เรื่องสั้นของทองย้อย

ไม้เอกตัวเดียว

—————

ค่ายจุฬาภรณ์ที่จังหวัดนราธิวาส เป็นค่ายทหารนาวิกโยธิน 

นาวิกโยธินไทยเป็นหน่วยทหารเรือ แต่มีหลักนิยมในการจัดหน่วยแบบทหารบก คือมีกองร้อย กองพัน และกรม

กองร้อยในค่ายจุฬาภรณ์สมัยที่ผมไปอยู่ที่นั่นนิยมจัดระเบียบรอบๆ กองร้อยให้ดูดีเหมือนกับจะประกวดกันอยู่ในที 

มีอยู่กองร้อยหนึ่งปลูกต้นขี้เหล็กรอบกองร้อย ได้ประโยชน์ในทางร่มรื่น เวลามีดอกก็เหลืองอร่ามไปทั้งกองร้อย เป็นอาหารเสริมให้โรงครัวได้ด้วย 

ขี้เหล็กรอบกองร้อยนี้ปลูกและดูแลรักษากันมาหลาย ผบ.ร้อย.

คราวหนึ่ง ผบ.ร้อย.ขี้เหล็กไปเข้าอบรมหลักสูตรอะไรสักอย่างในกรุงเทพฯ เป็นเวลา ๓ เดือน 

พอจบหลักสูตร กลับมาถึงกองร้อยก็หงุดหงิดเป็นกำลัง เพราะต้นขี้เหล็กรอบกองร้อยทหารปล่อยให้หญ้าขึ้นรกไปหมด

พอดี ผบ.ร้อย.จะต้องรีบไปทำภารกิจนอกค่าย จึงเขียนบันทึกสั่งการส่งให้จ่ากองร้อยแล้วออกจากค่ายไป

ตอนบ่าย ผบ.ร้อย.กลับเข้ามาถึงกองร้อยก็หน้ามืด 

ต้นขี้เหล็กรอบกองร้อยถูกตัดเหี้ยนเตียนหมด

ผบ.ร้อย. เรียกจ่ากองร้อยมาทันที ตะคอกถามว่า ใครสั่งให้ตัดต้นขี้เหล็ก

“ก็ผู้กองเป็นคนสั่งเองนี่ครับ” จ่ากองร้อยตอบ

“กูสั่งตั้งแต่เมื่อไร”

“ก่อนออกไปเมื่อเช้า ผู้กองเขียนบันทึกสั่งไว้”

“เออ กูรู้ แต่กูสั่งให้มึงตัดต้นขี้เหล็กเรอะ ไอ้เ…”

จ่ากองร้อยยื่นบันทึกสั่งการให้ ผบ.ร้อย. ดู

บันทึกซึ่งเขียนด้วยลายมือของ ผบ.ร้อย.เอง ลงชื่อและวันเดือนปีไว้อย่างเรียบร้อย มีข้อความสั้นๆ ว่า

“วันนี้ ให้ตัดแต่งโค่นต้นขี้เหล็กให้เรียบร้อย”

ผบ.ร้อย.หน้ามืดเป็นครั้งที่สอง 

จะอ่านสักกี่เที่ยวก็คงเห็นข้อความเดิมซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ตั้งใจจะสั่งให้ทำ

… ตัดแต่งโคนต้นขี้เหล็ก … 

ไม้เอกตัวเดียวแท้ๆ

————–

คำว่า “ผลพวง” แปลว่าอะไร 

คำนี้ไม่มีในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ แต่มีคำว่า “ผลพลอยได้” หมายถึงสิ่งที่ได้รับนอกเหนือจากผลที่ได้ตามความมุ่งหมาย

“ผลพลอยได้” มีนัยถึงผลดี แต่ “ผลพวง” ไม่บ่งว่าร้ายหรือดี แต่มักจะมีนัยไปในทางไม่ดี บางทีก็พูดขยายไปว่า “ผลพวงที่ตามมา”

“พวง” พจน.๔๒ บอกไว้ว่า “กลุ่มของสิ่งที่มีลักษณะอย่างเดียวกันที่อยู่ร่วมขั้วเดียวกันหรือผูกมัดไว้รวมกัน เช่น พวงองุ่น พวงดอกไม้ พวงลูกโป่ง”

“พ่วง” พจน.๔๒ บอกไว้ว่า “ต่อท้าย, ตามติด, เช่น ขอพ่วงไปด้วย, เรียกเรือที่พ่วงท้ายให้เรือโยงลากจูงไปว่า เรือพ่วง, เรียกรถที่พ่วงท้ายให้รถคันหน้าลากไปว่า รถพ่วง”

ผมว่า “ผลพวง” น่าจะตกไม้เอก

ตรงกันข้ามกับ “โคน” ที่เกินไม้เอก กลายเป็น “โค่น”

คำที่ตั้งใจจะพูดคือ “ผลพ่วง” คือผลที่ต่อท้ายหรือตามติดมา

แต่พูดกันไปเขียนกันมา ไม้เอกหาย “ผลพ่วง” กลายเป็น “ผลพวง”

“ผลพ่วง” (มีไม้เอกด้วย) คือสิ่งที่ติดมากับสิ่งที่ต้องการ

สิ่งที่ติดมาไม่ใช่สิ่งที่ต้องการ แต่เมื่ออยากได้สิ่งที่ต้องการ ก็ต้องยอมรับสิ่งที่ติดมากับสิ่งที่ต้องการนั้นด้วย

เหมือนกับสำนวนฝรั่งว่า Love me, love my dog. 

รักฉัน ก็รักหมาของฉันด้วย

การเลือกตั้งเป็นสิ่งที่เราต้องการ

แต่เมื่อมีการเลือกตั้งทีไร ก็ต้องมีการโกงเลือกตั้งติดมาด้วย

การเลือกตั้ง ๒ กุมภาพันธ์นี้ (ถ้ามี) ก็มีการเตรียมซื้อเสียงไว้พร้อมแล้ว

หัวคะแนนข้างบ้านผมเป็นสิ่งบอกเหตุครับ

“ผลพ่วง” ไม่ใช่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ 

ขึ้นอยู่กับว่า เรามีมโนธรรมมากพอที่จะกล้าพูดหรือเปล่า

“I love you, but don’t let me love your dog”

๒๒ มกราคม ๒๕๕๗

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *