บาลีวันละคำ

มัจฉา (บาลีวันละคำ 3,222)

บาลีว่า “มจฺโฉ

มัจฉา” อ่านว่า มัด-ฉา เป็นคำที่คุ้นปากคนไทย แต่เชื่อหรือไม่ คำนี้บาลีเป็น “มจฺโฉ” (มัด-โฉ)

ที่ว่าบาลีเป็น “มจฺโฉ” นั้น ต้องเข้าใจต่อไปด้วยว่า คำนี้ศัพท์เดิมในบาลีเป็น “มจฺฉ” (มัด-ฉะ) ไม่ใช่ทั้ง “มจฺฉา” หรือ “มจฺโฉ

มจฺฉ” รากศัพท์มาจาก –

(1) มสฺ (ธาตุ = สัมผัส) + (ฉะ) ปัจจัย, แปลง สฺ ที่ (ม)-สฺ เป็น จฺ (มสฺ > มจฺ)

: มสฺ + = มสฺฉ > มจฺฉ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ต้องสัมผัสน้ำ

(2) มรฺ (ธาตุ = ตาย) + (ฉะ) ปัจจัย, แปลง รฺ ที่ (ม)-รฺ เป็น จฺ (มรฺ > มจฺ)

: มรฺ + = มรฺฉ > มจฺฉ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ที่จะตายเมื่ออยู่บนบก

มจฺฉ” (ปุงลิงค์) หมายถึง ปลา (fish)

มจฺฉ” เป็นปุงลิงค์ แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์

เปลี่ยนรูปเป็น “มจฺโฉ” (มัด-โฉ)

มจฺโฉ” จึงเป็นรูปแจกสามัญของ “มจฺฉ” หมายความว่า พอจะเริ่มสูตรการแจกวิภัตติ “มจฺฉ” จะเปลี่ยนรูปเป็น “มจฺโฉ” ก่อน ต่อจากนั้นจึงเป็น “มจฺฉา” “มจฺฉํ” “มจฺเฉ” ตามลำดับวิภัตติ และวจนะ (พจน์) ต่อไป ทำนองเดียวกับที่นักเรียนบาลีท่องแบบแจก “ปุริส” ซึ่งเป็น อะ-การันต์ในปุงลิงค์เช่นเดียวกัน ก็จะท่องว่า ปุริโส ปุริสา ปุริสํ ปุริเส …

นี่คือคำอธิบายที่บอกว่า ไทยเราคุ้นกับ “มัจฉา” แต่คำนี้บาลีเป็น “มจฺโฉ

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มัจฉะ, มัจฉา : (คำนาม) ปลา. (ป. มจฺฉ; ส. มตฺสฺย).”

อภิปรายขยายความ :

มักมีปัญหาถกเถียงกันในหมู่ผู้นับถือศาสนาว่า การกินเนื้อสัตว์ผิดหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาหรือไม่

ผู้เขียนบาลีวันละคำไม่มีความประสงค์จะร่วมถกเถียงด้วย แต่เมื่อได้ยินคำถกเถียงทีไรก็มักจะนึกถึงคำบาลีในพระปาติโมกข์ที่ได้ฟังสมัยเป็นพระ และยังได้ยินติดหูมาจนถึงบัดนี้ ตรงที่ว่า “มจฺโฉ  มํสํ  ขีรํ  ทธิ

ขอยกข้อความเต็มๆ ในพระบาลีมาเสนอไว้ในที่นี้ ดังนี้

…………..

ยานิ  โข  ปน  ตานิ  ปณีตโภชนานิ  เสยฺยถีทํ  สปฺปิ  นวนีตํ  เตลํ  มธุ  ผาณิตํ  มจฺโฉ  มํสํ  ขีรํ  ทธิ.  โย  ปน  ภิกฺขุ  เอวรูปานิ  ปณีตโภชนานิ  อตฺตโน  อตฺถาย วิญฺญาเปตฺวา  ภุญฺเชยฺย  ปาจิตฺติยนฺติ.

ที่มา: วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๒ พระไตรปิฎกเล่ม ๒ ข้อ ๕๑๖

…………..

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงถอดความไว้ในหนังสือ “นวโกวาท” ว่า –

…………..

ภิกษุขอโภชนะอันประณีต คือ ข้าวสุกระคนด้วยเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ปลา เนื้อ นมสด นมส้ม ต่อคฤหัสถ์ที่ไม่ใช่ญาติไม่ใช่ปวารณาเอามาฉัน ต้องปาจิตตีย์.

…………..

ท่านผู้สนใจไม่พึงหยุดอยู่แค่นี้ แต่ควรศึกษาให้ละเอียดต่อไปอีก ก็จะได้ความความรู้เพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องไปถกเถียงกับใคร

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าปฏิบัติธรรมให้ถูกวิธี

: ปัญหาว่ากินอะไรดีก็จะแจ่มแจ้งด้วยตัวเอง

#บาลีวันละคำ (3,222)

8-4-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *