บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ควรให้ผู้มีหน้าที่ทำหน้าที่ของท่านไป

ควรให้ผู้มีหน้าที่ทำหน้าที่ของท่านไป

—————————————-

ระยะนี้มีคนโพสต์เรื่องไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิดกันคึกคักดี 

ผมเองก็มีกำหนดฉีดวัคซีนวันนี้ (๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๔) พร้อมกับท่านอาจารย์ผู้หญิงที่บ้าน ตามที่ได้จองผ่าน “หมอพร้อม” และตกลงนัดหมาย

เท่าที่ฟังมาตอนแรก เขาบอกว่าประชาชนทั่วไปที่อายุเกิน ๖๐ ทางการจะฉีดให้ก่อน

แต่ปรากฏว่าวันนี้ก็ยังไม่ได้ฉีดครับ 

คนรับการฉีดพร้อม แต่คนฉีดไม่พร้อม จะเป็นเพราะวัคซีนยังไม่มา หรือยังไม่พอ หรือวัคซีนมีแล้ว แต่คนฉีดยังฉีดให้ไม่ทันตามจำนวนที่จอง หรือเพราะอะไร ผมไม่ทราบ ทราบแต่ว่าตามที่นัดให้ไปฉีดนั้นยังไม่ต้องไป และให้รอไปก่อน

ไม่มีปัญหาครับ รอได้ สบายอยู่แล้ว

ผมเพิ่งเกษียณอายุราชการมาได้ ๑๖ ปีแค่นั้น ยังมีเวลารอได้อีกนาน (อันนี้ประชดนิดๆ อิอิ)

……………….

มีพรรคพวกที่หวังดีมากระซิบบอกว่า ดูท่าทางผมน่าจะมีโอกาสใช้ “ช่องทางพิเศษ” อยู่บ้าง ถ้าใช้ ป่านนี้ก็คงได้ฉีดไปเรียบร้อยแล้ว ไม่คิดจะใช้บ้างหรือ

ผมขมึงตามถามว่า หมายความว่าอย่างไร จงอธิบาย

ฟังอธิบายแล้วผมก็บอกว่าเข้าใจแล้ว 

แต่ตอนนี้พรรคพวกที่หวังดีควรจะต้องเข้าใจผมมั่งล่ะ …

……………….

ผมมาเรียนบาลีที่สำนักวัดมหาธาตุราชบุรีตั้งแต่อายุ ๑๘ เป็นสามเณร เรียนไวยากรณ์ ๒ ปีเต็ม ขึ้นปี ๓ เรียนแปลธัมมปทัฏฐกถา ๘ ภาค 

สมัยนั้นยังไม่ได้แยกเป็นประโยค ๑-๒ นักเรียนบาลีต้องเรียนแปลธัมมปทัฏฐกถาทั้ง ๘ ภาค และสอบประโยค ป.ธ.๓ เป็นประโยคแรก

ตามสูตรการเรียนสมัยนั้น เมื่อเรียนแปลธัมมปทัฏฐกถาจะเริ่มแปลภาค ๕ ก่อน ไม่ใช่เริ่มที่ภาค ๑

ธัมมปทัฏฐกถาภาค ๕ เริ่มด้วยเรื่องจูเฬกสาฎก (จูเฬกสาฏกวตฺถุ) ว่าด้วยพราหมณ์ยากจน ทั้งผัวทั้งเมียต้องใช้ผ้าห่มผืนเดียวกัน

ในภาค ๕ นี่แหละมีเรื่องพระโลฬุทายี (โลฬุทายิตฺเถรวตฺถุ เรื่องที่ ๑๒๔) พระที่มักสวดมนต์ผิดงานอยู่เรื่อย (งานมงคลสวดบทอวมงคล งานอวมงคลสวดบทมงคล) พระพุทธเจ้าตรัสว่าเมื่อชาติก่อนพระโลฬุทายีก็พูดผิดๆ ถูกๆ แบบนี้มาแล้ว แล้วตรัสเล่าอดีตชาติ

เรื่องในอดีตชาติ พระโลฬุทายีเป็นพ่อ พระพุทธเจ้าเป็นลูก ลูกชายรับราชการเป็นที่โปรดปรานของพระราชา พ่อทำนา อยู่มาวัวที่ใช้ไถนาซึ่งมีอยู่ ๒ ตัวตายไปตัวหนึ่ง พ่อบอกให้ลูกไปทูลขอวัวกับพระเจ้าแผ่นดิน

ลูกมีเหตุผลบางประการ บอกว่าพ่อควรไปทูลขอด้วยตัวเอง แล้วก็ซักซ้อมระเบียบการเข้าเฝ้า ฝึกคำพูดกราบทูลให้พ่อ เนื่องจากพ่อหัวทึบหน่อยต้องใช้เวลาฝึกซ้อมตั้งปีหนึ่งจนพอจะแน่ใจว่าสามารถเข้าเฝ้ากราบทูลขอวัวได้

วันเข้าเฝ้า ลูกไปอยู่ในที่เฝ้าก่อนตามตำแหน่งหน้าที่ ถึงเวลาพ่อก็เข้าเฝ้าตามระเบียบที่ซักซ้อมไว้

คำกราบทูลตามที่ซักซ้อมไว้เป็นดังนี้ –

………………………

เทฺว เม โคณา มหาราช

เยหิ เขตฺตํ กสาม เส

เตสุ เอโก มโต เทว

ทุติยํ เทหิ ขตฺติย.

ขอเดชะ 

โคสำหรับไถนาของข้าพระพุทธเจ้ามี ๒ ตัว

ในโค ๒ ตัวนั้น ตัวหนึ่งล้มเสียแล้ว

ขอสมมุติเทพจงพระราชทานตัวที่ ๒ เถิดพระเจ้าข้า

………………………

แต่ครั้นถึงเวลากราบทูลจริง พ่อกลับกราบทูลไปเสียอีกอย่างหนึ่ง

คำกราบทูลจริงเป็นดังนี้ –

………………………

เทฺว เม โคณา มหาราช

เยหิ เขตฺตํ กสาม เส

เตสุ เอโก มโต เทว

ทุติยํ คณฺห ขตฺติย.

ขอเดชะ 

โคสำหรับไถนาของข้าพระพุทธเจ้ามี ๒ ตัว

ในโค ๒ ตัวนั้น ตัวหนึ่งล้มเสียแล้ว

ขอสมมุติเทพจงทรงรับเอาตัวที่ ๒ มาเสียเถิดพระเจ้าข้า

………………………

แทนที่จะทูลขอโค กลับทูลถวายโคเสียนี่

พระราชารู้ว่าตาพ่อพูดผิด ตรัสให้พูดใหม่ ก็ยังพูดผิดเหมือนเดิม จึงทรงเย้าไปทางลูกว่า ที่บ้านมีวัวมากหรือ 

ลูกมีปฏิภาณดีกราบทูลว่า ถ้าพระราชทานไปก็จะมีมากพระเจ้าข้า

คำตอบนี้พระราชาทรงโปรดมาก พระราชทานวัว ๑๖ ตัว มากกว่าที่ขอหลายเท่า นอกจากนี้ยังพระราชทานสิ่งของต่างๆ อีกมาก

พ่อมาเป็นพระโลฬุทายี ลูกมาเป็นพระพุทธเจ้า

……………….

เรื่องนี้น่าขบขันในความเขลาของผู้เป็นพ่อ แต่น่าชมปฏิภาณของผู้เป็นลูก

ที่ผมติดใจเป็นพิเศษก็ตรงที่ลูกไม่ยอมทูลขอโคให้พ่อ แต่ให้พ่อทูลขอเอง

เหตุผลของลูกปรากฏอยู่ในข้อความที่เป็นความคิดของลูก ดังนี้

………………………

โสมทตฺโต “สจาหํ  ราชานํ  ยาจิสฺสามิ,  ลหุภาโว  เม  ปญฺญายิสฺสตีติ  จินฺเตตฺวา  …

โสมทัต (คือลูก) คิดว่า “ถ้าเราจักขอพระราชทานไซร้ ความเป็นคนผลุนผลันจักปรากฏแก่เรา” 

………………………

“ลหุภาโว  เม  ปญฺญายิสฺสติ” 

แปลตามสำนวนแปลเดิมว่า “ความเป็นคนผลุนผลันจักปรากฏแก่เรา”

“ความเป็นคนผลุนผลัน” คำบาลีว่า “ลหุภาโว” แปลตามศัพท์ว่า “ความเป็นคนเบา” 

หมายถึงอะไร?

“ลหุภาโว” มีความหมายเท่ากับ “ลหุจิตฺต” พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ลหุจิตฺต” ว่า light-minded (มีใจเบา, เบาความคิด, ไม่ใช้ความคิดในเรื่องสำคัญ)

พิจารณาในเรื่องพ่อ-ลูกที่พระพุทธองค์ตรัสเล่า “ลหุภาโว” ก็คือ ความเห็นแก่แต่จะได้ คือจะเอาแต่ประโยชน์ส่วนตัวจนลืมนึกถึงความควรไม่ควร

ลูกเกรงว่า สังคมจะมองอย่างนั้น (ลหุภาโว  เม  ปญฺญายิสฺสติ = ความเป็นคนผลุนผลันจักปรากฏแก่เรา) จึงไม่ยอมทูลขอเอง

ผมประทับใจเหตุผลของลูกมาตั้งได้แปลเรื่องนี้ และถือเป็นคติในการทำงานมาตลอด

เป็นเจ้าหน้าที่งานเอกชน ๓ ปี

เป็นข้าราชการพลเรือน ๓ ปี

เป็นข้าราชการทหาร ๒๕ ปี

ผมไม่เคย “เข้าหานาย” เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวแม้แต่ครั้งเดียว นึกถึงบาลีประโยคนั้นที่เรียนมาตั้งแต่เป็นเณร —

ลหุภาโว  เม  ปญฺญายิสฺสติ = ความเป็นคนผลุนผลันจักปรากฏแก่เรา

………………………

ผมเชื่อว่าผู้มีหน้าที่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิดให้แก่ประชาชนทุกภาคส่วนท่านกำลังทำหน้าที่ของท่านอยู่อย่างเต็มกำลังความสามารถแล้ว

เราควรให้ผู้มีหน้าที่ทำหน้าที่ของท่านไปด้วยความสบายใจ

ขอย้ำคำเดิมครับ – ผมจะได้ฉีดเมื่อไรไม่มีปัญหา รอได้ สบายอยู่แล้ว

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๔

๑๙:๓๕

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *