บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความเรื่อง ผู้ล่วงพ้นความกลัวตาย

ผู้ล่วงพ้นความกลัวตาย (๑)

————————-

ญาติมิตรท่านหนึ่งปรารภโรคไวรัสที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ว่า บุคคลทั้งหลายย่อมกลัวความตาย จึงมีคำถามเกิดขึ้นในใจว่า ตามหลักทางพระพุทธศาสนา เมื่อใดบุคคลจึงจะล่วงพ้นความกลัวตาย เมื่อเป็นพระอนาคามี หรือว่าต้องเป็นพระอรหันต์ และทำไมท่านนั้นๆ จึงไม่กลัวตาย

ผมบอกท่านไปว่า เป็นคำถามที่ดี

“ดี” ของคำถามนี้ตามความหมายของผมก็คือทำให้เรามีงานทำเพิ่มขึ้น นั่นคือเราจะต้องช่วยกันค้นหาคำตอบ

ผมจะค้นด้วย ท่านก็ต้องช่วยกันค้นด้วย

ถ้าเป็นเมื่อ ๕๐ ปีที่แล้ว จะค้นเรื่องอะไรจากพระไตรปิฎก ผมก็ต้องไปวัดสถานเดียว แต่เดี๋ยวนี้สะดวกมาก ต้องขอบคุณระบบไฮเทค

อันดับแรก ผมค้นจากกูเกิ้ลก่อน เป็นการกรุยทางเท่านั้น ไม่ใช่เป้าหมายหลัก

คือค้นเพื่อจะได้รู้ว่ามีใครเคยพูดเรื่องนี้กันมาก่อนแล้วหรือยัง มีการเอ่ยอ้างถึงแหล่งข้อมูล-คือคัมภีร์อะไรกันบ้างหรือไม่ – เหมือนกับจะซื้อของสักอย่าง หาข้อมูลก่อนว่ามีขายที่ไหนบ้าง ทำนองนั้น

ปรากฏว่า ในเว็บไซต์หนึ่ง มีคำถามว่าใครบ้างที่ไม่กลัวตาย?

ตรงกับปัญหาที่ต้องการคำตอบพอดี

แต่เมื่อตามไปอ่านดู ก็ได้ข้อคิดสำคัญอย่างหนึ่ง นั่นก็คือ คนที่เข้ามาตอบแทบทั้งหมดตอบตามความคิดเห็นของตัวเอง

ประเภท-

ผมเข้าใจว่า …

ฉันคิดว่า …

อันนี้เป็นความเห็นส่วนตัวนะ …

อ่านจนหมด ได้แต่ “ความคิดเห็น” แต่ไม่ได้หลักฐานทางวิชาการ

ทำให้นึกถึงคำของท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ป.อ. ปยุตฺโต ท่านพูดไว้ว่า –

คนสมัยนี้ชอบแสดงความเห็น

แต่ไม่ชอบแสวงหาความรู้-แม้ในเรื่องที่ตนกำลังแสดงความเห็นอยู่นั่นเอง

เป็นเรื่องชอบกลมากๆ

ผมเข้าใจว่าเรากำลังเป็นแบบนี้กันทุกวงการ

โดยเฉพาะวงการพระศาสนานั้น ผมขอให้ตั้งหลักกันให้ถูก ตั้งลูกกันให้ดี

วิธีคิดก็คือ-พระพุทธศาสนาคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว หรือเมื่อร้อยปีที่แล้ว หรือเมื่อห้าร้อยปีที่แล้ว แต่เกิดขึ้นมาสองพันหกร้อยปี นับเป็นอายุคนก็หลายสิบชั่วคน

หลักคำสอนที่สูงสุดอยู่ในพระไตรปิฎก

แล้วยังมีอรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา

มีอาจริยมติคือความเห็นของบูรพาจารย์ ลดหลั่นกันสืบๆ มา

ปัญหาใดๆ เงื่อนแง่ใดๆ ในพระศาสนา ที่เราในสมัยนี้พบเห็นแล้วสงสัย ขอให้พึงสันนิษฐานว่า ท่านแต่ปางก่อนท่านย่อมจะได้เห็นได้พบและขบคิดมาก่อนเราแล้วทั้งสิ้น

จึงควรศึกษา สืบสวน สอดส่องให้ครบถ้วนก่อน แล้วยกขึ้นไว้เป็นหลัก

ต่อจากนั้นจึงมาถึงความเห็นของเรา

คือถ้าเราไม่อิ่มใจ ไม่เต็มใจ ไม่พอใจกับหลักทั้งปวงที่ท่านแสดงไว้ เราอยากจะจะคิดเห็นเป็นของตัวเอง เราก็จึงค่อยว่าไป

แต่ต้องบอกให้ชัดๆ ว่า อันไหนเป็นหลักคำสอนของท่าน อันไหนเป็นความเห็นของเรา

และโดยปกติแล้ว ความเห็นของเราต้องไม่แย้งกับหลักของท่าน

ไม่ใช่บอกว่าความเห็นของเรานี่แหละเป็นหลักคำสอนที่ถูกต้องในพระพุทธศาสนา

นี่ก็เป็นกันมากอีกเรื่องหนึ่งในเวลานี้-คือโผล่ขึ้นมาก็ประกาศความเห็นของตนทันที

พระพุทธเจ้าจะว่าอย่างไร-คือพระไตรปิฎกอรรถกถาฎีกาจะว่าอย่างไร ข้าพเจ้าไม่สน

แต่ข้าพเจ้าว่าอย่างนี้

แทนที่จะแสดงธรรมของพระพุทธเจ้า

กลายเป็น-แสดงธรรมของข้าพเจ้า

นี่จึงเป็นเหตุหนึ่งที่ผมเลิกฟังเทศน์ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย

เรื่องนี้ยาวตามเคย

ตามอ่านตอนต่อไปนะครับ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓

๑๘:๕๕

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *