บาลีวันละคำ

กฐินสามัคคี [1] (บาลีวันละคำ 164)

กฐินสามัคคี [1]

กฐิน” เป็นภาษาบาลี “สามัคคี” ก็เป็นภาษาบาลี

กฐิน + สามัคคี = “กฐินสามัคคี” เขียนอย่างคำไทย อ่านอย่างคำไทย

คำนี้ไม่มีปัญหาในการเขียนและอ่าน แต่มีปัญหาในการทำความเข้าใจ

กฐินสามัคคีมีมูลเหตุมาจากกรณีต่อไปนี้ คือ –

1. มีผู้ต้องการจะทอดกฐินที่วัดเดียวกันหลายราย

2. แต่ละรายสามารถทอดได้ตามลำพัง ไม่จำเป็นต้องร่วมกับใคร หรือไปหาใครมาร่วม

3. ปกติ ใครมาจองก่อน ก็มีสิทธิ์เป็นเจ้าภาพแต่เพียงรายเดียว แต่กรณีนี้คือมาจองพร้อมกันหลายราย แต่ละรายจึงมีสิทธิ์ที่จะได้เป็นเจ้าภาพเท่ากัน และไม่มีรายไหนยอมถอย

4 .แต่กฎกติกาของกฐินมีอยู่ว่า “เจ้าภาพทอดกฐินต้องมีรายเดียว เมื่อรายหนึ่งทอดแล้ว รายอื่นๆ จะทอดอีกไม่ได้”

5. ทางออกคือทำอย่างไร ? จับฉลาก ? หรือประมูลกันว่าใครจะถวายบริวารกฐิน (เช่นเงินบำรุงวัด) มากกว่ากัน ? หรือต่อยกันให้รู้แล้วรู้รอด ใครชนะได้เป็นเจ้าภาพ ฯลฯ

6. ไม่ว่าจะใช้วิธีไหน ในที่สุดก็ได้ทอดกฐินเพียงรายเดียว รายอื่นๆ อด

7 .จึงเป็นที่มาของ “กฐินสามัคคี” คือทุกรายพร้อมใจกันรวมตัวให้เป็นรายเดียว แล้วเป็นเจ้าภาพร่วมกัน ก็จะได้ทอดกฐินด้วยกันหมดทุกราย

นี่คือความหมายที่ถูกต้องของคำว่า “กฐินสามัคคี

กฐินสามัคคี” จึงไม่ได้หมายความว่า มีใครจองวัดขอเป็นเจ้าภาพทอดกฐิน แล้วก็ไปเที่ยวชักชวนญาติสนิทมิตรสหายแบ่งสายกันบอกบุญร่วมกันเป็นเจ้าภาพ ดังที่นิยมทำกันอยู่ แล้วก็เรียกกันว่า “กฐินสามัคคี

คนทั่วไปมักเข้าใจคำว่า “กฐินสามัคคี” ตามความหมายนี้ และกำลังจะกลายเป็นความหมายที่ถูกต้องอีกความหมายหนึ่ง

เป็นอันว่า :

สามัคคีกันผิด

ก็มีสิทธิ์กลายเป็นถูกไปได้เหมือนกันนะ – จะบอกให้

บาลีวันละคำ (164)

19-10-55

สามัคคี

  น. ความพร้อมเพรียงกัน, ความปรองดองกัน.ว. ที่พร้อมเพรียงกันทำ, ที่ร่วมมือร่วมใจกันทำ, เช่น กฐินสามัคคี ผ้าป่าสามัคคี. (ป.; ส. สามคฺรี).

แนวคิดนอกเฟรม

“กฐินสามัคคี” ตามความหมายเดิม คือ หลายรายแย่งกันเป็นเจ้าภาพ แล้วปรองดองรวมกันเป็นเจ้าภาพเดียว

“กฐินสามัคคี” ตามความหมายใหม่ เจ้าภาพรายเดียว ไม่ได้แย่งกับใคร สามัคคีกันภายในคณะของตัวนั่นเอง

กรณีทอดกฐินวัดเดียว แต่มีเจ้าภาพหลายคณะนั่งกันเต็มศาลา แต่ละคณะต่างก็มีเครื่องกฐินของตนพร้อมเสร็จ พอถึงเวลาทอดก็ทยอยกันเข้าไปถวายทีละคณะ ดังที่หลายๆ วัดนิยมทำกัน แล้วอ้างว่า เป็น “กฐินสามัคคี” นั้น โปรดทราบว่าผิดกฎกติกาของการทอดกฐิน

แบบนั้นไม่ใช่ “กฐินสามัคคี

กฐินสามัคคีก็คือมีเจ้าภาพหลายรายนั่นแหละ แต่ต้องรวมกันเป็นรายเดียวก่อนจะเข้าไปทอด ไม่ใช่ยังแยกกันเป็นคณะๆ แบบนั้น

สรุปว่า

(๑) บุญกฐิน ไม่เหมือนบุญอื่น เมื่อคนหนึ่งทำแล้ว คนอื่นจะมาทำซ้ำที่กันอีกไม่ได้ จึงต้องจองก่อน เป็นการบอกกล่าวให้รู้ว่า ใครจะมาทอดซ้ำอีกไม่ได้

(๒) แต่ถ้าเกิดมีคนอยากจะทอดวัดเดียวกันรายหลาย วิธีที่จะทำให้ทอดได้หมดทุกรายก็คือ ทุกรายต้องรวมตัวกันเป็นรายเดียวก่อน เมื่อรวมกันเป็นรายเดียวแล้วทอด ก็เท่ากับได้ทอดหมดทุกรายนั่นเอง

นี่คือความหมายที่ถูกต้องของคำว่า “กฐินสามัคคี

ถ้ายังไม่เข้าใจ ก็ลองคิดอย่างนี้ :

ฉันไม่มีคุณ ฉันก็อยู่ได้ คุณก็อยู่ได้ : กฐินปกติธรรมดา

คุณไม่มีฉัน คุณก็อยู่ได้ ฉันก็อยู่ได้ : กฐินปกติธรรมดา

แต่ถ้ามีทั้งฉันทั้งคุณ จะอบอุ่นสักเพียงไหน : “กฐินสามัคคี”

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย