บาลีวันละคำ

ศัสตราหรณ์ (บาลีวันละคำ 3,236)

ศัสตราหรณ์

ฝากไว้ในวงวรรณอีกคำหนึ่ง

อ่านว่า สัด-ตฺรา-หอน

ประกอบด้วยคำว่า ศัสตร + อาหรณ์

(๑) “ศัสตร

เป็นรูปคำสันสกฤต บาลีเป็น “สตฺถ” (สัด-ถะ) รากศัพท์มาจาก สสฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + ปัจจัย, แปลง สฺ ที่ (ส)-สฺ เป็น ตฺ

: สสฺ + = สสฺถ > สตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “วัตถุเป็นเครื่องเบียดเบียนสัตว์” หมายถึง ศัสตรา, ดาบ, มีด, อาวุธ (a weapon, sword, knife)

บาลี “สตฺถ” สันสกฤตเป็น “ศสฺตฺร

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า

(สะกดตามต้นฉบับ)

ศสฺตฺร : (คำนาม) ‘ศัสตระ,’ อายุธ, อาวุธทั่วไป; เหล็ก; เหล็กกล้า; ดาพ, กระบี่; มีด, พร้า; a weapon in general, iron; steel; a sword; a knife.”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ศัสตร– : (คำนาม) ศัสตรา, ของมีคมเป็นเครื่องฟันแทง. (ส.).”

สตฺถ” ยังมีความหมายอย่างอื่นอีก ศึกษาต่อไปอีกเล็กน้อย

(1) “สตฺถ” มาจาก สรฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ปัจจัย แปลง รฺ เป็น ตฺ

: สรฺ + = สรฺถ > สตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “หมู่เป็นที่เป็นไปแห่งส่วนย่อยทั้งหลาย” ความหมายนี้ตรงกับสันสกฤตว่า “สารฺถ” หมายถึง กองเกวียนของพ่อค้า, กองคาราวาน, ขบวนยานพาหนะ (caravan)

(2) “สตฺถ” มาจาก สาสฺ (ธาตุ = สอน) + ปัจจัย, รัสสะ (หดเสียง) อา ที่ สา-(สฺ) เป็น อะ (สาสฺ > สสฺ), แปลง สฺ เป็น ตฺ

: สาสฺ + = สาสฺถ > สสฺถ > สตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องสอนเนื้อความ” ความหมายนี้ตรงกับสันสกฤตว่า “ศาสฺตฺร” หมายถึง คัมภีร์, ตำรา, ศิลปะ, วิชา หรือ ระบบวิชาความรู้. ใช้ในภาษาไทยว่า “ศาสตร์” (science, art, lore)

ในคำว่า “ศัสตราหรณ์” นี้ “สตฺถ” แปลว่า “ของมีคม” ความหมายรวมๆ คือ อาวุธ

(๒) “อาหรณ์

เขียนแบบบาลีเป็น “อาหรณ” (อา-หะ-ระ-นะ) รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค =ทั่วไป, ยิ่ง; กลับความ) + หรฺ (ธาตุ = นำไป) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แล้วแปลง เป็น

: อา + หรฺ = อาหรฺ + ยุ > อน = อาหรน > อาหรณ แปลตามศัพท์ว่า “การนำมา” หมายถึง การนำมา, การถือมา, การพามา (taking, taking up, taking hold of)

กฎไวยากรณ์น่ารู้ :

(1) อา-อุปสรรค ในที่นี้ใช้ในความหมาย “กลับความ” กล่าวคือ หรฺ ธาตุ แปลว่า (สำนวนบาลีไวยากรณ์พูดว่า “เป็นไปในอรรถว่า”) “นำไป” เมื่อมี “อา” นำหน้า เป็น “อาหร” จาก “นำไป” กลับความเป็น “นำมา

(2) ยุ ปัจจัย แปลงเป็น อน (อะ-นะ) เสมอ

(3) ถ้าที่สุดธาตุเป็น –รฺ เช่น กรฺ (ทำ) สรฺ (ระลึก) หรฺ (นำไป) เมื่อแปลง ยุ เป็น อน แล้วมักแปลง – ( หนู) เป็น – ( เณร)

: กรฺ + ยุ > อน = กรน > กรณ = การกระทำ

: สรฺ + ยุ > อน = สรน > สรณ = การระลึก

: หรฺ + ยุ > อน = หรน > หรณ = การนำไป

สตฺถ + อาหรณ = สตฺถาหรณ (สัด-ถา-หะ-ระ-นะ) แปลว่า “การนำมาซึ่งศัสตรา

สตฺถาหรณ” เขียนแบบไทยอิงสันสกฤตเป็น “ศัสตราหรณ์” อ่านแบบไทยว่า สัด-ตฺรา-หอน

ขยายความ :

สตฺถาหรณ” แปลงรูปมาจากประโยคว่า “สตฺถํ อาหรติ” แปลตามศัพท์ว่า “ย่อมนำมาซึ่งศัสตรา

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สตฺถํ อาหรติ” เป็นอังกฤษว่า to stab oneself (แทงตนเอง)

สตฺถํ อาหรติ” หรือ “สตฺถาหรณ” หรือแปลงรูปเป็นคำไทยว่า “ศัสตราหรณ์” ความหมายในบาลีคือ ฆ่าตัวตายด้วยการเชือดคอตัวเอง

ในคัมภีร์บาลี ถ้าพบประโยคข้อความว่า “สตฺถํ อาหรติ” ความหมายในสำนวนบาลีไม่ใช่เพียงแค่ “ย่อมนำมาซึ่งศัสตรา” ตามตัวอักษรเท่านั้น หากแต่หมายถึง “เชือดคอตัวเอง” หรือฆ่าตัวตาย

ฆ่าตัวตาย คำอังกฤษว่า suicide

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล suicide เป็นบาลีดังนี้:

(1) attvadha อตฺตวธ (อัด-ตะ-วะ-ทะ) = การฆ่าตัวเอง

(2) attaghātī อตฺตฆาตี (อัด-ตะ-คา-ตี) = การฆ่าตัวเอง

ศัสตราหรณ์” เป็นคำที่ผู้เขียนบาลีวันละคำปรุงขึ้นจาก “สตฺถํ อาหรติ” เป็นคำที่ยังไม่มีใครรู้จัก ขอเสนอไว้ในวงวรรณอีกคำหนึ่งเข้าคู่กับคำที่หมายถึง “ฆ่าตัวตาย” ที่เคยรู้จักกันดีคือ “อัตวินิบาตกรรม” แต่เวลานี้กลายเป็นภาษาเขียนไปแล้ว คือไม่มีใครเอามาพูดกัน แม้แต่เขียนก็อาจจะไม่มีใครใช้ เพราะฟังดูเป็นคำรุ่มร่ามสำหรับคนรุ่นใหม่

ถ้าไม่รู้จัก “อัตวินิบาตกรรม

ขอให้นึกถึงคำ “ศัสตราหรณ์” (สัด-ตฺรา-หอน)

อย่าเพิ่งรังเกียจว่าเสียงฟังดูพิลึก ขอนึกถึงคำว่า อุทาหรณ์ สังหรณ์ ซึ่งพยางค์ท้ายรูปคำเหมือนกัน

มี “ศัสตราหรณ์” อีกสักคำจะเป็นไรไป

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คนฆ่าตัวตายมักถูกตำหนิว่าเป็นคนบ้า

: แต่คนบ้ามักไม่ฆ่าตัวตาย

#บาลีวันละคำ (3,236)

22-4-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *