรหนฺต (1)

อ่านว่า อะ-ระ-หัน-ตะ

คำว่า “อรหนฺต” แปลตามรากศัพท์ได้หลายความหมาย คือ :

1 ผู้ไกลจากกิเลส (คือห่างไกลไม่อยู่ในกระแสกิเลสที่จะทำให้มัวหมองได้เลย) (อารกะ)

2 ผู้กำจัดข้าศึกคือกิเลสหมดสิ้นแล้ว (อริ + หต)

3 ผู้หักรื้อทำลายวงล้อแห่งสังสารจักรเสร็จแล้ว (อร + หต)

4 ผู้ควรแก่การบูชาพิเศษของเทพและมนุษย์ทั้งหลาย (อรห)

5 ผู้ไม่มีที่ลับในการทำบาป คือไม่มีความชั่วความเสียหายที่จะต้องปิดบัง ( + รห)

ในภาษาไทย ใช้ว่า “อรหันต์” อ่านว่า อะ-ระ-หัน

ระวัง อย่าอ่านผิดเป็น ออ-ระ-หัน (ชื่อสัตว์ในนิยาย มี 2 เท้า มีปีกคล้ายนก หัวคล้ายหัวคน)

พระอรหันต์มี 2 ประเภท คือ

1 พระอรหันต์ที่หมดกิเลส แต่มิได้ทรงคุณวิเศษอย่างอื่น

(เรียกว่า พระสุกขวิปัสสก)

2 พระอรหันต์ที่หมดกิเลส และทรงคุณวิเศษอย่างอื่นด้วย เช่น หูทิพย์ ตาทิพย์ (เรียกว่า พระสมถยานิก)

อย่าลืมพระอรหันต์พิเศษอีกประเภทหนึ่ง – บิดามารดา

“พระอรหันต์ในบ้าน”

บาลีวันละคำ (63)

7-7-55

อรหันต-, อรหันต์

  [อะระหันตะ-, ออระหันตะ-, อะระหัน, ออระหัน] น. ชื่อพระอริยบุคคลชั้นสูงสุดใน ๔ ชั้น คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ เรียกว่า พระอรหันต์. (ศัพท์นี้ใช้ อรหา หรือ อรหัง ก็มี แต่ถ้าใช้เป็นคําวิเศษณ์หรืออยู่หน้าสมาสต้องใช้ อรหันต). (ป.; ส. อรฺหนฺต).

ศัพท์วิเคราะห์

“ผู้หักซึ่งวงล้อแห่งการเวียนตายเวียนเกิดได้แล้ว”

“ผู้ไม่มีการไป” (คือไม่ไปเกิดในภพภูมิใดๆ อีก)

“ผู้กำจัดข้าศึกคือกิเลสได้แล้ว”

“ผู้ไม่มีความชั่วที่จะต้องละอีกแล้ว”

“ผู้อันบุคคลพึงบูชา”

อรหันต์

ผู้สำเร็จธรรมวิเศษสูงสุดในพระพุทธศาสนา, พระอริยบุคคลชั้นสูงสุด ผู้ได้บรรลุอรหัตตผล,

พระอรหันต์ ๒ ประเภท คือ พระสุกขวิปัสสก กับพระสมถยานิก;

พระสุกขวิปัสสก คือพระผู้เจริญวิปัสสนาล้วน สำเร็จพระอรหัต มิได้ทรงคุณวิเศษอย่างอื่นอีก เช่นไม่ได้ฌานสมาบัติ ไม่ได้อภิญญา เป็นต้น

พระสมถยานิก คือ ผู้มีสมถะเป็นยาน หมายถึงผู้เจริญสมถกรรมฐาน จนได้ฌานก่อนแล้วจึงเจริญวิปัสสนาต่อ

พระอรหันต์ ๔ คือ

๑. พระสุกขวิปัสสก

๒. พระเตวิชชะ (ผู้ได้วิชชา ๓)

๓. พระฉฬภิญญะ (ผู้ได้อภิญญา ๖)

๔. พระปฏิสัมภิทัปปัตตะ (ผู้บรรลุปฏิสัมภิทา ๔);

พระอรหันต์ ๕ คือ

๑. พระปัญญาวิมุต

๒. พระอุภโตภาควิมุต

๓. พระเตวิชชะ

๔. พระฉฬภิญญะ

๕. พระปฏิสัมภิทัปปัตตะ;

ดู อริยบุคคล

        พระอรรถกถาจารย์แสดงความหมายของ อรหันต์ ไว้ ๕ นัย คือ

๑. เป็นผู้ไกล (อารกะ) จากกิเลส (คือห่างไกลไม่อยู่ในกระแสกิเลสที่จะทำให้มัวหมองได้เลย)

๒. กำจัดข้าศึก (อริ+หต) คือกิเลสหมดสิ้นแล้ว

๓. เป็นผู้หักคือรื้อทำลายกำ (อร+หต) แห่งสังสารจักรเสร็จแล้ว

๔. เป็นผู้ควร (อรห) แก่การบูชาพิเศษของเทพและมนุษย์ทั้งหลาย

๕. ไม่มีที่ลับ (น+รห) ในการทำบาป คือไม่มีความชั่วความเสียหายที่จะต้องปิดบัง;

        ความหมายทั้ง ๕ นี้ ตามปกติใช้อธิบายคำว่า อรหันต์ ที่เป็นพุทธคุณข้อที่ ๑; ดู อรหํ

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย