บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

เคยไปคุยกับท่านมั่งหรือเปล่า

ตั้งแต่ต้นปีนี้เป็นต้นมา ผมมีเหตุต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับ “คำด่าพระเจ้าแผ่นดิน” เนืองๆ ทำให้เกิดความคิดหลายๆ อย่าง

อย่างแรก คิดถึงคำที่คนพูดกันว่า เวลานี้บ้านเราเผด็จการทหารครองเมือง

แต่เวลานี้บ้านเราคนด่าพระเจ้าแผ่นดินกันเป็นว่าเล่น ด่าได้อย่างเสรียิ่งกว่าครั้งไหนๆ ในประวัติศาสตร์เสียด้วยกระมัง

อย่างต่อไปที่ผมคิดก็คือ คนที่ด่าพระเจ้าแผ่นดินนั้น ทั้งหมดไม่เคยรู้จักพระเจ้าแผ่นดินเลย

“รู้จัก” – ขออนุญาตพูดเป็นภาษาสามัญ – ไม่ได้หมายถึงรู้จักชื่อ เคยเห็นในข่าวหรือเคยเห็นตัวจริงๆ ตอนมีงานที่นั่นที่โน่น รู้จักแบบนั้นใครก็รู้จัก

แต่ “รู้จัก” ที่ว่านี้หมายถึงรู้ความจริงในชีวิตประจำวัน เช่นรู้ว่าพระเจ้าแผ่นดินตื่นนอนกี่โมง เข้านอนกี่ทุ่ม เช้าทำอะไร สายทำอะไร เย็นทำอะไร ตลอดจนพระเจ้าแผ่นดินไปทำอะไรไว้ที่ไหนอย่างไร-รู้เห็นจากของจริงด้วยตาตัวเอง ไม่ใช่จากชุดข้อมูลที่มีผู้จัดทำขึ้นแล้วเอามาบอกเรา

ทั้งหมดที่ด่าพระเจ้าแผ่นไม่เคยรู้จักพระเจ้าแผ่นดินตามความหมายที่ว่านี้

แต่ด่าพระเจ้าแผ่นดินได้เป็นช่องเป็นฉากเป็นวรรคเป็นเวร ราวกับได้สะกดรอยตามพระเจ้าแผ่นดินตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอนทุกวันเวลาจนรู้ความจริงหมดไส้หมดพุง

และถ้าสังเกตสักหน่อยก็จะเห็นว่า คำด่าพระเจ้าแผ่นดินนั้นเหมือนคนด่าจะไม่ได้คิดเอง แต่ได้ข้อมูลมาจากแหล่งเดียวกัน

คำด่าส่วนมากมีลักษณะเป็น “ข้อกล่าวหา” ซึ่งยังจะต้องพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริงกันอีกมาก แต่ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้พิสูจน์ว่าจริงหรือเท็จ ผู้ด่าก็เอามาด่าได้เต็มปากเต็มคำ 

และผู้ถูกด่าก็เสียหายไปเรียบร้อยแล้ว จริงหรือไม่จริงก็ไม่รู้นั่นแหละ

บางเรื่องฟังแล้วก็สังเวชใจ พระเจ้าแผ่นดินทรงเอาพระทัยใส่เรื่องพระพุทธศาสนา แต่คนด่าก็พลิกหาเหลี่ยมขึ้นมาด่าจนได้ 

เอากะพ่อกะแม่มันสิเออ คนจะด่านี่หาเหตุด่าได้ทุกเรื่องจริงๆ 

สมดังพุทธภาษิตที่มาในคัมภีร์พระธรรมบทว่า –

………………………..

โปราณเมตํ อตุล

เนตํ อชฺชตนามิว  

นินฺทนฺติ ตุณฺหิมาสีนํ

นินฺทนฺติ พหุภาณินํ

มิตภาณิมฺปิ นินฺทนฺติ

นตฺถิ โลเก อนินฺทิโต. 

อตุลเอย เรื่องอย่างนี้มีมานานแล้ว 

มิใช่เพิ่งจะมีในปัจจุบันนี้ 

อยู่เฉยๆ เขาก็นินทา 

พูดมาก เขาก็นินทา 

พูดน้อย เขาก็นินทา 

ไม่มีใครในโลก ที่ไม่ถูกนินทา

ที่มา: ธัมมปทคาถา พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๒๗

คำแปล: หนังสือ “พุทธวจนะในธรรมบท” โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก

………………………..

ในฐานะสมาชิกของสังคมที่จะต้องได้ยินได้ฟังได้รับข้อมูลอย่างเลี่ยงไม่ได้ ผมทำอย่างไร 

ผมก็เหมือนคนทั่วไป คือยังมีชอบมีชัง เวลาได้ยินใครด่าใครและผมจำเป็นต้องรับรู้ ผมมีวิธีจัดการของผม นั่นคือ รับรู้ไว้ก่อน แต่ยังไม่ให้ราคา ยังไม่ตัดสินใจว่าจะชอบหรือจะชัง 

รับไว้แล้วก็วางไว้ ไม่ต้องทำอะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง-ไม่เอาไปบอกต่อ

ต่อจากนั้น ถ้าสนใจประเด็นไหน อยากรู้ความจริง ก็ลงมือสืบเสาะ แต่ไม่ใช่ไปรับเอาชุดข้อมูลที่ถูกทำขึ้นมาเป็นเกณฑ์ตัดสิน

สืบเสาะแล้ว ถ้ายังไม่รู้ว่า จริงๆ แล้วมันเป็นอย่างไรกันแน่ ก็วางไว้ที่เดิม ไม่ลงมติชอบหรือชัง

ตรงนี้แหละที่คนทั่วไปมักไม่ได้ทำ-คือสืบสวนหาข้อเท็จจริงก่อน

ส่วนมาก พอได้รับข้อมูลมาก็ตัดสินทันที เชื่อทันที ชอบทันที ชังทันที แล้วก็เอาไปขยายต่อทันที ราวกับว่าข้อมูลที่ได้รับมานั้นพิสูจน์ทราบแล้วด้วยตนเองว่า-จริงทั้งหมด-ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว จริงหรือเท็จตัวเองก็รู้ตามที่เขาบอกอีกทีหนึ่งทั้งนั้น

ตรงนี้ก็ไปตรงกับที่ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๑ เรื่องสัญชัย (สญฺชยวตฺถุ) ตอนที่อุปติสสะกับโกลิตะ (คือพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะสมัยที่ยังเป็นปริพาชกศิษย์สำนักอาจารย์สัญชัย) เข้าไปชวนอาจารย์สัญชัยไปเฝ้าพระพุทธเจ้า แต่อาจารย์สัญชัยไม่ไป 

มีคำสนทนากัน ความว่าดังนี้ –

………………………..

(๑) ตาตา  กินฺนุ  โข  อิมสฺมึ  โลเก  ทนฺธา  พหู  อุทาหุ  ปณฺฑิตาติ. 

พ่อเอย ในโลกนี้ คนโง่มีมากหรือว่าคนฉลาดมีมาก 

(๒) ทนฺธา  อาจริย  พหู  ปณฺฑิตา  นาม  กติปยาเอว  โหนฺตีติ. 

ท่านอาจารย์ คนโง่มีมาก คนฉลาดมีเพียงนิดหน่อยเท่านั้น

(๓) เตนหิ  ตาตา  ปณฺฑิตา  ปณฺฑิตา  สมณสฺส  โคตมสฺส  สนฺติกํ  คมิสฺสนฺติ  ทนฺธา  ทนฺธา  มม  สนฺติกํ  อาคมิสฺสนฺติ.  

พ่อเอย ถ้าเช่นนั้น พวกคนฉลาดๆ (ที่มีเพียงนิดหน่อย) ก็จักไปหาพระสมณะโคดม (แต่) พวกคนโงๆ (ที่มีจำนวนมากกว่า) จักมาหาเรา (เพราะฉะนั้น ใครจะมี “คนขึ้น” มากกว่ากันก็ลองนึกดูเถิด)

ที่มา: ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๑ สญฺชยวตฺถุ หน้า ๘๕-๘๖ 

………………………..

คนที่ผลิตชุดคำด่าพระเจ้าแผ่นดินเขาก็คงใช้หลักความจริงข้อนี้แหละเป็นเหยื่อ คือด่าไปก่อนให้คนฟัง คนส่วนมากฟังแล้วไม่ทันได้คิดที่จะสืบสวนหาข้อเท็จจริง ก็จะเกลียดพระเจ้าแผ่นดินทันทีสมความปรารถนา

………………….

ยังมีข้อควรคิดอีก ถ้าสมมุติว่าเรื่องที่ด่าพระเจ้าแผ่นดินนั้นเกี่ยวกับผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ถ้าเรานิ่งเฉย แล้วถ้าเกิดเป็นเรื่องจริงจะว่าอย่างไร ควรจะทำอย่างไรกัน

ผมว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่จนไม่มีทางไป ถ้าเราห่วงประเทศชาติและประชาชนถึงขนาดนั้น ก็ยังมีวิธีอื่นอีก

วิธีที่ตรงที่สุด ง่ายที่สุด แต่ไม่มีใครกล้าทำ ก็คือ-ก็ถามพระเจ้าแผ่นดินไปตรงๆ นั่นเลย

สมัยสุโขทัย ใครเจ็บท้องข้องใจก็ไป … สั่นกระดิ่งที่ปากประตูหั้น … สมัยนี้ง่ายกว่ากันเยอะเลย ใช้ช่องทางไหนด่าพระเจ้าแผ่นดิน ก็ใช้ช่องทางนั้นนั่นแหละถามพระเจ้าแผ่นดินได้เลย 

ถามพระเจ้าแผ่นดินง่ายกว่าด่าพระเจ้าแผ่นดินเป็นไหนๆ ไม่มีกฎหมายฉบับไหนห้ามพสกนิกรถามข้อข้องใจกับพระเจ้าแผ่นดิน

เคยเฉลียวใจกันบ้างไหมว่า เราให้ความเป็นธรรมแก่พระเจ้าแผ่นบ้างหรือเปล่า คนด่าพระเจ้าแผ่นดินข้างเดียว แต่พระเจ้าแผ่นดินไม่มีโอกาสแก้ข้อกล่าวหาเลย ผมว่าการถามพระเจ้าแผ่นดินอย่างตรงไปตรงมานี่แหละคือการถวายโอกาสให้พระองค์ท่านตอบข้อข้องใจได้อย่างวิเศษที่สุด

หรือถ้าจะให้เจ๋งกว่านั้น ก็เข้าไปคุยกับท่านตัวต่อตัวเลย ท่านประทับอยู่ที่ไหน เราก็รู้ทางไปอยู่แล้ว ยากอะไร ไปขอเข้าเฝ้าทูลถามข้อข้องใจได้เลย 

ผมเชื่อว่าในบรรดาพระเจ้าแผ่นดินเมืองไทยของเรานี้ พระเจ้าแผ่นดินรัชกาลปัจจุบันเข้าพบหรือขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทได้ง่ายที่สุดพระองค์หนึ่ง

ผู้ที่เคยเข้าเฝ้าบอกว่า ในนั้น (คือในวังที่ประทับ) ใครเข้าเฝ้าเวลาไหน มีอาหารพระราชทานเลี้ยงตลอดเวลา ตามคำโบราณว่า “ก้นถึงฟาก ปากถึงน้ำ” – เรื่องเล็กๆ (แต่สำคัญมาก) แบบนี้มีใครเคยรู้บ้าง?

………………….

ใช้วิธีด่า แต่ไม่กล้าถามเจ้าตัวนี่ ผมนึกถึงพระเดชพระคุณพระธรรมปัญญาภรณ์ (ไพบูลย์ ชินวํโส ป.ธ.๗) เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุราชบุรี หลวงพ่อท่านโดนแบบเดียวกัน คือหลวงพ่อท่านทำโน่นทำนี่ภายในวัดตลอดเวลา งานไม่ว่าง คนที่ตามความคิดท่านไม่ทันก็มักไม่เข้าใจว่าท่านทำอะไรของท่าน เมื่อไม่เข้าใจก็บ่น หนักเข้าก็ด่า 

หลวงพ่อท่านประกาศเสมอว่า ใครสงสัยเรื่องอะไรให้มาถามกับท่านตรงๆ อย่าไปฟังคนอื่น แต่เชื่อหรือไม่ว่า ไม่เคยมีใครกล้าไปถามท่าน แต่ชอบใช้วิธีฟังจากคนนั้นคนโน้น แล้วก็ด่าท่านต่อไป

ผมว่า ต่อไปนี้ถ้าใครอยากจะด่าพระเจ้าแผ่นดิน ก็ควรจะถูกถามกันมั่งว่า คนที่คุณด่าหรือกำลังคิดจะด่านั่น คุณเคยไปคุยกับท่านมั่งหรือเปล่า

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๔ พฤษภาคม ๒๕๖๔

๑๔:๑๙

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *