บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ช่วยกันพายได้ด้วยก็จะดียิ่งขึ้น (๑)

ช่วยกันพายได้ด้วยก็จะดียิ่งขึ้น (๑)

————————-

วันสองวันมานี้ผมเห็นพระคุณเจ้าบางรูปนำเรื่องพระราชปุจฉามาเผยแพร่ทางเฟซบุ๊ก บางรูปนำเรื่องวิธีการเข้าถึงพระไตรปิฎกที่พระเถระในอดีตท่านทำไว้เป็นแนวทางมาบอกเล่า และบางท่านเสนอโครงร่างหลักสูตรบาลีแผนใหม่ที่มีตัวพระไตรปิฎกเข้ามาอยู่ในหลักสูตรด้วย

ขอกราบอนุโมทนาสาธุการกับทุกท่านด้วยความดีใจเป็นอย่างยิ่ง 

เรื่องเหล่านี้มีเหตุจูงใจมาจากกรณีมีพระราชปุจฉาซึ่ง ณ วันนี้เป็นที่รู้ทั่วกันแล้ว

ผมขออนุญาตคัดข้อความเต็มๆ ในพระราชปุจฉามาประดิษฐานไว้ในที่นี้ดังนี้ 

……………………………

(ตราอักษรพระปรมาภิไธย)

พระราชปุจฉา

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชศรัทาในพระพุทธศาสนา ทรงสนพระทัยศึกษาธรรมะอันสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงสั่งสอนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพระไตรปิฎก อันเป็นหลักฐานการบันทึกองค์ธรรมแห่งการตรัสรู้และการเทศนาสั่งสอนของพระพุทธองค์ จึงมีพระราชปุจฉาเผดียงถามสมเด็จพระสังฆราชและพระเถรานุเถระทั้งหลายว่า จะส่งเสริมการเรียนการสอนพระบาลีอย่างไรให้เข้าถึงพระไตรปิฎก ขอสมเด็จพระสังฆราชและพระเถรานุเถระทั้งหลายได้ถวายวิสัชนาในพระราชปุจฉานี้ด้วยเทอญ

(พระปรมาภิไธย)

๘ เมษายน ๒๕๖๔

……………………………

ภาระในการถวายวิสัชนาในพระราชปุจฉานี้เป็นของสมเด็จพระสังฆราชและพระเถรานุเถระทั้งหลายโดยตรงก็จริงอยู่ แต่เราทั้งหลาย-โดยเฉพาะพุทธบริษัท-ย่อมมีสิทธิและหน้าที่ในอันที่จะอัญเชิญพระราชปุจฉามาขบคิดเพื่อเจริญปัญญาโดยทั่วกัน

ต่อไปนี้เป็นข้อขบคิดของผมครับ

หัวใจในพระราชปุจฉาอยู่ตรงข้อความว่า –

…………………………………….

“จะส่งเสริมการเรียนการสอนพระบาลีอย่างไรให้เข้าถึงพระไตรปิฎก”

…………………………………….

และผมคิดว่าคำสำคัญหรือที่นิยมใช้คำฝรั่งเรียกว่า key word ก็คือคำว่า “การเรียนการสอนพระบาลี” และคำว่า “เข้าถึงพระไตรปิฎก” 

…………………….

เมื่อวันโกนที่แล้ว (ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ วันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๖๔) ผมไปสนทนาธรรมกับพระเดชพระคุณพระธรรมปัญญาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ ราชบุรี และเจ้าคณะจังหวัดราชบุรี ปรารภเรื่องพระราชปุจฉาสู่กันฟัง พระเดชพระคุณจับคำว่า “เข้าถึงพระไตรปิฎก” ขึ้นมาอภิปราย 

ท่านเล่าว่า สมัยเมื่อท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ เกี่ยว อุปเสณมหาเถระยังไม่ล่วงลับ ท่านเคยไปวัดสระเกศบ่อย (ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ และพระเทพวิสุทธิโมลี (ช้อย มหาธีโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ ราชบุรี เป็นสหธรรมิกประโยค ๙ ศิษย์ท่านอาจารย์แย้มมาด้วยกัน อยู่ในชุดที่เรียกกันว่า “ปัญจวัคคีย์” หรือ “เบญจภาคี” ประกอบพระมหาเถระอันมีนามเดิมว่า “เกี่ยว นิยม พลอย ช้อย ช่วง” พระเถระวัดสระเกศกับวัดมหาธาตุราชบุรีจึงไปมาติดต่อกันอยู่เสมอ) และเคยเห็นว่า ที่บริเวณเชิงบรมบรรพตมีห้องเรียงรายอยู่ ท่านเคยไปเห็นตอนค่ำๆ มีพระเข้าไปนั่งอ่านพระไตรปิฎก มีญาติโยมมานั่งฟัง บรรยากาศแบบ “อ่านหนังสือให้คุณยายฟัง” ในสมัยก่อน 

ท่านเห็นว่าเป็นวิธีการที่ดีที่ทำให้คนเข้าถึงพระไตรปิฎก ท่านกำลังคิดจะเอามาทำที่วัดมหาธาตุราชบุรีบ้าง เห็นว่าจะสอดคล้องกับพระราชปุจฉาในครั้งนี้

เมื่อวันก่อนผมได้อ่านโพสต์ของพระคุณเจ้ารูปหนึ่งเล่าถึงท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ (นิยม ฐานิสสรมหาเถระ) อดีตเจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม ท่านเจ้าพระคุณก็ใช้วิธีอ่านพระไตรปิฎกให้พระเณรฟังในเวลาลงทำวัตรทุกวัน 

ทั้งสองตัวอย่างนี้ ผมเห็นว่าเป็นวิธีที่ควรแก่การอนุโมทนา และควรทำให้แพร่หลายกว้างขวางไปในทุกๆ อาราม 

แต่ทว่า…ไม่ตรงประเด็นตามพระราชปุจฉา

พระราชปุจฉามิได้ตรัสถามว่า จะมีวิธีส่งเสริมให้พระภิกษุสามเณรและประชาชนเข้าถึงพระไตรปิฎกได้อย่างไรบ้าง

ถ้าตรัสถามเช่นนี้ละก็ วิธีตามตัวอย่างนั้นตรงประเด็นที่สุด

นอกจากนี้ยังมีวิธีการอื่นๆ อีก เช่น-

พิมพ์พระไตรปิฎกแจกจ่ายให้ประชาชน

จัดทำรายการ “อ่านพระไตรปิฎกให้คุณยายฟัง” ลงเผยแพร่ทางยูทูบ

เปิดสอนพระไตรปิฎกตามสำนักเรียนต่างๆ

ฯลฯ

ล้วนแต่เป็นวิธีส่งเสริมให้คนเข้าถึงพระไตรปิฎกได้ทั้งสิ้น

แต่ทว่า…ไม่ตรงประเด็นตามพระราชปุจฉาอยู่นั่นเอง

พระราชปุจฉาตรัสถามว่า จะส่งเสริมการเรียนการสอนพระบาลีให้เข้าถึงพระไตรปิฎกได้อย่างไร

มิได้ตรัสถามว่า จะมีวิธีส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงพระไตรปิฎกได้อย่างไร

ถ้าจับประเด็นผิด คำวิสัชนาก็จะพลาด 

พระราชปุจฉาระบุการ “เข้าถึงพระไตรปิฎก” โดยใช้วิธี “การเรียนการสอนพระบาลี” เพราะฉะนั้น ก็ตัดวิธีอื่นๆ ออกไปได้

การเข้าถึงพระไตรปิฎกด้วยวิธีอื่นๆ ก็ยังคงต้องทำกันต่อไป ไม่ต้องหยุดและไม่ต้องแย้งกับพระราชปุจฉาแต่ประการใดเลย

จะส่งเสริมให้คนเข้าถึงพระไตรปิฎกได้ด้วยวิธีอย่างไรบ้าง ก็ทำกันไป

จะคิดอ่านหาวิธี-ไม่ต้องเรียนบาลีก็เข้าถึงพระไตรปิฎกได้ ก็คิดทำกันไป

แต่ในกรอบพระราชปุจฉานี้ พิจารณาเฉพาะปัญหา “การเรียนการสอนพระบาลี” ที่จะนำไปสู่การ “เข้าถึงพระไตรปิฎก”

(ยังไม่จบครับ)

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๗ เมษายน ๒๕๖๔

๑๘:๕๗

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………ภาพประกอบจากโพสต์ของ เพิ่มพูน สุขเวศก์

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *