บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

คาถากลัวเข็ม

คาถากลัวเข็ม

————–

………………………..

สวัสดีครับท่านอาจารย์ มีเรื่องรบกวนท่านอาจารย์ครับ 

อย่างที่ทราบว่า ตอนนี้รัฐบาลเร่งฉีดวัคซีนโควิดให้กับคนทั้งประเทศ แต่ก็มีคนจำนวนมากกลัวเข็มฉีดยา พาลให้ไม่อยากฉีด เท่าที่สัมผัสกับตัวเอง รู้เลยว่ามีคนกลัวเข็มมากจริง

เลยอยากขอคำแนะนำจากท่านอาจารย์ว่า มีคำสอนพุทธศาสนาตรงไหนบ้างที่จะทำให้คนมีความกล้า ไม่กลัวเข็ม ก่อนฉีดสมควรระลึกนึกถึงเรื่องใด หรือตอนกำลังฉีด ควรนึกถึงอะไร ที่จะได้ทำให้ความกลัวหายไป ผมคิดว่าน่าจะมีประโยชน์ต่อประชาชนจำนวนมากในขณะนี้ครับ

ต้องขออภัยหากเป็นการเพิ่มภาระให้อาจารย์โดยใช่เหตุ แต่พอมาคิดถึงประโยชน์ของชนจำนวนมากที่จะได้รับจากคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ ผมก็คิดว่า ต้องรบกวนท่านอาจารย์ครับ 

Kendee Bua-anan

………………………..

มีญาติมิตรขอคำแนะนำมา แต่ผมอ่านแล้วเห็นว่าเป็นข้อเสนอแนะ และเป็นข้อเสนอแนะที่ดีมากด้วย ก็จึงเต็มใจจัดให้-ด้วยความขอบคุณ

ผมตั้งชื่อว่า “คาถากลัวเข็ม” แต่ขอเรียนว่า นี่ไม่ใช่คาถาอาคมที่ท่องแล้วขลังศักดิ์สิทธิ์ ท่องแล้วไม่กลัวเข็มฉีดยา หรือท่องแล้วเข็มแทงไม่เข้า

นี่เป็นคาถาสำรับสวดเพื่อตรองตรึกศึกษา ใครยังไม่เคยเห็นมาก่อนก็ลองอ่านดู อ่านแล้วก็ลองตรองตรึกดูว่าท่านพูดถึงเรื่องอะไร ถ้าศรัทธาเลื่อมใสก็ลองพยายามท่อง ท่องเฉพาะภาษาบาลี แต่ใครมีอุตสาหะจะท่องคำแปลด้วยก็ยิ่งดี 

ท่านจะใช้วิธีเปิดอ่านก็ได้ แต่ผมไม่สนับสนุน ผมสนับสนุนให้ท่านใช้วิธีท่อง เก็บข้อความไว้ในความจำ ไม่ใช่เก็บไว้ในเครื่องหรือในหนังสือ

คำแปลที่ขึ้นต้นว่า “มนุษย์ทั้งหลายเป็นอันมากอันภัยคุกคามแล้ว” เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ 

“อันภัยคุกคามแล้ว” ก็คือกลัวสารพัดที่จะกลัว เมื่อกลัวก็วิ่งหาที่พึ่ง

ตรงหาที่พึ่งนี่แหละคือหัวใจที่ท่านสอน ที่พึ่งก็มีทั้งที่พึ่งที่ “เขมะ” คือปลอดภัยแน่ๆ และที่ “อเขมะ” คือพึ่งได้แต่ไม่ปลอดภัย ซึ่งเป็นที่มาของชื่อคาถา “เขมาเขมสรณคมนปริทีปิกคาถา” แปลว่า คาถาที่แสดงการหาที่พึ่งที่เขมะและไม่เขมะ

โปรดสังเกตว่า ท่านไม่ได้ปฏิเสธว่าภูเขา ต้นไม้ เจ้าที่เจ้าป่าหรืออะไรๆ ที่มนุษย์ชอบพึ่งกันนั้นไม่ใช่ที่พึ่ง

ท่านบอกว่าเป็นที่พึ่งได้ แต่ไม่ปลอดภัยแท้ ที่ปลอดภัยแท้คือพึ่งอะไร พึ่งอย่างไร โปรดศึกษาดู ไม่ได้ขอให้เชื่อ ไม่ได้ขอให้พึ่ง แต่ขอให้ศึกษาดู

เมื่อศึกษาจนเข้าใจเข้าถึงแล้ว ก็ตัดสินใจเอาเองว่าจะพึ่งหรือไม่พึ่ง

ข้อความภาษาบาลีท่านแต่งเป็นกลอน “กลอน” ในภาษาบาลีท่านเรียกว่า “คาถา” เพราะฉะนั้นข้อความนี้คือ “คาถา” ตัวจริง ไม่ใช่คำบาลีปนไทยคำสองคำที่เอาไปท่องกัน แล้วก็เรียกกันว่า “คาถา”

ข้อความคำสอนที่สอนไม่ให้กลัวอะไรๆ ยังมีอีก และที่ตรงกับเรื่องดีกว่านี้ก็คงมี แต่ผมนึกไม่ออก นึกได้แต่คาถานี้ ญาติมิตรท่านใดนึกได้ ขอแรงช่วยกันเข้ามาเติมเต็มให้ด้วยนะครับ

——————

เขมาเขมสรณคมนปริทีปิกคาถา

(เขมาเขมะสะระณะคะมะนะปะริทีปิกะคาถา)

พะหุง  เว  สะระณัง  ยันติ 

ปัพพะตานิ  วะนานิ  จะ

อารามะรุกขะเจต๎ยานิ

มะนุสสา  ภะยะตัชชิตา.

มนุษย์ทั้งหลายเป็นอันมากอันภัยคุกคามแล้ว 

ย่อมถึงภูเขาทั้งหลายบ้าง ป่าทั้งหลายบ้าง

อารามแลต้นไม้ที่เป็นเจดีย์ทั้งหลายบ้าง 

ว่าเป็นสรณะ

เนตัง  โข  สะระณัง  เขมัง

เนตัง  สะระณะมุตตะมัง

เนตัง  สะระณะมาคัมมะ

สัพพะทุกขา  ปะมุจจะติ.

นั่นไม่ใช่สรณะอันเกษม

นั่นไม่ใช่สรณะอันอุดม

เขาอาศัยอันนั้นเป็นสรณะแล้ว

ย่อมไม่พ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้

โย  จะ  พุทธัญจะ  ธัมมัญจะ 

สังฆัญจะ  สะระณัง  คะโต

จัตตาริ  อะริยะสัจจานิ

สัมมัปปัญญายะ  ปัสสะติ.

ส่วนว่าผู้ใดถึงพระพุทธด้วย พระธรรมด้วย 

พระสงฆ์ด้วย ว่าเป็นสรณะแล้ว

มาเห็นอริยสัจทั้งสี่ 

ด้วยปัญญาอันชอบ

ทุกขัง  ทุกขะสะมุปปาทัง

ทุกขัสสะ  จะ  อะติกกะมัง

อะริยัญจัฏฐังคิกัง  มัคคัง

ทุกขูปะสะมะคามินัง.

คือทุกข์ แลตัณหาเป็นแดนเกิดขึ้นพร้อมแห่งทุกข์ คือสมุทัย

แลความก้าวล่วงทุกข์คือนิโรธ

แลมรรคมีองค์แปดอันไปจากข้าศึก

ให้ถึงพระนิพพาน เป็นที่เข้าไประงับทุกข์

เอตัง  โข  สะระณัง  เขมัง

เอตัง  สะระณะมุตตะมัง

เอตัง  สะระณะมาคัมมะ

สัพพะทุกขา  ปะมุจจะตีติ.

นี่แหละเป็นสรณะอันเกษม

นี่เป็นสรณะอันอุดม

ผู้นั้นอาศัยอันนี้เป็นสรณะแล้ว

ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ ดังนี้.

ที่มา: พุทธวรรค ธรรมบท พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๒๔

——————

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๔

๑๐:๔๘

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *