บาลีวันละคำ

เทวษ (บาลีวันละคำ 3,245)

เทวษ

บาลีว่าอย่างไร

อ่านว่า ทะ-เวด

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เทวษ : (คำนาม) การครํ่าครวญ, ความลําบาก. (ส.).”

พจนานุกรมฯ บอกว่า “เทวษ” เป็นคำสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “เทฺวษ” (มีจุดใต้ ทฺ) บอกไว้ดังนี้ –

เทฺวษ : (คำนาม) ความเกลียดชังยิ่ง; hatred, extreme dislike.”

นอกจากนี้ยังมีคำว่า “เทฺวษณ” อีกคำหนึ่ง บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

เทฺวษณ : (คำวิเศษณ์) ‘เทวษณ์,’ ไวริน, วิโรธิน, อันเปนฆ่าสึก, เปนอริกัน; inimical, hostile, unfriendly; – (คำนาม) ฆ่าสึก, ศัตรู; ศัตรุตา, ศุตรูภาพ, วิปักษตา, ความเกลียดชังยิ่ง; an enemy, a foe; enmity, hatred, extreme dislike.”

สรุปว่า “เทวษ” เป็นคำสันสกฤต

แล้วตรงกับคำบาลีว่าอย่างไร?

วิธีเทียบอย่างง่ายๆ และอย่างหยาบๆ คือ สันสกฤต “ทฺว” บาลีเป็น “” เช่น สันสกฤต “ทฺวิ” บาลีเป็น “ทิ” สันสกฤต “ทฺวิคุณ” บาลี “ทิคุณ” (อย่าลืมว่านี่เป็นคิดเทียบหยาบๆ และอาจไม่เป็นแบบนี้ทุกคำไป อนึ่ง บาลีเป็น “ทฺวิคุณ” ก็มี)

ถ้าคิดเทียบตามนี้ สันสกฤต “เทฺวษ” บาลีก็ควรเป็น “เทส

เมื่อได้รูปบาลี “เทส” (อย่างคราวๆ หรือหยาบๆ) แล้วดูคำแปล “เทฺวษ” ที่ว่า “ความเกลียดชังยิ่ง” คำบาลีที่หมายถึง “เกลียด” และรูปคำใกล้ “เทส” มากที่สุดก็คือ “เทสฺส” (เทด-สะ) เช่นในคำว่า “ธมฺมเทสฺสี” ที่แปลว่า “ผู้เกลียดธรรม

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ที่คำว่า “เทสฺส” บอกไว้ว่า Sk. dveṣya, to dvis, see disa (สันสกฤตเป็น เทฺวษฺย, แห่ง ทฺวิส, ดู ทิส)

เป็นอันว่า บาลี “เทสฺส” พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกว่า สันสกฤตเป็น “เทฺวษฺย

จึงเป็นอันว่า “เทวษ” ที่ใช้ในภาษาไทยและพจนานุกรมฯ บอกว่าเป็นคำสันสกฤตนั้น ตรงกับคำบาลีว่า “เทสฺส

เทสฺส” (มีจุดใต้ สฺ ตัวหน้า) อ่านว่า เทด-สะ รากศัพท์มาจาก ทิสฺ (ธาตุ = เกลียดชัง) + (อะ) ปัจจัย, แผลง อิ ที่ ทิ-(สฺ) เป็น เอ (ทิสฺ > เทส), ซ้อน สฺ หรือแปลง สฺ เป็น สฺส

: ทิสฺ + = ทิส > เทส > เทสฺส แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เกลียดชัง” หรือ “ความเกลียดชัง

เทสฺส” ในบาลี :

(1) ใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง ไม่เข้ากัน, น่ารังเกียจ, น่าเกลียดชัง (disagreeable, odious, detestable)

(2) ใช้เป็นคำนาม (ปุงลิงค์) หมายถึง ความน่ารังเกียจหรือความรู้สึกเกลียด (repulsiveness)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกว่า ดู “ทิส” คำว่า “ทิส” นี้นักเรียนบาลีย่อมจะระลึกได้และพอจะคุ้นหน้ากันอยู่ในคำที่มักพูดติดปากว่า “ทิโส ทิสํ” ดังข้อความในจิตวรรค ธัมมปทคาถา ว่าดังนี้ –

…………..

ทิโส ทิสํ ยนฺตํ กยิรา

เวรี วา ปน เวรินํ

มิจฺฉาปณิหิตํ จิตฺตํ

ปาปิโย นํ ตโต กเร.

ที่มา:

ธัมมปทคาถา พระไตรปิฎกเล่ม 25 ข้อ 13

ธัมมปทัฏฐกถา ภาค 2 นันทโคปาลกวัตถุ หน้า 150

…………..

แปลสกัดความตามประสงค์ว่า –

จิตซึ่งตั้งไว้ผิด

พึงทำเจ้าของจิตนั้นให้เสื่อมทราม

ยิ่งกว่าความพินาศฉิบหายที่โจรกับโจร –

หรือคนคู่เวรกันจะพึงทำแก่กันเสียอีก

…………..

คำว่า “ทิส” (ทิ-สะ) รากศัพท์มาจาก ทิสฺ (ธาตุ = เกลียดชัง) (อะ) ปัจจัย

: ทิสฺ + = ทิส (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เกลียดชังปรปักษ์” หรือ “ผู้อันปรปักษ์เกลียดชัง” หมายถึง คนที่เป็นศัตรูกัน (an enemy)

สรุปว่า สันสกฤต “เทฺวษฺย” หรือ “เทฺวษ” หรือ “เทฺวษณ” บาลี “เทสฺส” และ “ทิส” มีความหมายแนวเดียวกัน คือความเกลียดชังหรือคนที่เกลียดชังกัน

ไทยเราเอามาใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “เทวษ” ความหมายเคลื่อนที่ไปเป็น การครํ่าครวญ, ความลําบาก

…………..

พึงระลึกว่า วิธีคิดเทียบตามที่แสดงมานี้เป็นการคิดแบบคาดเดากว้างๆ หรือที่บอกว่า “อย่างหยาบๆ” อาจผิดหรืออาจถูกโดยบังเอิญ หลักเทียบที่แน่นอนที่สุดก็คือต้องเรียนรู้ทั้งสองภาษา ซึ่งนักเรียนบาลีบ้านเราตลอดจนชาวบ้านทั่วไปย่อมรู้สึกกันว่า น่าจะยังไม่จำเป็นต้องก้าวไปถึงขั้นนั้น

เพราะฉะนั้น ถ้าจะคิดเทียบก็อาจทำในระดับ “กีฬาทางภาษา” คือทำเป็นการเล่นสนุก เป็นการลับสมอง หรือเป็นกีฬาอย่างหนึ่ง เป็นกีฬาที่ไม่มีแพ้มีชนะ มีแต่กำไร คือได้ความรู้

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เพื่อนแท้เป็นพันเป็นร้อยก็น้อยเกินไป

: ศัตรู คนเดียวก็มากเกินไป

#บาลีวันละคำ (3,245)

1-5-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *