บาลีวันละคำ

คิลานเภสัช (บาลีวันละคำ 3,218)

คิลานเภสัช

คำวัดๆ ที่ควรรู้

อ่านว่า คิ-ลา-นะ-เพ-สัด

ประกอบด้วยคำว่า คิลาน + เภสัช

(๑) “คิลาน

อ่านว่า คิ-ลา-นะ รากศัพท์มาจาก –

(1) คิลา (ธาตุ = หมดความสนุก) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: คิลา + ยุ > อน = คิลาน แปลตามศัพท์ว่า “ผู้หมดความสนุก

(2) คิลฺ (ธาตุ = ลำบาก) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), ทีฆะ อะ ที่ (คิ)-ลฺ เป็น อา (คิลฺ > คิลา)

: คิลฺ + ยุ > อน = คิลน > คิลาน แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ลำบาก

คิลาน” ใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง ป่วย, เจ็บไข้ (sick, ill)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

คิลาน-, คิลานะ : (คำนาม) คนเจ็บ. (ป.).”

(๒) “เภสัช

บาลีเป็น “เภสชฺช” (เพ-สัด-ชะ) รากศัพท์มาจาก ภิสช + ณฺย ปัจจัย

(ก) “ภิสช” (พิ-สะ-ชะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) ภิสฺ (ธาตุ = เยียวยา) + ปัจจัย

: ภิสฺ + = ภิสช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เยียวยา

(2) วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + สชฺ (ธาตุ = แจกแจง) + (อะ) ปัจจัย, แปลง วิ เป็น ภิ

: วิ + สชฺ = วิสชฺ + = วิสช > ภิสช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้คลี่คลายโรค

ภิสช” (ปุงลิงค์) หมายถึง หมอยา, แพทย์ (a physician)

(ข) ภิสช + ณฺย ปัจจัย, แผลง อิ ที่ ภิ-(สช) เป็น เอ (ภิสช > เภสช), แปลง กับ ณฺย เป็น ชฺช

: ภิสช + ณฺย = ภิสชณฺย > เภสชณฺย > เภสชฺช (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งแก้หรือป้องกันโรคของหมอ” (สิ่งที่หมอใช้แก้หรือป้องกันโรค) หมายถึง โอสถหรือของแก้, เภสัช, ยา (a remedy, medicament, medicine)

บาลี “เภสชฺช” ภาษาไทยใช้เป็น “เภสัช” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

เภสัช, เภสัช– : (คำนาม) ยาแก้โรค. (ป. เภสชฺช; ส. ไภษชฺย).”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “เภสัช” ไว้ดังนี้ –

เภสัช : ยา, ยารักษาโรค, ยาแก้โรค เป็นอย่างหนึ่งในปัจจัย ๔, เภสัช ๕ ที่เป็นสัตตาหกาลิก รับไว้ฉันได้ตลอด ๗ วัน คือ ๑. สัปปิ เนยใส ๒. นวนีตะ เนยข้น ๓. เตละ น้ำมัน ๔. มธุ น้ำผึ้ง ๕. ผาณิต น้ำอ้อย; ส่วนยาแก้โรคที่ทำจากรากไม้ เปลือกไม้ ใบไม้ เป็นต้น จัดเป็น ยาวชีวิก คือรับประเคนไว้แล้วเก็บไว้ฉันได้ตลอดชีวิต.”

คิลาน + เภสชฺช = คิลานเภสชฺช (คิ-ลา-นะ-เพ-สัด-ชะ) แปลว่า “ยาเพื่อผู้ป่วย” หมายถึง ยา (medicine)

บาลี “คิลานเภสชฺช” ในภาษาไทยใช้เป็น “คิลานเภสัช” (คิ-ลา-นะ-เพ-สัด) ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

คิลานเภสัช : (คำนาม) ยารักษาโรค. (ป. คิลาน + เภสชฺช).”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายของ “คิลานเภสัช” ไว้ดังนี้ –

คิลานเภสัช : ยาสำหรับผู้เจ็บไข้, ยารักษาผู้ป่วย, เภสัชเพื่อภิกษุอาพาธ.”

แถม :

ปัจจัยเครื่องอาศัยดำรงชีพตามวิถีชีวิตสงฆ์ มี 4 อย่างดังที่เรารู้กัน แต่คำบาลีที่ใช้เรียกชื่อปัจจัยแต่ละชนิดคนรุ่นใหม่อาจจะไม่คุ้นตา ขอนำมาแถมไว้เป็นอลังการแห่งความรู้ดังนี้ –

อาหาร คำบาลีเรียกว่า “ปิณฺฑปาต” (ปิน-ดะ-ปา-ตะ) ภาษาไทยว่า “บิณฑบาต” (บิน-ทะ-บาด)

เครื่องนุ่งห่ม คำบาลีเรียกว่า “จีวร” (จี-วะ-ระ) ภาษาไทยว่า “จีวร” (จี-วอน)

ที่อยู่อาศัย คำบาลีเรียกว่า “เสนาสน” (เส-นา-สะ-นะ) ภาษาไทยว่า “เสนาสนะ” (เส-นา-สะ-นะ)

ยารักษาโรค คำบาลีเรียกว่า “คิลานปจฺจยเภสชฺชปริกฺขาร” (คิ-ลา-นะ-ปัด-จะ-ยะ-เพ-สัด-ชะ-ปะ-ริก-ขา-ระ) หรือเรียกสั้นๆ ว่า “คิลานเภสชฺช” (คิ-ลา-นะ-เพ-สัด-ชะ) ภาษาไทยว่า “คิลานเภสัช” (คิ-ลา-นะ-เพ-สัด)

คำว่า “คิลานปจฺจยเภสชฺชปริกฺขาร” นั้น ถ้าใช้เป็นคำไทยก็ว่า “คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร” แปลว่า หยูกยาเครื่องเกื้อหนุนรักษาผู้เจ็บไข้ อันเป็นบริขาร คือเครื่องปกป้องชีวิตไว้ช่วยปรับเสริมให้ชีวิตเป็นไปได้ยืนยาว (คำแปลจากพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต)

แต่เพราะยาวเกินไปจึงไม่มีใครใช้เต็มๆ มีแต่ตัดเป็น “คิลานปัจจัย” (คิ-ลา-นะ-ปัด-ไจ) ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำนี้ไว้ บอกความหมายว่า “ปัจจัยสําหรับคนไข้, วัตถุเป็นเครื่องอาศัยของผู้เจ็บไข้, ยารักษาโรค”

ส่วนคำท่อนหลัง “เภสัชบริขาร” (เพ-สัด-ชะ-บอ-ริ-ขาน) ยังไม่มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฯ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คนป่วยและญาติจำเป็นต้องซื้อชีวิต

: แต่หมอและโรงพยาบาลไม่จำเป็นต้องขายคุณธรรม

อาจเป็นรูปภาพของ อาหาร และสถานที่ในร่ม

#บาลีวันละคำ (3,218)

4-4-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย