บาลีวันละคำ

กรรมชวาต (บาลีวันละคำ 3,242)

กรรมชวาต

ลมเบ่ง

อ่านว่า กำ-มะ-ชะ-วาด

ประกอบด้วย กรรมช + วาต

(๑) “กรรมช

บาลีเป็น “กมฺมช” (กำ-มะ-ชะ) รากศัพท์มาจาก กมฺม + ชนฺ ธาตุ

(ก) “กมฺม” รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + รมฺม (รำ-มะ, ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุและ ที่ต้นปัจจัย

: กร > + รมฺม > มฺม : + มฺม = กมฺม

กมฺม” แปลว่า การกระทำ, สิ่งที่ทำ, การงาน (the doing, deed, work) นิยมพูดทับศัพท์ว่า “กรรม

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

กรรม ๑, กรรม– ๑ : (คำนาม) (๑) การ, การกระทำ, การงาน, กิจ, เช่น พลีกรรม ต่างกรรมต่างวาระ, เป็นการดีก็ได้ ชั่วก็ได้ เช่น กุศลกรรม อกุศลกรรม.(๒) การกระทำที่ส่งผลร้ายมายังปัจจุบัน หรือซึ่งจะส่งผลร้ายต่อไปในอนาคต เช่น บัดนี้กรรมตามทันแล้ว ระวังกรรมจะตามทันนะ.(๓) บาป, เคราะห์, เช่น คนมีกรรม กรรมของฉันแท้ ๆ.(๔) ความตาย ในคำว่า ถึงแก่กรรม.”

ในที่นี้ “กรรม” หมายถึง การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา คือทำด้วยความจงใจหรือจงใจทำ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม ซึ่งจะมีผลตามมา

(ข) กมฺม + ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิล ลบ นฺ ที่สุดธาตุ (ชนฺ > )

: กมฺม + ชนฺ = กมฺมชนฺ + กฺวิ = กมฺมชนกฺวิ > กมฺมชน > กมฺมช (กำ-มะ-ชะ) แปลตามศัพท์ว่า “-อันเกิดแต่กรรม

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “กมฺมช” ว่า produced by kamma (อันเกิดแต่กรรม)

(๒) “วาต

บาลีอ่านว่า วา-ตะ รากศัพท์มาจาก วา (ธาตุ = ไป) + ปัจจัย

: วา + = วาต (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่พัดไป” (2) “สิ่งเป็นเหตุฟุ้งไปแห่งกลิ่นดอกไม้เป็นต้น” (3) “สิ่งที่ไปเร็ว” (4) “สิ่งที่ประกาศกลิ่น” หมายถึง ลม (wind)

กมฺมช + วาต = กมฺมชวาต (กำ-มะ-ชะ-วา-ตะ) แปลว่า “ลมอันเกิดแต่กรรม”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “กมฺมชวาต” ว่า birth-pains ไขความว่า appl. to pains of childbirth (ใช้กับความเจ็บปวดในเวลาคลอดบุตร)

กมฺมชวาต” ในภาษาไทยใช้เป็น “กรรมชวาต

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

กรรมชวาต : (คำนาม) ลมเกิดแต่กรรม คือ ลมเกิดในครรภ์เวลาคลอดบุตร ได้แก่ ลมเบ่ง เช่น พอถึงพระหัตถ์พระราชเทวีก็ทรงจับเอากิ่งรัง พอเกิดลมกรรมชวาตหวั่นไหวประชวรพระครรภ์ (ปฐมสมโพธิกถา), เขียนเป็น กรรมัชวาต ก็มี. (ส. กรฺม + ช ว่า เกิด + วาต ว่า ลม).”

ขยายความ :

กรรมชวาต” หรือ ลมกรรมชวาต น่าจะจัดอยู่ในจำพวกภาษาเขียนหรือภาษาแบบแผน โดยปกติไม่มีใครพูดกัน

ภาษาปากหรือภาษาพูดที่คนเก่าๆ รู้จักกันดีก็คือ “ลมเบ่ง

คำว่า “ลมเบ่ง” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –

ลมเบ่ง : (คำกริยา) อาการที่อยากเบ่งขณะที่มดลูกหดตัวและตำแหน่งของทารกอยู่ต่ำมากพร้อมที่จะคลอดออกมา.”

…………..

ดูก่อนภราดา!

คนเกิดแต่กรรม กรรมก็เกิดแต่คน

: อยากได้คนดี สร้างกรรมดี

: อยากได้กรรมดี สร้างคนดี

#บาลีวันละคำ (3,242)

28-4-64

…………………………

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/3941059945987713 …………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *