บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

เรียนคุณครูที่เคารพยิ่ง

เรียนคุณครูที่เคารพยิ่ง

หนังสือ “ร้อยปีชาตกาลอาจารย์แย้ม” ที่คุณครูเมตตาส่งไปนั้นกระผมได้รับเรียบร้อยแล้ว กราบขอบพระคุณครูครูเป็นอย่างยิ่ง

อ่านหนังสือแล้วก็ยิ่งระลึกถึงท่านอาจารย์แย้ม โดยเฉพาะระลึกถึงคราวที่ท่านได้รับพระราชทานปริญญาอักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ระลึกถึงเรื่องที่ท่านอาจารย์คงเดช ประพัฒน์ทอง (ลูกชายคนโตของท่านอาจารย์แย้ม) เล่าให้ฟังซึ่งกระผมเชื่อว่าหลายคนอาจจะยังไม่รู้ จึงขออนุญาตใช้พื้นที่หน้าบ้านคุณครูเล่าสู่กันฟัง

สมัยรับราชการที่หอสมุดแห่งชาติ ท่านอาจารย์คงเดชถ่ายทอดปฏิปทาหลายอย่างของท่านอาจารย์แย้มให้ฟัง รวมทั้ง “เกร็ด” ในวันรับพระราชทานปริญญาฯ ด้วย

ท่านที่ยังไม่ทราบ พึงทราบทั่วกันว่า ท่านอาจารย์แย้ม หรือนามเต็มยศคือ นาวาอากาศเอก แย้ม ประพัฒน์ทอง อดีตผู้อำนวยการกองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารอากาศ ท่านเป็นพระอาจารย์สอนวิชาภาษาบาลีถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ คือสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ ในบัดนี้ เมื่อครั้งที่ทรงศึกษาระดับปริญญาโทสาขาวิชาบาลีและสันสกฤตที่จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย

เรื่องในวันรับพระราชทานปริญญาบัตรก็คือ วันนั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๙) เสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่หอประชุมจุฬาฯ แล้ว อยู่ในขั้นตอนกราบบังคมทูลถวายรายงานและขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเบิกตัวผู้ได้รับพระราชทานปริญญากิตติมศักดิ์และผู้สำเร็จการศึกษาเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ในขั้นตอนนี้ผู้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ซึ่งรวมทั้งท่านอาจารย์แย้มด้วย จะต้องยืนเฝ้าเป็นเวลานาน 

น่าจะเป็นเพราะทรงเห็นว่าท่านอาจารย์แย้มอายุมากแล้ว การยืนเป็นเวลานานจะทำให้ลำบาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมหากรุณาธิคุณรับสั่งให้สมเด็จพระเทพฯ ซึ่งโดยเสด็จพระราชดำเนินด้วยไปบอกท่านอาจารย์แย้มว่ามีพระบรมราชานุญาตให้ท่านอาจารย์แย้มนั่งเฝ้าได้ ก็คือให้ท่านออกมานั่งเฝ้าที่เก้าอี้เถิด 

เมื่อสมเด็จพระเทพฯ เสด็จไปตรัสบอก ท่านอาจารย์แย้มทูลตอบเป็นภาษาบาลีว่า “ขมนียํ”

คำทูลตอบนี้นักเรียนบาลีย่อมเข้าใจความหมายได้ทั่วกัน แต่ผู้ที่ไม่ได้เรียนบาลีคงไม่เข้าใจ

“ขมนียํ” อ่านว่า ขะ-มะ-นี-ยัง แปลตามศัพท์ว่า “อันบุคคลพึงทน

ถ้าใช้เป็นคำทักทายเมื่อพบกัน “ขมนียํ” ลงเสียงสูงที่พยางค์ท้ายเป็น ขะมะนีหยัง มีความหมายว่า สบายดีหรือ

เวลาตอบ ผู้ตอบก็ใช้คำเดียวกัน คือตอบว่า “ขมนียํ” แปลว่า สบายดี

ถ้าใช้เป็นคำบอกเล่า คือพูดบอกกันตามปกติ “ขมนียํ” มีความหมายว่า ยังพอทนได้ ยังสบายดีอยู่ ตรงกับคำที่เราพูดกันติดปากว่า ไม่เป็นไร แบบนี้ก็ดีแล้วไม่เป็นไรหรอก-ประมาณนั้น

เมื่อสมเด็จพระเทพฯ เข้าไปไปกราบทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะกราบทูลอย่างไรไม่มีใครทราบ แต่มีผู้สังเกตเห็นว่าทรงแย้มพระสรวล กระผมเข้าใจว่าแม้สมเด็จพระเทพฯ เองเมื่อได้ทรงฟังคำทูลตอบของท่านอาจารย์แย้มก็คงจะทรงแย้มพระสรวลเช่นกัน เพราะทรงเข้าพระทัยภาษาบาลีเป็นอย่างดี

นับว่าท่านอาจารย์แย้มทูลตอบได้คมคาย เข้ากับบรรยากาศ เข้ากับเหตุการณ์ยิ่งนัก 

“เกร็ด” ตามที่เล่ามานี้เรียบเรียงจากคำบอกเล่าของท่านอาจารย์คงเดช ประพัฒน์ทอง 

กระผมเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่นักเรียนบาลี-โดยเฉพาะที่เป็นศิษย์ของท่านอาจารย์แย้ม-น่าจะจดจำนำไปเล่าขานกันต่อไปได้ เป็นการเสริมเกียรติของท่านอาจารย์แย้มให้สง่างามยิ่งขึ้น

กระผมเข้าใจว่า วันนั้นเมื่อออกจากจุฬาฯ แล้วท่านอาจารย์แย้มก็ตรงไปวัดสามพระยา ที่นั่นคณะสงฆ์จัดพิธีเจริญชัยมงคลคาถาเป็นการเฉลิมฉลองปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ให้แก่ท่านอาจารย์แย้ม สมเด็จพระเทพฯ เสด็จในพิธีนี้ด้วย พิธีกระทำที่พระอุโบสถ กระผมจำได้แม่นเพราะอยู่ในเหตุการณ์ จะก่อนหรือหลังพิธีไม่แน่ใจได้เห็นพระองค์ท่านประทับยืนอยู่นอกพระอุโบสถแต่ภายในกำแพงแก้ว มีพระราชปฏิสันถารกับบรรดาผู้มาร่วมพิธีซึ่งส่วนมากเป็นลูกศิษย์ท่านอาจารย์แย้ม

เสร็จพิธีที่วัดสามพระยาพวกเราก็พากันไปที่บ้านท่านอาจารย์แย้ม มีการเลี้ยงฉลองกันที่บ้าน จนได้เวลาพอสมควรก็ถ่ายรูป จัดให้ท่านอาจารย์แย้มนั่งตรงกลาง บรรดาลูกศิษย์นั่งหรือยืนชักปีกกาสองข้าง 

กระผมจำเหตุการณ์ตรงนี้ได้ไม่มีวันลืม ในขณะที่ทุกคนเข้าประจำที่กันอยู่นั้น ท่านอาจารย์ร้องถามเสียงดังว่า “ย้อยล่ะ” เข้าใจว่าท่านมองหากระผมไม่เห็นจึงร้องถามขึ้น ขณะนั้นกระผมกำลังสาละวนหยิบจับเก็บอะไรอยู่อีกทางหนึ่ง จึงรีบขานรับแล้ววิ่งมาเข้าฉาก จำได้ว่ามานั่งแถวหน้าอยู่ทางซ้ายของท่านอาจารย์ แต่อยู่ปลายๆ แถว

กระผมเชื่อว่าครอบครัวประพัฒน์ทองยังเก็บรักษาภาพชุดนี้ไว้ ถ้าคุณครูมีภาพหมู่ที่พวกเราถ่ายกับท่านอาจารย์ในวันนั้น และไม่เป็นการลำบากจะกรุณาถ่ายจำลองมาให้กระผมดูสักภาพก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง อาจเจอตัวเองอยู่ในภาพใดภาพหนึ่ง จะได้เก็บไว้เป็นที่ระลึกและเป็นอนุสรณ์ถึงท่านอาจารย์แย้มครับผม

ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๓ พฤษภาคม ๒๕๖๔

๑๕:๕๐

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *