บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

วัฒนธรรมที่น่าจะเกิดในสังคมไทย

ผมอยากให้เฟซบุ๊กมีโปรแกรมตรวจสอบคำผิด เหมือนกับที่เราใช้โปรแกรม word พิมพ์งานในเครื่องคอมพิวเตอร์ ถ้าคำไหนสะกดผิดจะมีเส้นหยักสีแดงใต้คำนั้น บอกให้คนพิมพ์รู้ว่าคำนั้นมีอะไรผิดปกติ 

เฟซบุ๊กน่าจะทำได้ ตามทฤษฎี-ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่เป็นไปไม่ได้

เหตุมาจากวันสองวันมานี้ผมอ่านโพสต์ในเฟซบุ๊ก เจอคำที่สะกดผิดบ่อยมาก 

เมื่อวานก็เจอ ๒ คำ

ปฏิกิริยา สะกดเป็น ปฏิกริยา

เอื้ออารี สะกดเป็น เอื้ออารีย์ 

วันก่อนโน้นก็เจอ เจตนารมณ์ สะกดเป็น เจตนารมย์ นี่ระดับศาสตราจารย์ด้วย 

นี่เฉพาะที่คนเขียนเป็นผู้ใหญ่ทรงภูมิ ไม่ใช่เด็ก ไม่นับรายการเบ็ดเตล็ดอีกเป็นกระบุง

ถ้าเป็นเด็กเขียน ผมก็จะบอกแก้ให้ตรงหน้าเฟซนั่นเลย คนอื่นๆ ที่อ่านจะได้รู้ด้วย จะได้ไม่พลอยเขียนผิดตาม

แต่นี่เป็นผู้ใหญ่ผู้ทรงภูมิเขียน ไม่รู้จะว่าอย่างไร ก็เลยนึกถึงกลไกของเฟซบุ๊ก 

ใครรู้ช่องทางสื่อสาร ช่วยเสนอไปยังเฟซบุ๊กให้ทีนะครับ ช่วยสร้างโปรแกรมใส่ไว้ในเฟซบุ๊กให้ที ใครโพสต์อะไร ใครแสดงความคิดเห็นในโพสต์ของใคร ถ้าคำไหนใครสะกดผิด เฟซบุ๊กจะส่งสัญญาณเตือน หรือแก้ให้เลยก็ยิ่งดี แต่ควรเตือนด้วย คนเขียนจะได้รู้ตัวว่าสะกดผิด หาไม่จะกลายเป็นส่งเสริมให้คนมักง่ายหนักเข้าไปอีก – ผิดถูกเขียนมันส่งไปเถอะ เดี๋ยวเฟซบุ๊กก็แก้ให้เอง 

แบบนี้ก็เลยไปเข้าทางทฤษฎีของคนเขียนหนังสือสมัยใหม่ที่ว่า สะกดผิดสะกดถูกไม่ใช่เรื่องสำคัญ ขอให้สื่อสารกันเข้าใจก็พอแล้ว 

หลักอักขรวิธีก็เลยพังพินาศ

…………………..

ผมมีความเชื่อว่า คนเราสามารถปรับแก้ข้อบกพร่องได้ทุกช่วงวัยของชีวิต ไม้แก่ดัดยาก-ตามพังเพยก็จริง แต่ก็ดัดได้ 

ดัดยากไม่ใช่ดัดไม่ได้

คนใหญ่ทรงภูมิเขียนหนังสือผิด น่าจะเกิดจากไม่มีใครบอก ไม่ใช่เพราะพลั้งเผลอ แต่เพราะเขียนผิดจนเคย แล้วก็ไม่มีใครบอก ก็เลยเข้าใจไปว่าสะกดแบบนั้นถูกต้องแล้ว เขียนคำนั้นทีไรก็สะกดแบบนั้นทุกทีไป แล้วก็ไม่มีทางรู้ว่าตัวเองเขียนผิด

นี่เป็นความเคราะห์ร้ายอย่างหนึ่งของคนใหญ่คนโต

แล้วถ้าความเข้าใจผิดฝังลึก ก็ไม่แน่ว่าหากมีคนบอก ท่านจะโกรธเอาหรือเปล่า

บางทีอาจต้องหาวิธีใช้เครื่องจักรคือกลไกไฮเทคให้มันบอกแทน เข้ากับบุคลิกของคนสมัยนี้ที่มีแนวโน้ม — เชื่อเครื่องจักรกลมากกว่าเชื่อคนด้วยกัน

สวนตัวผมเอง ขอปวารณาต่อญาติมิตรทั้งปวง เห็นผมทำอะไรผิด ไม่ใช่เฉพาะเขียนคำผิด แม้พูดผิดหรือคิดผิด ก็เตือนได้ทุกเรื่องนะครับ

เมื่อวันก่อน พระคุณเจ้ารูปหนึ่งท่านตามไปอ่านบาลีวันละคำในเว็บไซต์ธรรมธารา เจอคำผิดคำหนึ่ง ท่านมีเมตตาแจ้งให้ทราบ กราบขอบพระคุณอย่างยิ่ง 

ผมว่าถ้าเราช่วยกันเป็นหูเป็นตาให้กันอย่างนี้ อะไรๆ ที่มันบกพร่องก็จะถูกแก้ไขให้ถูกต้อง ข้อบกพร่องก็จะมีน้อยลงหรือแทบจะไม่มี เกิดเป็นผลดีแก่ทุกฝ่าย

ฝ่ายหนึ่งเอ่ยปากปวารณา

ฝ่ายหนึ่งคอยเป็นหูเป็นตา

วัฒนธรรมแบบนี้น่าจะเกิดในสังคมไทยนะครับ 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๙ มิถุนายน ๒๕๖๔

๑๑:๑๗

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *