บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความชุด :

บทความชุด :

ถ้าจะรักษาพระศาสนา

จงรักษาวิถีชีวิตสงฆ์

-๙-

ปวารณา: พยานปากเอก- (๔) 

———————————–

ที่ยืนยันว่า นี่เราขาดการรักษาสืบทอดวิถีชีวิตสงฆ์กันแล้วจริงๆ

เพราะไม่ยึดหลักการของพระพุทธเจ้า แต่ไปยกเอาความประพฤติย่อหย่อนที่ทำกันทั่วไปมาเป็นข้ออ้าง จึงมีคนจำนวนมากแย้งประสมเย้ยหยันว่า จะต้องปวารณาเหมือนเล่นละครไปทำไม ไปถึงวัดเดี๋ยวพระท่านก็หยิบจับกันหนุบหนับอยู่แล้ว ประเคนท่านไปตรงๆ นี่เลย ทำไมจะต้องอ้อมค้อม

ผมมีเหตุผล เหตุผลของผมก็คือ –

เรื่องระหว่างพระกับพระ เป็นเรื่องของพระท่านเอง ท่านจะทำผิดทำถูกอย่างไร เป็นหน้าที่ของท่านที่จะพิจารณาตนเอง เราไม่จำเป็นต้องเข้าไปเกี่ยว

แต่ระหว่างเรากับพระนี่ต่างหากที่สมควรทำให้ถูกต้อง อย่างน้อยก็เป็นการเริ่มต้นที่ถูกต้อง เป็นการเปิดช่องให้พระปฏิบัติตามพระวินัย และเป็นการถวายกำลังใจให้พระ – ว่าดูซิ โยมเขาอุตส่าห์ปฏิบัติถูกต้องตามพระวินัย แล้วทำไมเราจึงจะมามัวเหลาะแหละอยู่เล่า 

……………………

กรณีพระรับเงิน-จับเงิน เป็นปัจจัยหนึ่งที่ชาวบ้านยกขึ้นมาอ้างในการที่จะนับถือเลื่อมใสหรือไม่เลื่อมใส – นี่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย และความจริงข้อนี้ก็ยังไม่จืดจางไปจากความจดจำรำลึกของผู้คน

เรื่องเป็นอย่างนี้: ในฐานะที่อยู่ในแวดวงชาววัดมาตั้งแต่เด็ก คำพูดที่ผมได้ยินพูดกันมานานก็คือ “พระธรรมยุตเคร่งกว่าพระมหานิกาย พระธรรมยุตไม่จับเงิน” 

“พระธรรมยุตไม่จับเงิน” – นี่เป็นจุดเด่นที่สุดที่ชาวบ้านยกขึ้นมาอ้างอิงในการที่ใครจะเลือกนับถือพระธรรมยุต และไม่ค่อยจะศรัทธาพระมหานิกาย

บรรยากาศแบบนี้-คือความรู้สึกอย่างนี้-ทุกวันนี้อาจจะไม่เข้มข้นเหมือนเมื่อเกือบ ๑๐๐ ปีที่ผ่านมา แต่ชาวบ้านทั่วๆ ไปก็ยังฝังใจเชื่อว่าเป็นเช่นนั้น

…………………………

พระธรรมยุตเคร่งกว่าพระมหานิกาย 

เพราะพระธรรมยุตไม่จับเงิน 

…………………………

ที่ยกประเด็นนี้ขึ้นมาพูด ขอความกรุณาตั้งสติให้ดี ผมไม่มีเจตนาจะฟื้นฝอย หรือจะชวนให้ใครทะเลาะกับใคร หรือจะให้นัยให้ใครใส่วงเล็บต่อท้ายว่าใครเป็นอย่างไร 

ผมมีเจตนาเพียงประการเดียว คือจะชี้ให้ดูว่า การที่พระจับเงิน-ไม่จับเงินนี้ เคยเป็นจุดเด่น หรือถ้าใช้คำในสมัยนี้ก็อาจจะเรียกว่าเป็น “จุดขาย” ของการเลือกนับถือพระในสมัยหนึ่งของสังคมไทยและยังส่งอิทธิพลแผ่มาจนถึงทุกวันนี้

พระจับเงิน-ไม่จับเงินจึงไม่ใช่เรื่องเล็ก ไม่ใช่เรื่องไร้สาระ ไม่ใช่เรื่องล้าสมัย แต่เป็นเรื่องที่ควรพิจารณาโดยโยนิโสมนสิการ 

……………………

ต่อไปนี้ก็จะเป็นประเด็นที่มีผู้นิยมยกขึ้นมาแย้งกรณีมีพุทธบัญญัติห้ามพระรับเงิน

เมื่อต้นปี ๒๕๖๔ นี้ ผมถูกพระคุณเจ้ารูปหนึ่งตำหนิอย่างรุนแรงเกี่ยวกับกรณีที่พูดหรือเขียนอยู่เนืองๆ เรื่องถวายเงินให้พระ เรื่องพระรับเงิน เรื่องบิณฑบาตเงินเป็นต้น

ท่านบอกว่า –

(๑) ชาวพุทธที่รู้เรื่องพุทธบัญญัติก็มีมาก แต่ชาวพุทธที่มีศรัทธาอยากถวายเงินให้พระไปตรงๆ ก็มีมากเช่นกันและนิยมทำกันทั่วไป การยกเรื่องแบบนี้ขึ้นมาพูดเป็นการก่อให้เกิดความแตกแยกในหมู่ชาวพุทธ

(๒) สภาพสังคมปัจจุบันนี้ ถ้าพระไม่มีเงิน ไม่รับเงิน ไม่จับจ่ายเงินด้วยตัวเอง พระจะอยู่ไม่ได้ นี่เป็นข้อเท็จจริง จงตื่นขึ้นมายอมรับความจริง อย่าเอาแต่โลกสวย

……………………

ผมฟังแล้วก็ตกใจ โดยเฉพาะข้อหาที่ว่า “การยกเรื่องแบบนี้ขึ้นมาพูดเป็นการก่อให้เกิดความแตกแยกในหมู่ชาวพุทธ” นั้น เป็นข้อหาที่รุนแรงมาก

ผมนึกไปถึงข้อความที่มีผู้นิยมพูด-เมื่อมีกรณีถกเถียงกันในเรื่องเกี่ยวกับความประพฤติปฏิบัติของพระสงฆ์ หรือกรณีขัดแย้งใดๆ เกี่ยวพระเกี่ยวกับวัด เกี่ยวกับพระศาสนา

มักจะมีท่านจำพวกหนึ่งออกมาบอกว่า “เขายุให้ชาวพุทธทะเลาะกันเอง ยังไม่รู้สึกตัวอีกหรือ”

ถ้าว่าตามนั้น พระจะทำอะไร วัดจะทำอะไร ใครจะทำอะไรเกี่ยวพระศาสนา จะถูกจะผิดอย่างไร เราทั้งหลายต้องนิ่งไว้สถานเดียว อย่าหยิบยกขึ้นมาพูดมาวิจารณ์ ต้องอยู่กันไปเงียบๆ จึงจะถูกต้องและจึงจะเป็นความสามัคคีในหมู่ชาวพุทธ

เมื่ออยู่กันเงียบๆ ผู้ก่อกรณีก็สบายไป ทำอะไรๆ ต่อไปได้ตามสบาย ไม่ต้องกลัวว่าจะมีใครมาเอะอะ ผสมกับผู้บริหารการพระศาสนาอ่อนแอป้อแป้ ก็เลยไม่มีใครลงมือแก้ปัญหาอะไร อยู่กันแบบคนอมโรคหมกโรค โรคขยายตัวเงียบๆ จากเรื่องนั้นไปเรื่องไหนก็ไม่มีใครล่วงรู้ 

ท่านที่ออกมาทักท้วง – “เขายุให้ชาวพุทธทะเลาะกันเอง ยังไม่รู้สึกตัวอีกหรือ” – คงไม่ได้ต้องการให้เป็นแบบนี้ แต่เมื่อให้อยู่กันเงียบๆ และไม่มีใครแก้ไขอะไรหรือไม่มีใครกระตุ้นเตือนผู้มีหน้าที่ให้แก้ไข สภาพความจริงที่เป็นไปมันก็จะเป็นแบบนี้

แล้วลงท้ายพระศาสนาจะเป็นอย่างไร?

แล้วจะทำอย่างไรกันดี?

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๕ พฤษภาคม ๒๕๖๔

๑๑:๑๙

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *