บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความเรื่อง ถ้าแฟนคุณเป็นคนแบบนี้

ถ้าแฟนคุณเป็นคนแบบนี้ (สรุป)

—————————

คุณจะทำแบบไหน

…………

(๑)

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/1587656481328083

(๒)

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/1588548511238880

(๓)

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/1589756251118106

…………

ผมเขียนเรื่องชุดนี้มา ๓ ตอน ก็คิดว่าคงพอแล้วที่คุณๆ หรือแฟนคุณๆ จะได้นั่งลงแล้วคิดอะไรๆ ได้กันบ้าง-โดยเฉพาะจะได้ถามตัวเองว่า แฟนเรา-หรือเราเองนี่แหละเป็นคนแบบนั้นหรือเปล่า

ถ้าเป็น จะทำแบบไหนดี

มีญาติมิตรหลายท่านเข้าใจว่า ผม-ผู้เขียน-คงจะได้เจอเรื่องแบบนี้กับตัวเองมาแล้ว จึงเอามาเขียนได้

ผมว่าเคยเจอหรือไม่เคยเจอ ไม่ใช่ประเด็น

ประเด็นอยู่ที่-ถ้าเจอแบบนี้จะทำอย่างไร-นั่นต่างหาก

ผมบอกได้แต่เพียงว่า เรื่องแบบนี้-ถ้าสมมุตติว่าผมเจอหรือเคยเจอ-ไม่เป็นปัญหาสำหรับผมเลย เพราะผมมีวิธีคิด

วิธีคิดของผมก็คือ-จงตั้งเงื่อนไขให้น้อยที่สุด

ยิ่งตั้งเงื่อนไขมาก ยิ่งเรื่องมาก

ตั้งเงื่อนไขน้อยเท่าไร เรื่องก็น้อยลงเท่านั้น

นั่นก็คือ-อย่าไปตั้งเงื่อนไขว่า แฟนเราจะต้องเป็นแบบนั้นๆ จะต้องไม่เป็นแบบนี้ๆ

หลักของการครองคู่-ตามวิธีคิดของผม-ก็คือ ชีวิตคู่เหมือนอะไรสักอย่างที่ดำรงอยู่ได้ด้วยส่วนประกอบเท่ากับ ๑๐๐

เกิน ๑๐๐ พัง

ต่ำกว่า ๑๐๐ ก็พัง

ส่วนประกอบ ๑๐๐ นี้ ถ้าคน ๒ คนเฉลี่ยกันอย่างยุติธรรม ก็คือคนละ ๕๐

สมมุติว่า ๑๐๐ ที่ว่านี้คือ “สิทธิ” หรือความต้องการ

คุณมีสิทธิ์ต้องการได้ ๕๐

แฟนคุณก็ ๕๐

รวมกันเป็น ๑๐๐ พอดี

ชีวิตคู่ดำรงอยู่และดำเนินไปได้สบายๆ

ทีนี้ ถ้าเกิดแฟนคุณต้องการเกิน ๕๐ และถ้าคุณก็ยังคงความต้องการไว้ที่ ๕๐ ตามสิทธิแห่งอัตราส่วนของคุณ

ส่วนประกอบก็จะเกิน ๑๐๐

พังละสิ จะอะไรเสียอีกล่ะ

ระหว่างการบอกแฟนคุณให้ลดความต้องการลง กับการที่คุณยอมลดความต้องการของตัวเองลงเสียเอง อย่างไหนทำง่ายกว่ากัน

แต่ที่แน่ๆ ถ้าคุณต้องการดำรงชีวิตคู่ไว้ คุณก็ต้องลดความต้องการของตัวเองลงก่อน-ถือว่าเป็นกรณีฉุกเฉินก็ได้-แล้วค่อยหาวิธีการที่ยั่งยืนถาวรต่อไป

แล้วทีนี้ ถ้าเกิดแฟนคุณใช้โควตาของคุณไปเรื่อยๆ (ซึ่งตามสถิติแล้วมีโอกาสที่จะเป็นเช่นนั้นได้มากถึงมากที่สุด) คุณก็จะต้องลดความต้องการอันเป็นโควตาของคุณลงไปเรื่อยๆ

จากเกณฑ์มาตรฐานเดิม ๕๐-๕๐

อาจเป็น ๔๐-๖๐

๓๐-๗๐

๒๐-๘๐

เป็นปฏิภาคผกผันไปเรื่อยๆ

อะไรจะเกิดขึ้นกับคุณ

คำถามที่ถูกต้องคือ-อะไรจะเกิดขึ้นกับชีวิตคู่ของคุณ

อย่าลืมว่าคุณยังไม่ได้ตอบคำถามข้างต้นของผม …

ระหว่างการบอกแฟนคุณให้ลดความต้องการลง กับการที่คุณยอมลดความต้องการของตัวเองลงเสียเอง อย่างไหนทำง่ายกว่ากัน

….

จะเห็นได้แล้วว่า การไม่ตั้งเงื่อนไข-ตามวิธีคิดของผม-จะช่วยได้มาก

ถ้าคุณทำได้-ต่อให้แฟนคุณใช้โควตาคนเดียวเต็ม ๑๐๐ และนั่นแปลว่าความต้องการของคุณต้องเหลือ ๐ –

ถ้าคุณทำได้ คุณก็จะสามารถรักษาชีวิตคู่ไว้ได้

คุณคงอยากจะบอกว่า แบบนี้มันก็ไม่ยุติธรรมนะสิ

คุณคงเคยได้ยินปรัชญารักของคนเก่าๆ ที่ว่า “รักแท้คือการเสียสละ” มาบ้างแล้ว

เขาไม่ได้บอกว่า รักแท้คือความยุติธรรมสักหน่อย

คุณกำลังทำสิ่งที่ถูกต้องอยู่ต่างหากเล่า

ถ้าคุณตั้งอารมณ์ได้ตามหลักที่ผมว่า ยุติธรรมหรือไม่ยุติธรรมจะไม่มีความหมายอะไรเลย

แต่คุณต้องตั้งอารมณ์เป็นด้วย ไม่ใช่เพียงแต่ตั้งได้อย่างเดียว

“ตั้งอารมณ์ได้” มีความหมายเพียงแค่-คุณสามารถรักษาส่วนประกอบไม่ให้เกิน ๑๐๐ ไว้ได้ ชีวิตคู่ไม่พัง

แต่คุณอาจจะไม่มีความสุขเลย

หรืออาจถูกสิ่งที่เรียกกันว่า “ความเก็บกด” กดดันให้ไปหาทางออกในรูปแบบอื่นๆ ซึ่งไม่จำเป็นต้องบรรยายในที่นี้ว่าใครเคยทำอะไรกันมาบ้าง

แต่ถ้าคุณ “ตั้งอารมณ์เป็น” คุณจะก้าวข้ามปัญหาเหล่านั้นไปได้อย่างสบายๆ

ขอยกตัวอย่างง่ายๆ เพียงเรื่องเดียว เป็นเรื่องของผมเอง

คือ-ผมไม่ตั้งเงื่อนไขเรื่องอาหารการกิน

แฟนผมจะทำอะไรกิน หรือซื้อหาอะไรมากิน ก็เชิญตามสบาย ไม่ต้องมาคอยห่วงว่าผมกินอะไรได้ กินอะไรไม่ได้ หรือว่าผมชอบกินอะไร ไม่ชอบกินอะไร

ผมไม่เคยหน้าเบ้เมื่อเห็นอาหารบนโต๊ะ

มีอะไรอยู่ตรงหน้า ผมกินได้ทุกอย่าง ถือหลักของคนเก่าที่ว่า-อร่อยก็กินมากหน่อย ไม่อร่อยก็กินน้อยหน่อย

ตอนนี้ผมไม่มีฟันเคี้ยวอาหารเหมือนเมื่อก่อน-ซึ่งน่าจะเป็นปัญหา

แต่ก็ไม่เคยเป็นปัญหา

ผมกินข้าวได้เหมือนเดิมทุกมื้อ

กินอิ่ม กินอร่อยทุกมื้อ

หลักของผมก็คือ กินสิ่งที่กลืนได้โดยไม่เป็นอันตรายต่อกระเพาะ

ด้วยวิธีทำอาหารที่อยู่ตรงหน้าให้เป็นสิ่งที่กลืนได้

โดยไม่ตั้งเงื่อนไขเอากับแฟนว่า-ต้องไปเอานั่นนี่โน่นมาให้ผมแทนเพราะสิ่งที่อยู่ตรงหน้านี่ผมกินไม่ได้-อะไรทำนองนี้

นั่นคือผมตั้งเงื่อนไขความต้องการเกี่ยวกับการกินของผมไว้ที่ ๐

นั่นแปลว่าแฟนผมสามารถตั้งความต้องการเกี่ยวกับการกินของตัวเองได้เต็ม ๑๐๐

ชีวิตคู่ไม่มีทางพังเพราะปัญหาเรื่องกิน

เรื่องอื่นๆ ทุกเรื่อง ก็ใช้หลักการเดียวกันนี้

คนส่วนมากมักจะตั้งเงื่อนไข แล้วพอไม่ได้ตามเงื่อนไขก็มักจะ “เก็บ” เอาไว้

นานๆ เข้า มากๆ เข้า สิ่งนั้นมันก็จะมา “กด” คุณให้ปลิ้นออกไปทางใดทางหนึ่ง-ซึ่งไม่ใช่ทางที่พึงประสงค์

ด้วยวิธีเช่นนี้-คือวิธีที่ไม่ตั้งเงื่อนไขดังที่ผมยกตัวอย่างมา-คุณก็ไม่มีอะไรที่จะต้อง “เก็บ” ไว้ให้มันมา “กด” คุณได้เลย

ลดความต้องการส่วนตัวลงได้มากเท่าไร

ก็จะยิ่งมีความสุขได้ง่ายขึ้น และมากขึ้นเท่านั้น

——————-

ต่อไป ส่วนประกอบ ๑๐๐ ในแง่ความรับผิดชอบ ก็มีหลักการแบบเดียวกัน

๒ คน เฉลี่ยความรับผิดชอบคนละ ๕๐ ชีวิตคู่ก็อยู่รอด

ถ้าเกิดแฟนคุณลดความรับผิดชอบลงไป ไม่ถึง ๕๐ คุณก็ต้องเพิ่มความรับผิดชอบส่วนของคุณให้มากขึ้นเพื่อให้ส่วนประกอบยังคงเต็ม ๑๐๐

มิฉะนั้น พัง

ถ้าคุณไม่พร้อมที่จะเพิ่มความรับผิดชอบ โอกาสที่จะพังก็มีมาก

ตอนนี้คุณก็จับหลักการของชีวิตคู่ได้แล้ว

ลดความต้องการ

เพิ่มความรับผิดชอบ

ถ้าคุณยังอยากจะรู้สึกว่า-แบบนี้มันไม่ยุติธรรมเลย ก็อย่ากลัวเลยครับ

เพราะความเป็นจริงในชีวิตคู่นั้น ทุกคนต้องเป็นทั้ง “คุณ” และ “แฟนคุณ” ไปพร้อมๆ กัน

มองจากด้านคุณ เขาก็คือ “แฟนคุณ”

มองจากด้านเขา คุณก็คือ “แฟนเขา” ซึ่งก็อยู่ในฐานะเดียวกับ “แฟนคุณ” นั่นเอง

เพราะฉะนั้น อยากได้แฟนคุณแบบไหน

คุณจงเป็นแบบนั้นก่อน

ทีนี้ ไม่ว่าคุณจะเป็น “คุณ” หรือจะเป็น “แฟนคุณ” คุณก็จะได้คนที่คุณต้องการอย่างน้อยก็คนหนึ่งเสมอไป-นั่นคือตัวคุณเอง

แน่นอน ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า ในโลกนี้มีคู่ชนิด –

ผัวเทวดา + เมียผี

ผัวผี + เมียเทวดา

ผัวเทวดา + เมียเทวดา

ผัวผี + เมียผี

เพราะฉะนั้น ก็ต้องยอมรับความจริงที่อาจจะเป็นได้ว่า คุณปรับปรุงตัวคุณเองทุกอย่าง แต่แฟนคุณไม่ยอมปรับปรุงอะไรเลย

แต่ถ้าคำกล่าวที่ว่า-ไม่มีใครสมบูรณ์พร้อมทุกอย่าง-เป็นความจริง

คำกล่าวที่ว่า-ไม่มีใครบกพร่องไปเสียทุกอย่าง-ก็ต้องเป็นความจริงด้วย

นั่นคือ ไม่ว่าจะอย่างไร แฟนคุณก็ต้องมีข้อดีอะไรสักอย่าง หรือหลายอย่าง ที่คุณสามารถหยิบเอามาเป็นน้ำเลี้ยงหัวใจ-ซึ่งก็คือน้ำเลี้ยงชีวิตคู่-ได้อย่างมีความสุข ตามนัยแห่งคำกล่าวที่ว่า ถ้าไม่มีสิ่งที่เรารัก ก็จงรักสิ่งที่เรามี

แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่า ถ้าคุณเป็นขี้กลาก คุณก็ต้องรักขี้กลากของคุณด้วย

นั่นคือคุณก็ต้องมีกรอบขอบเขตอะไรสักอย่างไว้บ้าง

ไม่ใช่ว่าอะไรๆ ก็ได้ไปเสียทุกเรื่อง

เพียงแต่ผมอยากจะบอกว่า ไม่ว่าจะอย่างไร หลักพื้นฐานของชีวิตคู่ก็ยังคงอยู่ที่ –

พร้อมที่จะลดเงื่อนไขหรือความต้องการของตัวเอง

และพร้อมที่จะเพิ่มความรับผิดชอบ

ถ้าคุณมีคุณสมบัติ ๒ ข้อนี้ ชีวิตคู่ก็อยู่ยืน-อย่างมีความสุขด้วย

ขอกระซิบว่าเรื่องนี้มีคนเคยทำได้มาแล้ว

เพราะฉะนั้น คุณก็มีสิทธิ์ที่จะทำได้ด้วย

แปลว่าคุณได้สิทธิ์นั้นแล้ว ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะใช้มันหรือเปล่า

………..

ผมไปละครับ คุณจะได้มีเวลาเงียบๆ เพื่อคิดและตัดสินใจ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๐

๑๒:๔๐

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *