บาลีวันละคำ

วาร (บาลีวันละคำ 142)

วาร

อ่านว่า วา-ระ

ภาษาไทยใช้ “วาระ” หรือ “วาร” (วาน) แล้วแต่กรณี

วาร” มีความหมายว่า

– วันหนึ่งๆ ในสัปดาห์ เช่น อาทิตยวาร = วันอาทิตย์

– ครั้ง, คราว เช่น พิจารณารวดเดียว 3 วาระ, อยู่ในตำแหน่งวาระละ 2 ปี

– เวลากำหนด เช่น วาระอันเป็นมงคล, วาระสุดท้ายของชีวิต

– เวลาที่กำหนดสำหรับผลัดเปลี่ยน, รอบผลัดในหน้าที่การงาน

วาร” เมื่อใช้ร่วมกับคำอื่น ความหมายจะบ่งเฉพาะลงไป เช่น

อุตุวารวาระของฤดู” = ตามฤดูกาล

สนฺตติวารวาระแห่งรอยต่อ” หรือ “รอยต่อของวาระ” = ช่วงระหว่างเหตุการณ์แบบเดียวกัน-ที่เหตุการณ์หนึ่งสิ้นสุดลง และเหตุการณ์ใหม่ยังไม่เกิดขึ้น เช่น คนเก่าเกษียณ และคนใหม่ยังไม่มารับหน้าที่

ตติยวารครั้งที่ 3” เป็นวัฒนธรรมสังคมชมพูทวีป ถือว่าเป็นครั้งสุดท้าย (เป็นที่มาของการทำซ้ำ 3 ครั้ง เช่น ตั้งนะโม 3 จบ)

ปทวารวาระแห่งเท้า” = ทางเดินเท้า, การก้าวเดิน, การเดินไป

ปาทวาเร ปาทวาเร (ใช้ซ้ำ 2 ครั้ง) = ทุกย่างก้าว

อุทกวารวาระแห่งน้ำ” = อาบน้ำ, ลำเลียงน้ำจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง

ภาณวารวาระแห่งการสวด” = ข้อความที่กำหนดว่ายาวพอเหมาะที่จะใช้สวดตอนหนึ่งๆ = บทสวด

ความหมายของ “วาร” ที่ว่า “รอบผลัดในหน้าที่การงาน” ภาษาไทยเอามาใช้ว่า “เวร” เช่น “วันนี้ต้องไปเข้าเวร

วาร” ยังเวียนเปลี่ยนเป็น “เวร” เป็นไปได้

กระนี้ใจหรือจะไม่เปลี่ยนเวียนตามวาร ?

บาลีวันละคำ (142)

27-9-55

—–

วาร วรฺ ธาตุ ปัจจัย

วรฺ ธาตุ

คเวสเน = แสวงหา

ทิตฺติยํ = รุ่งเรือง

นิเสเธ = ห้าม

ปตฺถนายํ = ปรารถนา

พนฺธเน = ผูก, พัน, มัด

วรเณ, อาวรเณ = ห้าม, ปิดกั้น

สมฺภตฺติยํ = คบหา

สํวรเณ = ระวัง

อจฺฉาทเน = ปิดบัง

อิจฺฉายํ = อยาก, ปรารถนา

ยาจเน = ขอ

ภตฺติยํ = คบหา, รับใช้

เทียบ วาโร – ปริวาโร

อธิบายบาลีไวยากรณ์ นามกิตก์ และกิริยากิตก์ – หน้า ๕๓-๕๔

ณ ปัจจัย

*ปริวาโร เป็น  ปริ บทหน้า  วรฺ ธาตุ  ในความกั้น-ปิด  ถือเอา ความว่า “แวดล้อม.”

วิ. ว่า ปริวาเรตี-ติ  ปริวาโร. (ชนใด) ย่อมแวดล้อม  เหตุนั้น  (ชนนั้น )  ชื่อว่า  ผู้แวดล้อม.

เป็นกัตตุรูป กัตตุสาธนะ. 

วาร (บาลี-อังกฤษ)

(จาก วฤ ในความหมาย “คราว” เทียบ วุณาติ fr. vṛ, in meaning “turn,” cp. vuṇāti)

๑ วาระ, โอกาส, เวลา, คราว turn, occasion, time, opportunity

อุตุวาเรน อุตุวาเรน ตามวาระของฤดู utuvārena utuvārena according to the turn of the seasons

สนฺตติวาร ช่วงระหว่างเวลา santati˚ interval

เทฺว วาเร ๒ วาระ หรือ ๒ ครั้ง dve vāre twice

ตติยวารํ เป็นครั้งที่ ๓ และเป็นครั้งสุด้าย tatiyavāraŋ for the 3rd & last time

๒ ใน ปท “ปทวาร” วาระทางเดิน กล่าวคือ ทางเดินเท้า, การก้าวเดิน In pada˚ “track-occasion,” i. e. foot-track, walk(ing), step

ปาทวาเรน โดยเดินไป ˚vārena by walking

ปาทวาเร ปาทวาเร ทุกๆ ก้าว pādavāre pādavāre at every step

๓ ใน อุทกวาร แทน วารก (คือ ถึง), วลี อุทกวารํ คจฉติ “ไปอาบน้ำ”, ไปเอาน้ำ (ใส่ถัง) มา In udaka˚ v. stands for vāraka (i. e. bucket), the phrase udakavāraŋ gacchati means “to go for water,” to fetch water (in a bucket)

๔ ภาณวาร “วาระสวด” กล่าวคือ บทสวด bhāṇa˚ “turn for recitation,” i. e. a portion for recital, a chapter

วาร (สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน)

น. สมุหะ, หมู่, คณะ; ปริมาณ, ประมาณ; โขลง, ฝูง; โอกาศ; วัน; เวลาครู่หนึ่ง; นามพระศิวะ; ทางเดิรเข้าประตู, ประตูบ้าน; เวลา; multitude; a quantity; flock, a herd; an occasion or opportunity; a day; a moment; a name of śiva, a doorway, a gate; a time.

วาร

วันหนึ่งๆ ในสัปดาห์, ครั้ง, เวลากำหนด (ประมวลศัพท์)

วาระ

ครั้งคราว, เวลาที่กำหนดสำหรับผลัดเปลี่ยน (ประมวลศัพท์)

วาร ป.

คราวหนึ่ง, วันหนึ่งๆ. (พจนานุกรมศัพท์บาลี)

วาร (บาลี-อังกฤษ)

วาระ, โอกาส, เวลา, คราว

อุตุ-วาเรน ตามวาระของฤดู

สนฺตติ – ช่วงระหว่างเวลา

เทฺว วาเร ๒ วาระ หรือ ๒ ครั้ง

ตติย-วาร เป็นครั้งที่ ๓ และเป็นครั้งสุด้าย

ปทวาร วาระทางเดิน กล่าวคือทางเดินเท้า, การก้าวเดิน

ปาทวาเรน โดยเดินไป

ปาทวาเร ปาทวาเร ทุกๆ ก้าว

อุทก-วาร คจฉติ ไปอาบน้ำ, ไปเอาน้ำ (ใส่ถัง) มา

ภาณ-วาร วาระสวด กล่าวคือบทสวด

(บาลี-อังกฤษ)

วาร ๑

  [วาน] น. วันหนึ่ง ๆ ในสัปดาห์ เช่น อาทิตยวาร. (ป., ส.).

วาร- ๒, วาระ

  [วาระ-] น. ครั้ง, คราว, เช่น พิจารณารวดเดียว ๓ วาระ อยู่ในตำแหน่งวาระละ ๒ ปี, เวลากำหนด เช่น วาระอันเป็นมงคล วาระสุดท้ายของชีวิต.

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย