บาลีวันละคำ

ห้วยชินสีห์ อ่านอย่างไร (บาลีวันละคำ 3,321)

ห้วยชินสีห์ อ่านอย่างไร

(๑) “ห้วย” 

เป็นคำไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ห้วย : (คำนาม) แอ่งน้ำลึกกว้างมีทางน้ำไหลจากภูเขามาขังอยู่ตลอดปี หรือแห้งบ้างเป็นบางคราว.”

(๒) “ชินสีห์” 

เป็นคำบาลี ประกอบด้วยคำว่า ชิน + สีห์

(ก) “ชิน” บาลีอ่านว่า ชิ-นะ รากศัพท์มาจาก ชิ (ธาตุ = ชนะ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: ชิ + ยุ > อน = ชิน แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้ชนะ” (2) “ผู้ชนะบาปอกุศลธรรม” หมายถึง พิชิต, มีชัย (conquering, victorious) 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ระบุไว้ว่า often of the Buddha, “Victor” (มักใช้เป็นพระคุณนามของพระพุทธเจ้า มีความหมายว่า “พระผู้มีชัย”)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

ชิน– ๔ : (คำนาม) ผู้ชนะ, พระพุทธเจ้า, ใช้ประกอบกับคําอื่นเป็น ชินวร ชิเนนทร์ หมายความว่า พระพุทธเจ้า. (ป., ส.).”

(ข) “สีห์” บาลีเขียน “สีห” อ่านว่า สี-หะ รากศัพท์มาจาก –

(1) สีหฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + (อะ) ปัจจัย

: สีหฺ + = สีห แปลตามศัพท์ว่า “สัตว์ที่เบียดเบียนมฤค

(2) สํ (จาก สํวิชฺชมาน = มีอยู่พร้อม) + อีหา (ความพยายาม) + ณ ปัจจัย, ลบนิคหิต, ลบ และลบสระหน้า คือ อา ที่ (อี)-หา (อีหา > อีห)

: สํ > + อีหา = สีหา > สีห แปลตามศัพท์ว่า “สัตว์ที่มีความพยายามพร้อมที่จะฆ่ามฤค” แปลทับศัพท์ว่า สีหะ, ราชสีห์ ในภาษาไทยใช้อีกคำหนึ่งว่า สิงโต (a lion)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ระบุไว้ว่า often used as an epithet of the Buddha (มักใช้เป็นคำแสดงคุณลักษณะของพระพุทธเจ้า) 

สีห” ในภาษาไทย การันต์ที่ เป็น “สีห์” อ่านว่า สี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

สีห-, สีห์, สีหะ : (คำนาม) ราชสีห์ เช่น ราชสีห์อาจจะตั้งใจหมายความว่า สีหะ ตัวที่เป็นนายฝูง. (สาส์นสมเด็จ). (ดู สิงห-, สิงห์ ๑). (ป.).”

ตามไปดูที่ “สิงห-, สิงห์ ๑” พจนานุกรมฯ บอกไว้ดังนี้ –

สิงห-, สิงห์ ๑ : (คำนาม) สัตว์ในนิยาย ถือว่ามีความดุร้ายและมีกําลังมาก, ราชสีห์ ก็เรียก; ชื่อกลุ่มดาวรูปสิงห์ เรียกว่า ราศีสิงห์ เป็นราศีที่ ๔ ในจักรราศี. (ส. สึห; ป. สีห).”

ชิน + สีห = ชินสีห (ชิ-นะ-สี-หะ) แปลว่า “พระพุทธเจ้าผู้องอาจดุจราชสีห์

ชินสีห” ในภาษาไทยใช้เป็น “ชินสีห์” (การันต์ที่

คำว่า “ชินสีห์” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

อภิปราย :

มีปัญหาที่ไม่ควรจะมี นั่นคือ คำว่า “ชินสีห์” ในภาษาไทยอ่านอย่างไร

ตามหลักภาษา คำนี้อ่านว่า ชิน-นะ-สี 

น หนู ทำหน้าที่เป็นตัวสะกดและออกเสียง -นะ ด้วย 

คำเทียบคือ “ชินบุตร”

ขอยกมาจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 พร้อมทั้งบอกคำอ่านด้วย ดังนี้ – 

ชินบุตร [ชินนะบุด] : (คำนาม) พระสงฆ์. (ส. ชินปุตะ; ป. ชินปุตฺต).”

อีกคำหนึ่งที่เราคุ้นกันดีคือ “พระพุทธชินราช” “-ชินราช” เราก็ออกเสียงว่า “ชิน-นะ-ราด”

เพราะฉะนั้น “ชินสีห์” อ่านว่า ชิน-นะ-สี ถูกต้องแน่นอนที่สุด

แต่ถ้าดูภาพที่นำมาประกอบคำนี้ มีคำว่า “ชินสีห์” คำเดียวกันนี้อยู่ในชื่อ “ห้วยชินสีห์” อันเป็นชื่อบ้านในเขตตำบลอ่างทอง อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี เรียกกันว่า “บ้านห้วยชินสีห์” ถนนเพชรเกษมตัดผ่านเป็นสี่แยก เรียกกันว่า “แยกห้วยชินสีห์”

ในภาพประกอบซึ่งเป็นป้ายของทางราชการ เขียนชื่อ “ห้วยชินสีห์” เป็นอักษรโรมันว่า HUAI CHIN SI อ่านว่า ห้วย ชิน สี

ชินสีห์” ที่อยู่ในชื่อ “ห้วยชินสีห์” ตามอักษรโรมันบังคับให้อ่านว่า -ชิน-สี ไม่ใช่ ชิน-นะ-สี

เมื่อจะถอดชื่อ “ห้วยชินสีห์” เป็นอักษรโรมัน คนที่รับผิดชอบเรื่องนี้คิดอย่างไร 

มีเหตุผลอะไรจึงถอดเป็น HUAI CHIN SI และมีเหตุผลอะไรจึงไม่ถอดเป็น HUAI CHIN NA SI

เราควรจะทำอย่างไรดีกับปัญหานี้และปัญหาทำนองนี้ซึ่งมีอยู่เป็นอันมากในบ้านเมืองของเรา

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คำบางคำความหมายดี แต่มีคนบอกว่าไม่ถูก

: คนบางคนทำถูก แต่มีคนบอกว่าไม่ดี

#บาลีวันละคำ (3,321)

16-7-64 

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *