บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

อสาธารณนามบาลีสู่เวทีโลก

อสาธารณนามบาลีสู่เวทีโลก

เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๔ ผมมีโอกาสได้นมัสการพระเดชพระคุณพระเทพศากยวงศ์บัณฑิตที่วัดบวรนิเวศวิหาร 

นามสมณศักดิ์ “พระเทพศากยวงศ์บัณฑิต”อาจจะไม่คุ้นตา แต่ถ้าบอกว่า “พระอนิลมาน” หลายท่านคงร้องอ๋อ

ท่านอนิลมานเป็นชาวเนปาล สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวรทรงอุปถัมภ์มาตั้งแต่เป็นสามเณรมาอยู่วัดบวรฯ 

พระคุณท่านดำรงมั่นอยู่ในสมณเพศจนได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่ “พระเทพศากยวงศ์บัณฑิต”

วันนั้นได้สนทนาเรื่องที่สนใจร่วมกันหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือเรื่องอสาธารณนามบาลี 

เรื่องก็มาจากผมได้นมัสการถามท่านอนิลมานว่า กรุงกาฐมาณฑุเมืองหลวงของเนปาล ที่คำอังกฤษเรียกว่า Kathmandu นั้นถ้าเรียกเป็นคำบาลีจะเรียกว่าอะไร

ท่านอนิลมานตอบว่า กาฐมาณฑุ ตรงกับคำบาลีว่า “กฏฺฐมณฺฑป” 

“กฏฺฐมณฺฑป” อ่านว่า กัด-ถะ-มัน-ดะ-ปะ

“กฏฺฐ” แปลว่า ไม้ (wood) 

“มณฺฑป” ก็คือที่เราทับศัพท์ว่า มณฑป

“กฏฺฐมณฺฑป” แปลว่า “มณฑปไม้”

แต่เป็นเพราะระบบการออกเสียงหรืออะไรก็ไม่ทราบ ฝรั่งเอาไปเขียนเพี้ยนเป็น Kathmandu

“กฏฺฐมณฺฑป” ก็เลยกลายเป็น “กาฐมาณฑุ” 

ผมว่าคนไทยแม้ที่เรียนบาลี ถ้าไม่บอกก็คงเดาไม่ถูกว่า “กาฐมาณฑุ” เป็นภาษาบาลีว่า “กฏฺฐมณฺฑป”

เพราะฉะนั้น ใครสนทนาภาษาบาลีกัน แล้วเอ่ยถึงกรุง Kathmandu เมืองหลวงของเนปาล ก็จะต้องเรียกเมืองนี้เป็นคำบาลีว่า “กฏฺฐมณฺฑปนคร” (กัด-ถะ-มัน-ดะ-ปะ-นะ-คะ-ระ)

……………………………………

“ใครสนทนาภาษาบาลีกัน” นะครับ เขียนไว้ชัดแล้ว ไม่ใช่สนทนาภาษาไทยอย่างที่กำลังพูดคุยกันอยู่ พูดภาษาไทยก็เรียก “กาฐมาณฑุ” ไปตามปกติ ประเดี๋ยวจะมีใครจับเอาไปกระเดียดว่า กรุงกาฐมาณฑุเมืองหลวงของเนปาล ทองย้อยบอกให้เรียกกัฏฐมัณฑปนคร ขอความกรุณาฟังให้ได้ศัพท์หน่อยนะครับ

……………………………………

จากเรื่องนี้ ผมก็เลยคิดไปถึงชื่อเมืองหรือชื่อประเทศต่างๆ อีก

อย่างประเทศไทยของเรา ภาษาบาลีเคยใช้ว่า “สฺยามรฏฺฐ” ดังที่เรียกพระไตรปิฎกฉบับที่เราชำระพิมพ์ขึ้นเป็นภาษาบาลีอักษรไทยว่า “สฺยามรฏฐสฺส เตปิฏกํ” คำไทยว่า “พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ” 

และในพระไตรปิฎกนั่นเอง ตรงเชิงอรรถทั่วๆ ไป จะพบว่าท่านเรียกประเทศเมียนมาร์ (พม่า) เป็นบาลีว่า “มรมฺม” (มะ-รำ-มะ) เมืองฝรั่งท่านเรียกทับศัพท์ว่า “ยุโรป” (ยุ-โร-ปะ) 

ประเทศศรีลังกา ภาษาบาลีเรียกว่า “ลงฺกาทีป” (ลัง-กา-ที-ปะ)

ประเทศอินเดีย ภาษาบาลีเรียกว่า “ชมฺพุทีป” (ชำ-พุ-ที-ปะ) ที่เราเอามาแผลงเรียกเป็น “ชมพูทวีป”

ประเทศจีน ภาษบาลีเรียกว่า “จีนรฏฺฐ” (จี-นะ-รัด-ถะ)

ที่ว่านี้เป็นชื่อบาลีที่ท่านเรียกกันมาเก่า ส่วนชื่อประเทศใหม่ๆ หรือประเทศเก่า แต่ไม่ได้ถูกอ้างถึงเป็นภาษาบาลีมาก่อน ถ้าจะเรียกเป็นคำบาลีก็คงมีปัญหาว่าจะเรียกกันอย่างไร

“อเมริกา” จะเรียกเป็นคำบาลีว่าอย่างไร

กรุง “ลอนดอน” เมื่องหลวงของอังกฤษ จะเรียกเป็นคำบาลีว่าอย่างไร

ใครจะเป็นคนตอบ?

แม้แต่ประเทศไทยของเราเอง ภาษาบาลีเคยใช้ว่า “สฺยามรฏฺฐ” แต่พอเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น “ประเทศไทย” ก็เคยเห็นท่านเปลี่ยนตามเป็น “ทยฺยรฏฺฐ” บ้าง “เทยฺยรฏฺฐ” บ้าง จะว่าอย่างไรกันดี ยังไม่เคยเห็นนักบาลียกขึ้นมาพูดคุยกัน

ถ้าชาติต่างๆ ที่เรียนบาลี ตกลงกันกำหนดชื่อประเทศ ชื่อเมืองหลวง ชื่อรัฐ ชื่อจังหวัด ฯลฯ ของตนๆ เป็นภาษาบาลี แล้วนำเสนอสู่เวทีโลกให้เป็นที่รับรู้ร่วมกัน เมื่อถึงโอกาสที่ใช้ภาษาบาลีสื่อสารกันจะได้เอ่ยถึงชื่อแดนดินถิ่นฐานนั้นๆ เป็นภาษาบาลีถูกต้องตรงกันตามที่เจ้าของบ้านกำหนด

ไทยเรา นักเรียนบาลีก็ช่วยกันกำหนดขึ้น ชื่อประเทศ ชื่อเมืองหลวง ชื่อจังหวัดต่างๆ ใช้ภาษาบาลีว่าอย่างไร จะตั้งเป็นคณะทำงานก็ได้ ให้คณะทำงานยกร่างขึ้น แล้วให้หน่วยงานที่รับผิดชอบภาษาบาลีของเราตรวจสอบอนุมัติ แล้วปริวรรตเป็นอักษรโรมันนำเสนอสู่เวทีโลกต่อไป

………………..

ผมคิดว่า เราควรเรียนบาลีแบบทันสมัยกันบ้าง ไม่ใช่เรียนเพื่อให้สอบได้อย่างเดียว

เรียนไปให้ถึงพระไตรปิฎก นั่นเป็นเป้าหมายหลัก ต้องดำรงไว้และต้องไปให้ถึง

แต่ก็ควรเรียนเพื่อสื่อสารกับโลกปัจจุบันด้วย

ผมมีความเห็นว่า “อสาธารณนามบาลี” เป็นส่วนหนึ่งที่ควรทำ ควรนำเสนอสู่เวทีบาลีโลก

ท่านเป็นนักเรียนบาลีไทย เขียนจดหมายเป็นภาษาบาลีถึงนักเรียนบาลีอังกฤษ บอกเล่าไปว่า “ข้าพเจ้าอาศัยอยู่ที่กรุงเทพฯ”

ท่านจะเรียก “กรุงเทพฯ” เป็นภาษาบาลีว่าอย่างไร?

แล้วจังหวัดต่างๆ ของไทยเรา ถ้าจำเป็นจะต้องเอ่ยถึงเป็นภาษาบาลี ท่านเคยคิดหรือเปล่าว่าจังหวัดไหนเรียกเป็นบาลีว่าอย่างไร

อย่าเพิ่งเห็นว่าเป็นเรื่องไร้สาระ แค่เรียนเพื่อสอบได้นี่ก็หัวจะผุอยู่แล้ว จะต้องมาคิดเรื่อง “กรุงเทพฯ” เรียกเป็นภาษาบาลีว่าอย่างไร จังหวัดไหนเรียกเป็นบาลีว่าอย่างไรให้รกสมองไปเพื่อประโยชน์อะไร

ถ้าจะเอาดีทางบาลี ก็ต้องหัดคิดครับ

เวลานี้เรามีนักเรียนบาลีที่จบประโยค ๙ เป็นพัน

ประโยค ๙ นาคหลวงเป็นร้อย

แต่หาคนคิดอ่านทำงานบาลีแทบไม่มี

เราบอกกันว่า เรื่องอย่างนี้ต้องเป็นไปตามอัธยาศัย บังคับกันไม่ได้ 

แล้วเราก็เชื่อตามเหตุผลแบบนี้

“เป็นไปตามอัธยาศัย” – เป็นข้ออ้างที่ผมรู้สึกเจ็บปวดอย่างยิ่ง

มันก็คือเราใช้วิธีปล่อยไปตามบุญตามกรรมนั่นเอง

งานที่ควรทำ มี

คนที่สามารถทำงานได้ มี

ส่วนสนับสนุน มีพร้อม

แต่ไม่มีใครทำ 

เพราะเหตุผลที่ยิ่งใหญ่เพียงประการเดียวว่า “ต้องเป็นไปตามอัธยาศัย”

เรียนบาลีให้ถึงพระไตรปิฎกก็ไม่ไป

เรียนบาลีเพื่อสื่อสารกับโลกสมัยใหม่ก็ไม่เอา

จะเรียนเพื่อสอบได้เอาไปเพิ่มวุฒิให้ตัวเองล้วนๆ 

ความรู้และการประพฤติปฏิบัติระหว่างเรียนเป็นเพียงผลพลอยได้

เมื่อไรเราจะหลุดพ้นจากวังวนนี้

………………..

ผมพยายามจุดประเด็นเสนอนั่นนี่โน่นมาตลอด

– เสนอให้ตั้งกองวิทยาการคณะสงฆ์ เพื่อทำหน้าที่วินิจฉัยปัญหาคาใจสังคม

– เสนอให้ตั้งกองทุนดูแลพระภิกษุสามเณรอาพาธติดเตียง ตามพระพุทธดำรัสตรัสสั่งในไตรปิฎกที่ว่า “สงฆ์ต้องดูแลกัน”

– เสนอให้เปิดหลักสูตรศาสนทายาทสร้างพระสังฆาธิการตัวจริง ไม่ใช่แล้วแต่บุญกรรมจัดสรรอย่างที่เป็นอยู่

– เสนอให้คิดอ่านหางานรองรับพระที่จบประโยค ๙ เพื่อทำประโยชน์ให้พระศาสนา ไม่ใช่ผลิตปล่อย

– เสนอให้ตั้งกองสถิติคณะสงฆ์ ทำหน้าที่เก็บสถิติทั้งปวงในคณะสงฆ์ เอาที่ใกล้ตัวเองก่อน-ผู้จบประโยค ๙ ในเมืองไทยมีทั้งหมดเท่าไร ตัวเลขจริง ไม่ใช่ประมาณ แยกย่อยออกไปอีก เป็นพระเท่าไร เป็นสามเณรเท่าไร ลาสิกขาไปแล้วเท่าไร ยังดำรงสมณเพศอยู่เท่าไร ล่วงลับไปแล้วเท่าไร รายละเอียดรายบุคคลมีครบจนถึงปัจจุบัน ไม่มีชนิดที่บอกว่า- “ปัจจุบันไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน” นี่แค่สถิติประโยค ๙ เรื่องเดียว ยังมีเรื่องในสังฆมณฑลที่ควรทำเป็นสถิติอีกเป็นร้อยเรื่อง พูดให้ตลกว่า-หมาวัดทั้งประเทศมีกี่ตัว กองสถิติคณะสงฆ์มีบอกไว้หมด!

เคยเสนออะไรอีก นึกไม่ออก

แต่-ถ้าเป็นพลุ ก็ด้านหมดทุกลูก

ก็ต้องพูดคำเดิม –

งานที่ควรทำ-มี มีเยอะด้วย

คนที่สามารถทำงานได้-มี มีมากพอ

ส่วนสนับสนุน-มีพร้อม

คนที่มีอำนาจสั่งได้-ก็มี แต่ท่านไม่สั่ง

ท่านบอกว่า-ใครจะทำอะไรต้องเป็นไปตามอัธยาศัย!! 

อยากให้ “อสาธารณนามบาลีสู่เวทีโลก” ไม่ด้านสักลูกเถอะ เจ้าประคุณ!!

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๔ กรกฎาคม ๒๕๖๔

๑๐:๑๐

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *