บาลีวันละคำ

สลากาวุตฺตา (บาลีวันละคำ 3,257)

สลากาวุตฺตา

ยังชีพด้วยบัตรปันส่วน

อ่านว่า สะ-ลา-กา-วุด-ตา

สลากาวุตฺตา” เป็นคำบาลีตรงตัว แยกศัพท์เป็น 2 คำ คือ สลากา + วุตฺตา

(๑) “สลากา

อ่านว่า สะ-ลา-กา รากศัพท์มาจาก สลฺ (ธาตุ = หวั่นไหว) + อาก ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: สลฺ + อาก = สลาก + อา = สลากา แปลตามศัพท์ว่า “ไม้ที่สั่นไหว” หรือ “ขยับได้” (ตรงกันข้ามกับติดตายอยู่กับที่ หรือแข็งทื่อ)

สลากา” ในบาลีใช้ในความหมายหลายอย่าง (บางความหมายไม่ได้เป็นไปตามรากศัพท์) ดังต่อไปนี้ :

(1) ธนู, ลูกดอก (an arrow, a dart)

(2) ไม้, หมุด, ราว (a small stick, peg, thin bar)

(3) ใบหญ้า (blade of a grass)

(4) โครงร่ม (ribs of a parasol)

(5) ดินสอ, ไม้เล็กๆ (ใช้ในเวลาทาตาด้วยน้ำมัน) (a pencil, small stick [used in painting the eyes with collyrium])

(6) เข็มชนิดหนึ่ง (a kind of needle)

(7) เครื่องมือศัลยกรรมอย่างหนึ่ง (a kind of surgical instrument, a stick of caustic)

(8) ไม้ตีฆ้อง (a gong stick)

(9) องคชาต (membrum virile)

(10) ไม้สลากที่ใช้ในเวลาลงคะแนนและแจกอาหาร, การออกเสียง, ฉลาก (a ticket consisting of slips of wood used in voting and distributing food, vote, lot)

อย่างไรก็ตาม “สลากา” ในความหมายที่เข้าใจทั่วไปคือ :

(๑) การลงคะแนนเพื่อให้ได้ตัวผู้มีสิทธิ์หรือผู้เป็นตัวการ เช่นในกรณีสิ่งของมีจำกัด แต่ผู้มีสิทธิ์จะได้รับมีหลายคน

(๒) กรรมวิธีสุ่มเลือก เช่นในกรณีสิ่งของมีครบตัวผู้รับ แต่ชนิดและคุณภาพต่างกัน ใครจะได้ของชิ้นไหน เป็นไปตามสลากที่จับ

(๒) “วุตฺตา

อ่านว่า วุด-ตา รากศัพท์มาจาก วตฺ (ธาตุ = เป็นไป) + ปัจจัย, แปลง อะ ที่ -(ตฺ) เป็น อุ (วตฺ > วุตฺ)

: วตฺ + = วตฺต > วุตฺต แปลตามศัพท์ว่า “เป็นไปแล้ว

วุตฺต” ในที่นี้เป็นรูปคำกริยา ถ้าเป็นคำนามเป็น “วุตฺติ” (วุด-ติ) ใช้ในความหมายว่า วิธีดำรงอยู่หรือวิธีกระทำ, ความประพฤติ, การปฏิบัติ, ธรรมเนียม, การเลี้ยงชีพ, นิสัย (mode of being or acting, conduct, practice, usage, livelihood, habit)

วุตฺต” ในที่นี้หมายถึง เลี้ยงชีพหรือยังชีวิตให้เป็นไป

วุตฺต” เป็นคำขยาย (วิเสสนะ) ของ “เวรญฺชา” (เว-รัน-ชา) ซึ่งเป็นชื่อเมือง เป็นอิตถีลิงค์ ดังนั้น จึงต้อง + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ = วุตฺตา

สลากา + วุตฺตา = สลากาวุตฺตา (สะ-ลา-กา-วุด-ตา) แปลว่า “เมืองที่ประชาชนยังชีพให้เป็นไปด้วยสลาก

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงความหมายตามตัวอักษรของศัพท์นี้ว่า “subsisting on blades of grass” (มีชีวิตอยู่ด้วยใบหญ้า) แสดงความหมายอีกนัยหนึ่งว่า “by means of food tickets” (โดยสลากภัตร)

ขยายความ :

ในคัมภีร์วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค 1 ตอนเวรัญชกัณฑ์ พระไตรปิฎกเล่ม 1 ข้อ 5 บรรยายสภาพเมืองเวรัญชาเมื่อคราวเกิดทุพภิกภัยไว้ว่า –

…………..

เตน  โข  ปน  สมเยน  เวรญฺชา  ทุพฺภิกฺขา  โหติ  ทฺวีหิติกา  เสตฏฺฐิกา  สลากาวุตฺตา  น  สุกรา  อุญฺเฉน  ปคฺคเหน  ยาเปตุํ.

ก็โดยสมัยนั้นแล เมืองเวรัญชามีภิกษาหารน้อย ประชาชนหาเลี้ยงชีพฝืดเคือง มีกระดูกคนตายขาวเกลื่อน ต้องมีฉลากซื้ออาหาร ภิกษุสงฆ์จะยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยการถือบาตรแสวงหาก็ทำไม่ได้ง่าย

…………..

เพื่อเป็นการฝึกความคุ้นเคยกับสำนวนบาลี (แก้ปัญหาเสียงบ่นว่าอ่านพระไตรปิฎกแปลเป็นไทยแล้วไม่รู้เรื่อง) ขอเสนอสำนวนแปลบาลีว่าด้วยเรื่องเมืองเวรัญชาในชมพูทวีปสมัยพุทธกาลต้องใช้บัตรปันส่วนอาหารเมื่อคราวที่เกิดข้าวยากหมากแพง (ทุพภิกขภัย) ดังต่อไปนี้ –

…………..

ในเวลาหว่าน ข้าวกล้าที่ประชาชนแม้ผสมพันธุ์หว่านไว้ดีแล้วในเมืองเวรัญชา นั้นย่อมงอกออกมาเป็นก้านทั้งนั้น เพราะเหตุนั้น เมืองเวรัญชาจึงชื่อว่า “สลากาวุตฺตา” (ในความหมายว่า ข้าวกล้าที่หว่านแล้วงอกออกมาเป็นก้าน ไม่เป็นรวง)

อีกนัยหนึ่ง ประชาชนทั้งหลายย่อมยังชีวิตให้เป็นไปในเมืองเวรัญชานั้นด้วยสลาก (คือการแจกบัตร) เพราะเหตุนั้น เมืองเวรัญชาจึงชื่อว่า “สลากาวุตฺตา” (ในความหมายว่า ยังชีวิตเป็นไปได้ด้วยบัตรปันส่วน)

มีคำอธิบายไว้อย่างไร?

มีคำอธิบายไว้อย่างนี้ คือ ดังได้สดับมา ในเมืองเวรัญชานั้นเมื่อประชาชนทั้งหลายผู้ซื้อไปยังสำนักของพวกพ่อค้าผู้ขายข้าวเปลือก พวกมนุษย์มีกำลัง (ทรัพย์) กดขี่พวกมนุษย์ผู้ไม่มีกำลัง (ทรัพย์) แล้วซื้อเอาข้าวเปลือกไป (หมด). พวกมนุษย์ผู้ไม่มีกำลัง (ทรัพย์) เมื่อไม่ได้ (ข้าวเปลือก) ย่อมส่งเสียงเอ็ดอึง.

พวกพ่อค้าผู้ขายข้าวเปลือกปรึกษากันว่า พวกเราจักทำการสงเคราะห์ประชาชนทั้งหมด จึงสั่งให้เจ้าหน้าที่ผู้ตวงข้าวเปลือกนั่งในสำนักงานที่ตวงข้าวเปลือก แล้วให้ผู้ชำนาญการดูกหาปณะนั่งอยู่ที่ส่วนข้างหนึ่ง.

พวกมนุษย์ผู้มีความต้องการข้าวเปลือกก็ไปยังสำนักงานของผู้ชำนาญการดูกหาปณะ. ผู้ชำนาญการดูกหาปณะรับเอามูลค่าโดยลำดับแห่งชนผู้เข้ามา แล้วเขียนสลาก (คือบัตร) ให้ไปว่า ควรให้แก่คนชื่อนี้เป็นจำนวนเท่านี้.

พวกมนุษย์ผู้มีความต้องการข้าวเปลือกเหล่านั้นรับเอาสลากนั้นแล้วไปยังสำนักของเจ้าหน้าที่ผู้ตวงข้าวเปลือกแล้วรับเอาข้าวเปลือกโดยลำดับที่เขาตวงให้.

ประชาชนทั้งหลายในเมืองเวรัญชาย่อมยังชีวิตให้เป็นไปด้วยสลาก เพราะเหตุนั้น เมืองเวรัญชานั้นจึงชื่อว่า “สลากาวุตฺตา” คือประชาชนยังชีวิตเป็นไปได้ด้วยบัตรปันส่วน ดังอธิบายมาฉะนี้.

แปลจาก: สมันตปาสาทิกา ภาค 1 เวรัญชกัณฑวัณณนา หน้า 237-238

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ฝึกแบ่งปันกันด้วย “น้ำใจ” ให้ได้ก่อน

: จะได้ไม่เดือดร้อนเมื่อถึงคราวแบ่งปันกันด้วย “จำใจ”

#บาลีวันละคำ (3,257)

13-5-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *