บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

เรื่องไม่ได้ความ

เรื่องไม่ได้ความ

—————-

วันสองวันมานี้ผมเจอเรื่อง “ไม่ได้ความ” ๒ เรื่อง ขออนุญาตนำมาเล่าสู่กันฟังเป็นเครื่องประเทืองความคิด

“ประเทืองความคิด” หมายความว่าชวนให้ขบคิด คือไปเจอเรื่องอะไรมาก็เอามาชวนกันขบคิด เพื่อให้เกิดสติปัญญาในเรื่องนั้นๆ ต่อไปอีก

เรื่องแรกก็คือ มีญาติมิตรท่านหนึ่งยกเรื่อง “อันตราย ๑๐ อย่าง” ขึ้นมาปรารภสู่กันฟัง 

สรุปสั้นๆ ให้ฟังกันก่อน มิเช่นนั้นจะไม่เข้าใจ คือ “อันตราย ๑๐ อย่าง” ที่พูดถึงนี้หมายถึง เหตุการณ์ ๑๐ กรณีที่เมื่อเกิดขึ้นในขณะที่พระสงฆ์กำลังสวดปาติโมกข์ มีพุทธานุญาตให้งดสวดปาติโมกข์แบบเต็มสูตรตามปกติ แต่ให้สวดอย่างย่อ ทั้งนี้เพื่อจะได้มีเวลาจัดการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น

“อันตราย ๑๐ อย่าง” ก็เช่น – 

พระราชาเสด็จมา (คำบาลีใช้ว่า “ราชันตราย”) 

โจรผู้ร้ายเข้ามา (โจรันตราย) 

ไฟไหม้ (อัคยันตราย) 

น้ำหลาก (อุทกันตราย) 

อย่างนี้เป็นต้น

ญาติมิตรท่านนั้นอธิบายว่า พระราชามีอันตรายอย่างไร โจรมีอันตรายอย่างไร ไฟมีอันตรายอย่างไร ฯลฯ แล้วก็อ้างว่า นี่แหละที่พระพุทธเจ้าตรัสเรื่อง “อันตราย ๑๐ อย่าง” 

ผมได้ฟังดังนั้นก็ท้วงว่า ไม่ใช่อย่างนั้น 

เรื่อง “อันตราย ๑๐ อย่าง” ตรงนี้พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสโดยมุ่งจะสอนแบบนั้น แต่ตรัสโดยมุ่งจะแสดงว่า พระจะสวดปาติโมกข์ย่อได้ในกรณีใดบ้าง โดยทรงแสดงกรณีที่เป็นเหตุให้สวดปาติโมกข์ย่อได้ไว้ ๑๐ รายการ เรียกว่า “อันตราย ๑๐ อย่าง” เช่นราชันตราย คือพระกำลังจะสวดปาติโมกข์ แต่พระราชาเสด็จเข้ามาในวัด – กรณีอย่างนี้ไม่ต้องสวดเต็ม แต่ให้สวดย่อ อย่างนี้เป็นต้น

………………………….

ดูเพิ่มเติม: 

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/2866490820111303

………………………….

เรื่อง “อันตราย ๑๐ อย่าง” ตรงนี้พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสสอนว่า พระราชามีอันตรายอย่างไร โจรมีอันตรายอย่างไร ฯลฯ ใครอยากรู้ว่าพระราชามีอันตรายอย่างไร โจรมีอันตรายอย่างไร ฯลฯ พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างไรหรือเปล่า ต้องไปค้นดูในที่อื่น ถ้าพระพุทธเจ้าตรัสไว้จริง ค้นดูก็ต้องเจอ เช่นอาจจะเจอว่าตรัสไว้ในพระสูตรนั้น พระไตรปิฎกเล่มนั้น 

แต่จะมาอ้างว่าตรัสไว้ในเรื่อง “อันตราย ๑๐ อย่าง” ตรงนี้ไม่ได้ เพราะตรงนี้ไม่ได้ตรัสสอนเรื่องแบบนั้น

คำท้วงของผมคงจะฟังไม่ได้ความ เพราะญาติมิตรท่านนั้นท่านไม่เข้าใจว่าผมท้วงในแง่ไหน

ผมท้วงแง่ไหน-ขออนุญาตยกตัวอย่างขยายความเพิ่มเติมไว้ในที่นี้อีกหน่อย เพื่อให้ชัดขึ้น

สมมุติว่า มีใครคนหนึ่งกล่าวขึ้นว่า “ภิกษุเสพเมถุน ต้องอาบัติปาราชิกตามสิกขาบทที่ ๔” (สี่)

“ภิกษุเสพเมถุน ต้องอาบัติปาราชิก” – ตรงนี้ถูกต้อง ไม่เถียง

แต่ตรงที่ว่า “ตามสิกขาบทที่ ๔” – อันนี้ต้องท้วง เพราะไม่ถูกต้อง

สิกขาบทที่ ๔ บัญญัติว่า “ภิกษุอวดอุตริมนุสธรรมที่ไม่มีในตน ต้องอาบัติปาราชิก” 

ไม่ใช่กรณีเสพเมถุน

กรณีเสพเมถุนบัญญัติไว้ในสิกขาบทที่ ๑ ไม่ใช่สิกขาบทที่ ๔

เพราะฉะนั้น ถ้าจะอ้างสิกขาบท ต้องบอกว่า “ภิกษุเสพเมถุน ต้องอาบัติปาราชิกตามสิกขาบทที่ ๑” (หนึ่ง)

กรณีนี้ฉันใด

กรณีอันตราย ๑๐ อย่างก็ฉันนั้น

พระราชามีอันตรายอย่างไร โจรมีอันตรายอย่างไร ไฟมีอันตรายอย่างไร ฯลฯ ถ้าจะอ้างว่าพระพุทธเจ้าตรัสสอน ก็ต้องอ้างพระสูตรอื่น พระไตรปิฎกเล่มอื่น 

จะอ้าง “อันตราย ๑๐ อย่าง” ในเรื่องสวดปาติโมกข์ย่อไม่ได้-เทียบกับกรณีปาราชิกก็คือ-เพราะเป็นคนละสิกขาบทกัน

หวังว่าคำชี้แจงเพิ่มเติมนี้คงพอฟังได้ความ 

————-

เรื่องที่ ๒ มีญาติมิตรยกข้อความที่เป็นคำบาลีที่ว่ากันว่าเป็นคาถาขลังขึ้นมาถามกันในกลุ่มผู้เรียนบาลี ขอให้คนที่รู้บาลีช่วยแปลให้ฟังหน่อย (คาถาว่าอย่างไร ดูภาพประกอบ)

มีญาติมิตรเข้ามาตอบกันเยอะแยะ บอกว่า คาถาที่ยกมานั้นเอาคำนั้นกับคำโน้นมาประสมกันผิดบ้างถูกบ้าง แบบนี้แปลไม่ได้ความหรอก

ผมอ่านความคิดเห็นต่างๆ แล้วก็เห็นว่าเข้าใจไปคนละอย่าง

คนถามขอให้แปลคำบาลีในคาถา

คนตอบบอกว่าคาถานั้นปนกันมั่ว แปลไม่ได้ความ

คนถามไม่ได้ขอให้แปลคาถานั้นให้ได้ความ 

แต่ขอให้แปลคำบาลีในคาถานั้น

อยากรู้ว่าแต่ละคำแปลว่าอะไร

ไม่ได้อยากรู้ว่าทั้งหมดนั้นแปลได้ความว่าอย่างไร

ผมแสดงความคิดเห็นไปว่า –

………………………….

เนื่องจากปัญหานี้เกี่ยวโดยตรงกับ “ภาษาบาลี” และเอามาถามกันในกลุ่มของผู้เรียนบาลี เพื่อให้ได้ประโยชน์ชนิดที่เป็นเนื้อเป็นหนัง ไม่สะเปะสะปะพร่ามัว ผมขอเสนอแนวทางการจัดการกับปัญหาดังนี้ 

๑. ช่วยกันพิจารณาถ้อยคำแต่ละคำตามที่ปรากฏ แล้ววินิจฉัยว่าคำนั้นๆ ที่ถูกต้องตรงกับหลักภาษาบาลีควรสะกดอย่างไร อ่านอย่างไร และแปลอย่างไร บอกรากศัพท์ไว้ด้วยเพื่อประโยชน์แก่ผู้เรียนบาลี 

แน่นอนว่าการจะทำเช่นนี้ได้ เราก็ต้องมีความรู้ภาษาบาลี นั่นเท่ากับเป็นการกระตุ้นเตือนหรือบังคับกลายๆ ให้พวกเราเร่งขวนขวายหาความรู้เกี่ยวกับภาษาบาลี สมกับเจตนารมณ์ของการตั้งกลุ่มผู้เรียนบาลี

๒. ลึกลงไปอีก ช่วยกันศึกษาสืบค้นว่าคำนั้นๆ (ที่ปรับแก้ถูกต้องแล้วตามข้อต้น) มีปรากฏหรือมีใช้อยู่ที่ไหน เช่นใช้ในกิจอะไร หรือมีอยู่ในคัมภีร์อะไรเป็นต้น ตามไปดูให้รู้แน่ ได้ความรู้แล้วเอามาบอกกล่าวให้คนอื่นๆ ได้รู้ด้วย

๓. เมื่อชำระสะสางจนได้ศัพท์ได้คำได้ความหมายได้ที่ไปที่มาถูกต้องครบถ้วนแล้ว ต่อจากนั้นถ้ายังประสงค์จะแสดงความคิดเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์ในแง่มุมใดๆ อยู่อีก จึงค่อยแสดงออกไปโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานหลักวิชาที่ได้ข้อยุติแล้วตาม ๒ ข้อข้างต้น

ด้วยวิธีการดังนี้ เราก็จะได้ทั้งความรู้ ได้ทั้งความเห็นที่ตั้งอยู่บนความรู้ อันจะอำนวยประโยชน์ให้แก่ทุกฝ่าย 

………………………….

แสดงความคิดเห็นไปแล้ว ก็ยังมีผู้ตอบยืนยันอยู่นั่นเองว่า คาถานั้นแปลไม่ได้ความ

เขาขอให้แปลเป็นคำๆ ให้ฟังหน่อย

บอกว่า คาถานั้นแปลไม่ได้ความ

ทำไมเข้าใจกันยากจังเลย

————–

ดูให้ดี คาถานั้นถ้ายกแต่ละคำมาช่วยกันวินิจฉัยว่า รูปคำบาลีจริงๆ ควรเป็นอย่างไร ประกอบศัพท์ว่าอย่างไร มีใช้อยู่ในเรื่องอะไร ตามที่ผมเสนอแนะไป เราก็จะได้ความรู้ทางภาษาบาลีเพิ่มขึ้นอีกเยอะ

ลองทำเป็นแซมเปิลๆ เช่น –

สะมุหะเนยยะ เขียนแบบบาลีเป็น สมูหเนยฺย อ่านว่า สะ-มู-หะ-เนย-ยะ 

โปรดสังเกตว่า จากที่เขียน สะมุ– บาลีเป็น สมู

รากศัพท์มาจาก สํ คำอุปสรรค = พร้อมกัน + อุ คำอุปสรรค = ขึ้น + หนฺ ธาตุ = กำจัด + เอยฺย วิภัตติอาขยาต, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น , ทีฆะ อุ เป็น อู

: สํ > สม + อุ = สมุ + หนฺ = สมุหนฺ + เอยฺย = สมุหเนยฺย > สมูหเนยฺย แปลว่า “พึงถอนขึ้นพร้อมกัน

นี่แสดงลัดๆ แสดงเต็มยังต้องบอกปัจจัยประจำหมวดธาตุ บอกวจนะ บอกบุรุษ (คือประธาน) บอกบท บอกกาล บอกวาจก ละเอียดยิบไปอีก แล้วถ้าจะค้นต่อไป ก็ค้นไปว่า คำแบบนี้ใช้ในกรณีแบบไหน อยู่ในเรื่องอะไร ข้อความว่าอย่างไร

คำอื่นๆ ก็ใช้หลักการแบบเดียวกันนี้

นี่คือกระบวนการศึกษาภาษาบาลี ถ้าตอบกันด้วยวิชาการแบบนี้ คนตอบก็ได้ทบทวนหลักวิชา คนถามก็ได้ความรู้ คนเข้ามาอ่านก็พลอยได้ความรู้ไปด้วย เป็นการ “อำนวยประโยชน์ให้แก่ทุกฝ่าย” – อย่างที่ผมว่า

น่าเสียดายที่เราไม่ค่อยได้คำนึงถึงหลักการแบบนี้ 

ผู้เข้ามาตอบก็มักแสดงความรู้สึกนำหน้า แต่ไม่ค่อยได้หาความรู้มากำกับไว้ด้วย 

ผลก็คือ-ไม่ได้ความ

ถ้ายังเป็นกันแค่นี้ การเรียนบาลีในบ้านเราจะไปกันได้แค่ไหน?

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๘ เมษายน ๒๕๖๔

๑๓:๔๘

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *