บาลีวันละคำ

พระราชปุจฉา (บาลีวันละคำ 3,215)

พระราชปุจฉา

อุบายวิธีของพระราชาให้พระสงฆ์ค้นคว้าพระไตรปิฎก

อ่านว่า พฺระ-ราด-ชะ-ปุด-ฉา

ประกอบด้วยคำว่า พระ + ราช + ปุจฉา

(๑) “พระ

มีผู้ให้ความเห็นว่าน่าจะมาจาก “วร” (วะ-ระ) ในบาลีสันสกฤต แปลว่า “ผู้ประเสริฐ” แปลง เป็น ออกเสียงว่า พะ-ระ แล้วกลายเสียงเป็น พฺระ (ร กล้ำ)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “พระ” ไว้ 13 อย่าง ในที่นี้คำว่า “พระ” เป็นคำใช้ประกอบหน้าคําอื่นแสดงความยกย่องพระเจ้าแผ่นดินหรือของที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายชั้นสูง เช่น พระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์

(๒) “ราช

บาลีอ่านว่า รา-ชะ แปลตามรากศัพท์ว่า –

(1) “ผู้รุ่งเรืองโดยยิ่งเพราะมีเดชานุภาพมาก

ความหมายนี้ประกอบขึ้นจาก ราชฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง) + (อะ) ปัจจัย = ราช

หมายความว่า ผู้เป็นพระราชาย่อมมีเดชานุภาพมากกว่าคนทั้งหลาย

(2) “ผู้ยังคนทั้งหลายให้ยินดี

ความหมายนี้ประกอบขึ้นจาก รญฺชฺ (ธาตุ = ยินดี พอใจ) + ปัจจัย, ลบ ลบ ญฺ (รญฺชณ > รญฺช > รช) แผลง เป็น รา = ราช

หมายความว่า เป็นผู้อำนวยความสุขให้ทวยราษฎร์ จนคนทั้งหลายร้องออกมาว่า “ราชา ราชา” (พอใจ พอใจ)

ราช” หมายถึง พระราชา, เจ้านายผู้ปกครอง (king, a ruling potentate) ใช้นำหน้าคำให้มีความหมายว่า เป็นของพระเจ้าแผ่นดิน, เกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดิน หรือเป็นของหลวง

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ราช ๑, ราช– : (คำนาม) พระเจ้าแผ่นดิน, พญา (ใช้แก่สัตว์) เช่น นาคราช คือ พญานาค สีหราช คือ พญาราชสีห์, คํานี้มักใช้ประกอบกับคําอื่น, ถ้าคําเดียวมักใช้ว่า ราชา.”

(๓) “ปุจฉา

เขียนแบบบาลีเป็น “ปุจฺฉา” (มีจุดใต้ จฺ) อ่านว่า ปุด-ฉา รากศัพท์มาจาก ปุจฺฉฺ (ธาตุ = ถาม) + (อะ) ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: ปุจฺฉฺ + = ปุจฺฉ + อา = ปุจฺฉา แปลตามศัพท์ว่า “การถาม หรือ ข้อที่ควรถาม” หมายถึง คำถาม (a question)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปุจฉา : (คำกริยา) ถาม เช่น ขอปุจฉาพระคุณเจ้า. (ป.).”

การประสมคำ :

ราช + ปุจฉา = ราชปุจฉา (ราด-ชะ-ปุด-ฉา) แปลว่า “คำถามของพระราชา

พระ + ราชปุจฉา = พระราชปุจฉา

เติมคำว่า “พระ” เข้าข้างหน้าแสดงความยกย่องของที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้าแผ่นดิน

ขยายความ :

หนังสือชุด “ประชุมพระราชปุจฉา” ซึ่งหอพระสมุดวชิรญาณจัดพิมพ์เผยแพร่ มีบทนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเรื่อง “อธิบายประเพณีพระราชปุจฉา” ขอนำมาเสนอเป็นอลังการแห่งความรู้ดังต่อไป (สะกดตามต้นฉบับ)

…………..

อธิบายประเพณีพระราชปุจฉา

ประเพณีพระราชปุจฉา คือ ที่พระเจ้าแผ่นดินมีรับสั่งถามข้ออรรถธรรมซึ่งทรงสงไสย ให้พระราชาคณะแต่บางรูป ฤๅประชุมกันถวายวิสัชนานี้ เข้าใจว่าจะมีมาแต่โบราณทีเดียว ส่วนประเทศอื่นยังไม่ได้พบหนังสือพระราชปุจฉา นอกจากความที่ปรากฎในพระสูตร ว่ามีพระเจ้าแผ่นดินบางพระองค์ไปทูลถามข้ออรรถธรรมแก่สมเด็จพระภูมีพระภาคเจ้า กับหนังสือเรื่องมิลินทปัณหาซึ่งปรากฎว่าพระเจ้ามิลินท์ทรงซักไซร้พระนาคเสนด้วยข้ออรรถธรรมต่างๆ เปนอย่างวิจิตรพิศดาร ว่าในส่วนสยามประเทศนี้ ประเพณีพระราชปุจฉา มีปรากฎมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยายังเปนราชธานี ยังมีหนังสือพระราชปุจฉาแลข้อความที่พระสงฆ์ถวายวิสัชนาอยู่หลายเรื่อง มาถึงชั้นกรุงรัตนโกสินทร์ปรากฎว่าพระราชปุจฉามีเมื่อรัชกาลที่ ๑ มากกว่ารัชกาลอื่นๆ แต่ที่หอพระสมุด ฯ รวบรวมหาฉบับได้ถึง ๓๙ เรื่อง

เหตุที่มีพระราชปุจฉาเมื่อรัชกาลที่ ๑ มากกว่ารัชกาลอื่น ๆ นั้น เข้าใจว่าเปนเพราะเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าข้าศึก พระไตรปิฎกและสงฆมณฑลเปนอันตรายไปเสียมาก ในครั้งกรุงธนบุรีต้องเสาะแสวงหาพระไตรปิฎกแลพระภิกษุทรงธรรมวินัยแต่หัวเมืองน้อยใหญ่มารวบรวมเปนหลักในฝ่ายพระพุทธจักรขึ้นใหม่ หนังสือพระไตรปิฎกก็ดี ความรอบรู้พระธรรมวินัยของพระภิกษุสงฆ์ซึ่งเปนพระราชาคณะขึ้นชั้นนั้นก็ดี ยังบกพร่องอยู่มาก ซ้ำมาเกิดจลาจลขึ้นในสงฆมณฑล เมื่อชั้นปลายสมัยกรุงธนบุรีเปนราชธานี ถึงรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จ ฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงต้องทรงขวนขวายทำนุบำรุงพระพุทธจักร ซึ่งเศร้าหมองด้วยเหตุต่างๆ ดังกล่าวมา ในส่วนคัมภีร์พระธรรมวินัยทรงพยายามทำสังคายนาและสร้างพระไตรปิฎกขึ้นทั้งฉบับหลวง และพระราชทานอนุญาตให้ลอกคัดไปไว้สำหรับพระภิกษุสงฆ์เล่าเรียนในพระอารามทั้งปวงอิกหลายฉบับ คงเกิดแต่มีพระราชประสงฆ์จะให้พระราชาคณะเอาใจใส่ตรวจตราพระไตรปิฎกให้มีความรู้แตกฉานในพระธรรมวินัย จึงได้มีพระราชปุจฉาในข้ออรรถธรรมต่าง ๆ ให้พระราชาคณะถวายวิสัชนา เพราะการที่จะถวายวิสัชนาจำต้องค้นหาหลักเปนที่อ้างในคัมภีร์ต่างๆ ซึ่งรวบรวมอยู่ในพระไตรปิฎก และจำต้องเอาใจใส่อ่านพระไตรปิฎกจึงจะถวายวิสัชนาได้สดวก ถ้าไม่มีพระราชปุจฉา พระราชาคณะก็จะอ่านพระไตรปิฎกน้อยลง จึงได้มีพระราชปุจฉาบ่อยๆ

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลหลังๆ ก็ทรงประพฤติตามแบบอย่างครั้งรัชกาลที่ ๑ ต่อมา แต่หนังสือพระราชปุจฉาฉบับกระจัดกระจาย ทราบจำนวนไม่ได้แน่ว่าจะมีในรัชกาลไหนเท่าใด หอพระสมุด ฯ มีแต่ฉบับซึ่งรวบรวมหาได้มาแต่ที่ต่างๆ พระราชปุจฉาครั้งรัชกาลที่ ๒ ยังไม่พบฉบับเลย แต่พระราชปุจฉาครั้งรัชกาลที่ ๓ พบ ๑๑ เรื่อง พระราชปุจฉาครั้งรัชกาลที่ ๔ พบแต่ตัวพระราชปุจฉาเรื่อง ๑ แต่หาพบวิสัชนาไม่ เข้าใจว่าในรัชกาลที่ ๔ จะไม่ใคร่มีพระราชปุจฉานัก เพราะการเล่าเรียนพระไตรปิฎกเฟื่องฟูมาแต่ครั้งพระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชอยู่ในรัชกาลที่ ๓ เหตุที่จะทรงพระปริวิตกว่าพระราชาคณะไม่เอาใจใส่ศึกษาพระไตรปิฎกไม่มีอย่างเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๑ ส่วนพระองค์ก็ทรงทราบแตกฉานในพระไตรปิฎกจะหาผู้เสมอเหมือนมิได้ จึงปรากฎเปนพระบรมราชาธิบายเสียเองโดยมาก มาในรัชกาลที่ ๕ ปรากฎพระราชปุจฉาแต่ ๒ เรื่อง ดูเหมือนเปนแต่การที่จะทรงรักษาราชประเพณีซึ่งเคยมีมาแต่ก่อนให้คงอยู่

หนังสือพระราชปุจฉาแลวิสัชนาเปนหนังสือที่น่าอ่านทุก ๆ เรื่อง เพราะพระราชปุจฉาย่อมเกิดแต่เรื่องความสงไสยในข้ออรรถธรรม ฝ่ายวิสัชนาก็อธิบายโดยประสงค์จะให้แลเห็นว่าความที่ถูกต้องเปนเช่นนั้น ๆ อาไศรยหลักฐานอย่างนั้นๆ เปนที่อ้าง จึงควรเปนเครื่องประดับสติปัญญาของผู้อ่านไม่เลือกน่า

…………..

ดูก่อนภราดา!

: บางคนไม่กล้าถาม เพราะกลัวจะถูกหาว่าโง่

: บางคนกลัวโง่จึงกล้าถาม

อาจเป็นรูปภาพของ หนึ่งคนขึ้นไป และข้อความพูดว่า "ประชุมพระราชปุจฉา ภาค ภาคที่ ๑"

#บาลีวันละคำ (3,215)

1-4-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย