บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความชุด :

ถ้าจะรักษาพระศาสนา

จงรักษาวิถีชีวิตสงฆ์

-๑๐-

ข้อเรียกร้องวันนี้

———————————–

คือจุดเริ่มต้นของความวิปริตในวันหน้า

ญาติมิตรอาจจะเคยได้ยินหรือได้เห็นข้อเรียกร้องของชาววัดบางส่วนหรือบางท่านในช่วงเวลานี้ที่บอกว่า –

“จะไม่ให้พระสงฆ์ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองรึ

เอา พรบ.สงฆ์ออกไปก่อนสิ”

หมายความว่า พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ที่ใช้บังคับอยู่ในเวลานี้ นั่นคือการเมืองที่เข้ามายุ่งกับพระสงฆ์-ตามมุมมองของท่านที่เรียกร้อง

ก็เมื่อการเมืองเข้ามายุ่งกับพระสงฆ์ก่อน พระสงฆ์ก็ควรมีสิทธิ์เข้าไปยุ่งกับการเมือง เพราะฉะนั้น ถ้าจะไม่ให้พระสงฆ์ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ก็ต้องยกเลิกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ที่ใช้บังคับอยู่ในเวลานี้ 

แต่ถ้ายังใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์อยู่ ก็ต้องยอมให้พระสงฆ์ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองได้

ฟังแล้วคิดอย่างไร มองอย่างไร?

………………

ในมุมมองของผม (๑) ถ้าพระสงฆ์ดำรงอยู่ในวิถีชีวิตสงฆ์อย่างเคร่งครัด-ตามเจตนารมณ์บริสุทธิ์แห่งการมีสมณเพศในพระพุทธศาสนา และ (๒) พระราชบัญญัติคณะสงฆ์หรือกฎเกณฑ์อันใดก็ตามที่ทางบ้านเมืองกำหนดขึ้น หากไม่ได้ไปบีบคั้น กลั่นแกล้ง บั่นทอน ลิดรอน เบี่ยงเบน ขัดขวาง ปิดกั้นการปฏิบัติกิจตามวิถีชีวิตสงฆ์ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์หรือกฎเกณฑ์ที่ทางบ้านเมืองกำหนดขึ้นอันนั้นก็ควรให้เป็นไปตามที่ทางบ้านเมืองกำหนด 

แต่ถ้าผิดจากเกณฑ์อันนี้ อันนั้นจึงควรที่จะบอกว่า-เอาออกไปเสียเถิด

ต่อไปนี้เป็นมุมมองสมมุติที่ชวนให้คิด

การทำวัตรสวดมนต์เช้า-เย็น เป็นกิจตามวิถีชีวิตสงฆ์

ถ้าทางบ้านเมืองออกกฎหมายว่า ห้ามพระเณรทำวัตรสวดมนต์เช้า-เย็น อันเป็นการทำกิจของสงฆ์ตามปกติ

จะต้องมีคนเดือดร้อนออกมาคัดค้านอย่างแน่นอนว่า แบบนี้มันเป็นกฎหมายอัปยศ ทางบ้านเมืองบีบคั้นรังแกพระศาสนา

ข้อเท็จจริง ทุกวันนี้พระเณรหลายรูป วัดหลายวัด ไม่ได้มีการทำวัตสวดมนต์เช้า-เย็น ดังที่เคยปฏิบัติกันมาแต่กาลก่อน 

ถามว่า มีใครเดือดร้อนใจบ้าง มีใครลุกขึ้นมาคัดค้านการละเลยกิจวัตรเช่นนั้นกันบ้างไหม

ก็คงจะต้องมีวิธีให้เหตุผลแก้ต่างออกไปอีก เช่น-นั่นมันเป็นเรื่องภายในของฉัน ฉันจะทำอะไรหรือใครจะไม่ทำอะไรมันเป็นสิทธิของเขา แต่คนนอกจะเที่ยวมาสั่งห้ามนั่นนี่โน่น แบบนี้ยอมไม่ได้

อีกสักตัวอย่างหนึ่ง อันนี้เกี่ยวกับ พรบ.คณะสงฆ์โดยตรง

เจ้าคณะอำเภอสมมุติรูปหนึ่ง ใช้ตำแหน่งรีดนาทาเน้นพระสงฆ์ในปกครองให้บริจาคนั่นนี่โน่นเพื่อประโยชน์ส่วนตัวอยู่ตลอดเวลา 

เจ้าอาวาสสมมุติรูปหนึ่งแสดงความเห็นว่า นี่ถ้ายกเลิก พรบ.คณะสงฆ์ไปเสีย จอ.เลวๆ อย่างนี้ก็จะหมดไป นี่ไงความเลวของ พรบ.คณะสงฆ์

ข้อเท็จจริง เจ้าคณะอำเภอหรือเจ้าคณะระดับไหนก็ตาม ที่เอื้อเฟื้อเกื้อกูลสนับสนุนส่งเสริมเสียสละเพื่อให้พระสงฆ์ในปกครองของตนมีความสุขความเจริญร่มเย็นอยู่ในพระธรรมวินัย ก็มีอยู่ทั่วไป 

ถ้ายกเลิก พรบ.คณะสงฆ์ไปเสีย จอ.หรือพระสังฆาธิการดีๆ อย่างนี้ก็จะพลอยหมดไปด้วย – ใช่หรือไม่

ตกลงว่า เจ้าคณะพระสังฆาธิการเลวๆ (ตามความเข้าใจของคนคิด) เกิดจากพรบ.คณะสงฆ์ หรือเกิดจากนิสัยส่วนตัวของบุคคลกันแน่ เราควรแก้ที่ตัวระบบ หรือควรแก้ระบบการคัดสรรตัวบุคคล 

พูดสั้นๆ ระบบบกพร่องหรือตัวบุคคลบกพร่องกันแน่

………………

ย้อนกลับไปที่-ข้อเรียกร้องข้างต้น —

“จะไม่ให้พระสงฆ์ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองรึ

เอา พรบ.สงฆ์ออกไปก่อนสิ”

ผมเชื่อว่า ข้อเรียกร้องหรือข้อต่อรองนี้จะต้องมีคนเห็นด้วยเป็นอันมาก นั่นหมายถึงว่า อีกไม่นานเกินรอจะมีการผ่อนผันยินยอมให้พระสงฆ์ “ยุ่งเกี่ยว” กับการเมืองในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง หรือในระดับใดระดับหนึ่งได้อย่างถูกต้องตามระเบียบ

และสมควรชำเลืองดูวิธีคิดวิธีมองอีกเรื่องหนึ่งที่คู่ขนานกันมากับแนวคิด-ควรให้พระสงฆ์ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองได้ นั่นก็คือ ลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง

ผู้ไม่มีสิทธิเลือกตั้งตามที่รู้กันก็คือ –

(๑) เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช

(๒) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง

(๓) ต้องคุมขังโดยหมายศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

(๔) วิกลจริต จิตฟั่นเฟือน หรือไม่สมประกอบ

วิธีมองของคนพวกหนึ่ง เขาจะบอกว่า พระเณรของเราถูกลดฐานะ หรือถูกเหยียดลงไป หรือถูกจัดอยู่ในพวกคนวิกลจริต จิตฟั่นเฟือน หรือไม่สมประกอบ

ถ้ามองอย่างนี้ ก็ต้องบอกด้วยว่า พระเณรก็เหมือนคนที่อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง และพระเณรก็เหมือนคนที่ต้องคุมขัง

แล้วทำไมจึงเจาะจงเลือกเทียบกับคนวิกลจริต จิตฟั่นเฟือน หรือไม่สมประกอบเท่านั้น ทำไมไม่เทียบกับพวกอื่นๆ ที่อยู่ในฐานะเดียวกัน

เจตนาก็เพื่อให้เกิดความรู้สึกว่า พระเณรถูกดูถูกเหยียดหยาม ถูกกีดกันกลั่นแกล้ง การไม่ยอมให้พระเณรมีสิทธิ์เลือกตั้งจึงเป็นความไม่ยุติธรรม (แล้วยังมีประเด็นย้ำซ้อนลงไปอีกว่า-ทีนักการศาสนาในศาสนาอื่นทำไมมีสิทธิ์)

สอดรับพอดิบพอดีกับแนวคิด-ควรให้พระสงฆ์ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองได้

ญาติมิตรท่านหนึ่งของผมท่านประกาศแนวคิดของท่านมานานแล้วว่า-พระเณรต้องมีสิทธิ์เลือกตั้ง 

ท่านไม่ได้บอกว่า-พระเณรควรมีสิทธิ์เลือกตั้ง

แต่ท่านประกาศเลยว่า-พระเณรต้องมีสิทธิ์เลือกตั้ง

พระภิกษุสามเณรส่วนหนึ่งในปัจจุบันก็แสดงแนวคิดแบบนี้อย่างเปิดเผยกันแล้ว

และผมเชื่อว่า อีกไม่เกินครึ่งศตวรรษนับจากนี้ พระภิกษุสามเณรในประเทศไทยจะมีสิทธิ์เลือกตั้งเหมือนประชาชนทั่วไป

แนวคิดอีกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้น และผมอยากให้จับตามองควบคู่กันไปด้วยก็คือ การยกเอาค่านิยมในหมู่พระสงฆ์ต่างชาติมาเชิดชูชื่นชม เช่น –

พระพม่าเขาไม่ถือเรื่องแบบนั้น แต่เขาให้ความสำคัญเรื่องแบบนี้ 

พระลังกาเขาทำอย่างนั้นดี ทำอย่างนี้ได้ 

พระเขมร …

พระลาว …

พระญวน …

พระแขก … 

เขาทำอย่างนั้นๆ เขาไม่เห็นจะต้องมาเคร่งครัดกับเรื่องอย่างนี้ๆ …

แล้วก็สรุปลงว่า ที่พระไทยทำอย่างโน้นก็ไม่ดี ทำอย่างนี้ก็ไม่ได้ เป็นความไม่เข้าท่า ล้าหลัง และเป็นความไม่ยุติธรรมของสังคม

โปรดสังเกตว่า ทัศนะหรือมุมมองเหล่านี้ไม่เคยอ้างอิงเอ่ยถึงวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตสงฆ์ ที่ปรากฏเป็นหลักฐานในพระธรรมวินัยพระไตรปิฎก 

แม้หากจะเอ่ยถึงบ้าง ก็เอ่ยเพื่อจะโต้แย้งด้วยเหตุผลว่า โลกเปลี่ยนไปแล้ว จะให้พระกลับไปทำเหมือนสมัยพุทธกาลเป็นไปไม่ได้ สังคมสงฆ์ต้องก้าวไปข้างหน้าเคียงบ่าเคียงไหลไปกับประชาชน ไม่ใช่ถอยหลังไปอยู่ในสมัยสองพันปี 

ยุคนี้เป็นยุคสมัยพระปุถุชน อย่าได้บังอาจเอามาตรฐานพระอริยะเข้ามาวัดมาจับ ใครรับไม่ได้ก็เชิญเข้าป่ามุ่งหน้าไปนิพพานโน่นเถิด

………………

สิ่งที่จะเกิดขึ้นก้าวหน้าต่อไปอีก-หลังจากเข้าสู่ยุคสมัยพระภิกษุสามเณรมีสิทธิ์เลือกตั้งแล้ว ก็คือ ต่อไป-ซึ่งไม่ช้าก็เร็ว-พระสงฆ์ก็จะต้องมีสิทธิ์สมัครเข้ารับการเลือกตั้งด้วย

ผู้คนในยุคสมัยนี้-โดยเฉพาะตัวพระภิกษุสามเณรเอง-ที่เคยเห็นด้วยเฉพาะกรณีให้พระภิกษุสามเณรมีสิทธิ์เลือกตั้งเท่านั้น ไม่ใช่ถึงกับให้มีสิทธิ์สมัครเข้ารับการเลือกตั้งได้ด้วย ถ้ายังมีชีวิตอยู่จนถึงวันนั้นก็คงจะสงสัยว่านี่มันอะไรกัน 

แน่นอน นี่มันก็คือผลต่อเนื่องที่มีจุดกำเนิดมาจากแนวคิด-ควรให้พระสงฆ์ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองได้ ที่ท่านเห็นด้วยและสนับสนุนอยู่ในวันนี้ยังไงเล่า

และจะยังไม่หยุดอยู่เพียงแค่ลงสมัครรับเลือกตั้งได้ หากแต่จะก้าวต่อไปอีกเรื่อยๆ เช่น –

ในทางการเมือง-

พระสงฆ์เป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้

พระสงฆ์ตั้งพรรคการเมืองได้

พระสงฆ์เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ (นั่นคือพระสงฆ์ลงสมัครรับเลือกตั้งได้)

พระสงฆ์เป็นสมาชิกวุฒิสภาได้

พระสงฆ์เป็นรัฐมนตรีได้

พระสงฆ์เป็นนายกรัฐมนตรีได้

ในทางเศรษฐกิจ-

พระสงฆ์ประกอบธุรกิจได้ 

พระสงฆ์เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าได้

พระสงฆ์เปิดร้านค้าได้ 

พระสงฆ์ตั้งบริษัทการค้าอุตสาหกรรมได้

พระสงฆ์เป็นเจ้าของห้างสรรพสินค้าได้ 

ในทางส่วนตัว-

พระสงฆ์แต่งงาน มีครอบครัวได้

………………

ถ้าตกจากยอดเขาทีเดียวไปถึงก้นเหว เราจะตกใจกลัว

แต่ถ้าค่อยๆ ก้าวลงบันไดไปทีละขั้น ซึ่งในที่สุดก็ไปถึงก้นเหวเหมือนกัน เราจะไม่รู้สึกอะไรเลยว่า-เออ นี่ทำไมเราจึงมาถึงก้นเหวได้

ถ้าใครบอกว่า ถึงวันนั้นกูก็ไม่อยู่แล้ว – ท่านก็เห็นแก่ตัว เอาตัวรอด

ถ้าใครบอกว่า ศาสนาไม่ใช่ของกูคนเดียว – ท่านก็เห็นแก่ตัว เอาตัวรอดอยู่นั่นเอง 

ทางเลือกของเราท่านก็คือ มองหาจุดยืนของตัวเองให้เจอในขณะที่พระธรรมวินัย พระไตรปิฎก และวิถีชีวิตสงฆ์ที่ถูกต้อง ยังมีแบบฉบับ ยังมีร่องรอยให้เห็นได้ชัดเจน

ถ้าไม่เตรียมตัวให้ดี วันหนึ่งเมื่อถึงวันนั้น เราอาจไปยืนอยู่ในจุดที่ผิด แล้วคิดว่าถูก 

ใครจะบอกเรา ใครจะช่วยเรา?

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๙ พฤษภาคม ๒๕๖๔

๑๘:๕๓

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *