บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความเรื่อง ความแล้งน้ำใจกับปัญหาทางจริยธรรม

ความแล้งน้ำใจกับปัญหาทางจริยธรรม (๑)

นำร่อง

——-

เรื่อง “ความแล้งน้ำใจกับปัญหาทางจริยธรรม” ที่ญาติมิตรจะได้อ่านต่อไปนี้ผมเขียนไว้ตั้ง ๑๐ ปีมาแล้ว ต้นฉบับยาวกว่า ๒๐ หน้ากระดาษ A4 ถ้าโพสต์ทีเดียวทั้งเรื่องก็คงอ่านกันไม่ไหว จึงจำเป็นต้องแบ่งเป็นตอนๆ

แต่แบ่งเป็นตอนๆ ก็มีข้อเสีย คืออ่านจบเฉพาะตอนแล้วก็อาจจับประเด็นไม่ได้ว่าจะสื่อเรื่องอะไร เพราะฉะนั้นก็ต้องขอแรงญาติมิตรติดตามอ่านแต่ละตอนแล้วก็พยายามปะติดปะต่อแนวคิดให้ได้ เมื่ออ่านจนจบทั้งเรื่องก็คงพอมองเห็นประเด็นที่ต้องการนำเสนอ

……………………..

ถ้าท่านไปพบคนที่ไม่มีญาติพี่น้องอยู่ในที่นั้น แต่เขาเกิดเจ็บป่วย เป็นลม หรือประสบอุบัติเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งเข้ากลางถนนหนทาง และสมมุติว่าท่านเป็นคนธรรมดาที่พอจะทำอย่างใดอย่างหนึ่งได้ตามวิสัยของคนธรรมดาคนหนึ่ง ท่านจะคิดอย่างไรและจะทำอย่างไร?

ปัญหาที่ท่านจะต้องคิดมีอยู่ ๓ ทาง

๑ ค่าใช้จ่าย เช่นค่ารถราพาหนะ และค่าอะไรๆ ที่คาดคิดไม่ถึงอีกที่จะตามมา รวมทั้งค่าเสียเวลาด้วย ซึ่งอาจจะเรียกรวมๆ ว่าเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ

๒ ความมีน้ำใจหรือความแล้งน้ำใจ ซึ่งควรเรียกว่าเป็นปัญหาทางจริยธรรม หรือมนุษยธรรม

๓ หากเกิดผลที่ไม่พึงประสงค์ตามมาจะด้วยเหตุใดๆ ก็ตาม ใครจะรับผิดชอบ ซึ่งคงจะพอเรียกได้ว่าเป็นปัญหาความรับผิดชอบ

สรุปว่ามีปัญหาที่จะต้องคิด ๓ เรื่อง คือ ปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาทางจริยธรรมหรือมนุษยธรรม และปัญหาความรับผิดชอบ ท่านจะคิดอย่างไรและจะทำอย่างไร?

……………………..

ผมเคยประมวล “ความวิปริตของสังคม” (ตามทัศนะของผม) ไว้ ๑๐ เรื่อง ตอนนี้ยังค้นต้นฉบับไม่เจอว่า ทั้ง ๑๐ เรื่องนั้นมีอะไรบ้าง แต่มีเรื่องหนึ่งที่ผมบันทึกเอาไว้ คือเรื่องที่ท่านจะได้อ่านต่อไปนี้

ความวิปริตของสังคมที่ผมบันทึกไว้นี้เป็นเรื่องสุดท้าย คือเรื่องความเห็นที่ว่า “ญาติพี่น้องของใครก็ต้องรับผิดชอบกันเอง” ช่วงนั้นผมจัดรายการ “คุยกับคนข้างวัด” ออกอากาศทางสถานีวิทยุของวิทยาลัยเทคนิคราชบุรี ผมนำเรื่องที่เกิดขึ้นเรื่องหนึ่งไปเล่าในรายการ

เรื่องก็คือในวันพระหนึ่ง (วันจันทร์ที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๑๒) ระหว่างที่ผู้ที่ถืออุโบสถนอนค้างวัดที่วัดมหาธาตุราชบุรี กำลังจะฟังเทศน์ตอนหัวค่ำอันเป็นกิจวัตรประจำวันอุโบสถตามปกติ ผู้ถืออุโบสถท่านหนึ่งก็เกิดเป็นลมหมดสติ

ผมได้เล่าในรายการ “คุยกับคนข้างวัด” ด้วยว่า สมาชิกผู้ถืออุโบสถก็ได้ช่วยกันปฐมพยาบาลเท่าที่จะช่วยกันได้ พร้อมกันนั้นก็ได้โทรศัพท์แจ้งญาติให้รีบมาดู โดยที่ไม่มีใครคิดที่จะพาคนเป็นลมไปส่งโรงพยาบาล

ผมได้เล่าย้ำด้วยว่า ผมเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในเหตุการณ์ด้วย และเป็นคนเดียวที่มีรถสี่ล้อซึ่งสามารถจะใช้เป็นพาหนะนำคนป่วยไปส่งโรงพยาบาลได้สะดวก คนอื่นๆ มีแต่รถชนิดสองล้อซึ่งย่อมจะไม่สามารถพาคนป่วยไปได้สะดวกอย่างแน่นอน แต่ผมก็ไม่ได้เสนอตัวที่จะนำคนป่วยไปส่งโรงพยาบาล หากแต่ว่ากลับเป็นคนหนึ่งที่โทรแจ้งญาติของผู้ป่วย

เรื่องนี้จบลงด้วยดี คือผู้ป่วยฟื้นคืนสติและปลอดภัยหลังจากผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ คือคณะผู้ถืออุโบสถช่วยกันบีบนวดปฐมพยาบาลเท่าที่จะสามารถทำได้ การฟังเทศน์ก็สามารถดำเนินต่อไปได้ตามปกติ เพียงแต่ล่าช้าไปเล็กน้อย

ผมได้เล่าต่อไปว่า ผมนำเหตุการณ์นี้ไปเล่าให้ท่านผู้หนึ่งฟัง ผมแสดงความเห็นต่อการกระทำของตัวผมเองว่า การที่ไม่พาผู้ป่วยไปส่งโรงพยาบาลทั้งๆ ที่สามารถจะทำได้นั้น เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง

แต่ปรากฏว่าท่านผู้ที่ผมเล่าเรื่องให้ฟังนั้นท่านบอกว่า การที่ไม่พาผู้ป่วยไปส่งโรงพยาบาล แต่แจ้งญาติของผู้ป่วยนั้น เป็นการกระทำที่ถูกต้องแล้ว เหตุผลของท่านมีอยู่เพียงประการเดียวคือ ญาติพี่น้องของใครก็ต้องรับผิดชอบกันเอง

ผมฟังเหตุผลนั้นแล้วก็ไม่เห็นด้วย ผมกลับเห็นว่าความคิดแบบนั้นเป็นความวิปริตอย่างหนึ่ง อย่างน้อยก็วิปริตไปจากวัฒนธรรมที่ดีของสังคมไทย ผมได้ยกบทพระราชนิพนธ์ของล้นเกล้ารัชกาลที่ ๖ มายืนยันว่า –

เป็นธรรมเนียมไทยแท้แต่โบราณ

ใครมาถึงเรือนชานต้องต้อนรับ

แม้บทพระราชนิพนธ์จะไม่ได้บอกว่า เป็นธรรมเนียมไทยแท้แต่โบราณ ใครเจ็บป่วยจะวายปราณต้องช่วยรักษา อะไรทำนองนั้น แต่ก็ถือได้ว่าเป็นเรื่องทำนองเดียวกัน การต้อนรับขับสู้เลี้ยงดูด้วยข้าวปลาอาหารเรายังถือว่าเป็นธรรมเนียมไทยแท้ แล้วนี่คนเจ็บป่วยนอนอยู่ต่อหน้า สำคัญกว่าเรื่องข้าวปลาอาหารเป็นไหนๆ เราจะละเลยได้อย่างไร

(ยังมีต่อ)

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๗ มีนาคม ๒๕๖๔

๑๘:๕๐

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *