บาลีวันละคำ

อัมพฤกษ์ (บาลีวันละคำ 3,326)

อัมพฤกษ์

เชิญช่วยกันนึกว่ามาจากภาษาอะไร

อ่านว่า อํา-มะ-พฺรึก 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อัมพฤกษ์ : (คำนาม) ชื่อเส้นซึ่งเป็นศูนย์กลางของร่างกาย อยู่ด้านหน้าท้อง; อาการที่อวัยวะบางส่วนเช่นแขนขาอ่อนแรง.”

พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกว่า “อัมพฤกษ์” มาจากภาษาอะไร และยังไม่มี-หรือมี แต่ยังไม่เห็น-คำอธิบายว่า “อัมพฤกษ์” เป็นภาษาอะไร 

ถ้าอาศัยพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เป็นที่สืบค้นเบื้องต้น ก็จะพบว่า คำว่า “อัมพฤกษ์” ในพจนานุกรมฯ เป็นลูกคำของคำว่า “อัม” 

คำว่า “อัม” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อัม, อัม– : (คำนาม) ไข้เจ็บ, โรค; ชีวิต; ภัย, ความกลัว. (ส. อมฺ).”

พจนานุกรมฯ บอกว่า “อัม” เป็นคำสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “อม” บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

อม : (ธาตุ) ไป; ไปหา, ไปสู่; นับถือ; ออกเสียง; บีฑา; to go; to go to, to go towards; to respect or honour; to sound; to afflict with pain or sickness; – (คำกริยาวิเศษณ์) เร็ว; quickly; – (คำวิเศษณ์) ไม่สุก, ดิบ; unripe, raw; – (คำนาม) ความป่วย; sickness.”

ถ้า “อัม” ในคำว่า “อัมพฤกษ์” เป็นคำสันสกฤต ก็ควรจะตรงกับความหมายที่ว่า ความป่วย (sickness)

ลูกคำของ “อัม” อีกคำหนึ่งคือ “อัมพาต” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อัมพาต : (คำนาม) อาการที่อวัยวะบางส่วนเช่นแขนขาตายไปกระดิกไม่ได้. (ส. อมฺ + วาต = โรคลม).”

โปรดสังเกตว่า ที่คำว่า “อัมพาต” พจนานุกรมฯ บอกที่มาของคำไว้ด้วย คือเป็นคำสันสกฤต อมฺ + วาต = โรคลม 

แต่ที่คำว่า “อัมพฤกษ์” พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกที่มาของคำ บอกคำนิยามจบ ก็จบไปเฉยๆ (ดูข้างต้น)

ส่วน “พฤกษ์” ถ้าสะกดอย่างนี้ก็ตรงกับ “พฤกษ์” ที่เราคุ้นกันดีอยู่แล้ว 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

พฤกษ-, พฤกษ์ ๑ : (คำนาม) ต้นไม้. (ส. วฺฤกฺษ; ป. รุกฺข).”

พฤกษ์” เราเขียนอิง “วฺฤกฺษ” ในสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า – 

วฺฤกฺษ : (คำนาม) ‘พฤกษ,’ ต้นไม้ทั่วไป; a tree in general.”

ถ้า “อัมพฤกษ์” มาจาก อัม = ความป่วย หรือโรค + พฤกษ์ = ต้นไม้ จะแปลว่าอะไร 

ถ้าแปลว่า “โรคของต้นไม้” หรือ “ต้นไม้เป็นโรค” จะลากเข้าความว่าอย่างไรจึงสอดคล้องกับความหมายที่ว่า “อาการที่อวัยวะบางส่วนเช่นแขนขาอ่อนแรง

พึงทราบด้วยว่า คำว่า “อัมพฤกษ์” นอกจากหมายถึง “อาการที่อวัยวะบางส่วนเช่นแขนขาอ่อนแรง” ซึ่งเป็นความหมายที่เราเข้าใจกันทั่วไปแล้ว คำนี้ยังหมายถึง “ชื่อเส้นซึ่งเป็นศูนย์กลางของร่างกาย อยู่ด้านหน้าท้อง” อีกด้วย 

เมื่อเห็นคำว่า “อัมพฤกษ์” เรามักเข้าใจกันไปอย่างเดียวว่าหมายถึง “โรคอัมพฤกษ์” แต่ไม่ได้นึกถึง “เส้นอัมพฤกษ์” นี่ก็เป็นข้อหนึ่งที่น่าสังเกต

โรคของต้นไม้” หรือ “ต้นไม้เป็นโรค” ไปเกี่ยวอย่างไรกับ “ชื่อเส้นซึ่งเป็นศูนย์กลางของร่างกาย อยู่ด้านหน้าท้อง” เป็นปัญหาที่พ่วงเพิ่มเข้ามาอีก จะตอบว่าอย่างไร

…………..

ผู้เขียนบาลีวันละคำอยากจะสันนิษฐานว่า ชื่อเส้นหรือชื่อโรคชนิดนี้คำเดิมอาจจะไม่ได้สะกด “อัมพฤกษ์” อย่างที่เขียนกันอยู่ในเวลานี้ 

ขอให้นึกเทียบกับคำว่า “ดาวประกายพรึก

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ประกายพรึก : (คำนาม) ชื่อดาวพระศุกร์ที่เห็นในเวลาเช้ามืด เรียกว่า ดาวประกายพรึก, ดาวรุ่ง ก็เรียก, ถ้าเห็นในเวลาหัวคํ่า เรียกว่า ดาวประจำเมือง. (ข. ผกาย ว่า ดาว + พรึก ว่า รุ่ง).”

พจนานุกรมฯ บอกว่า “พรึก” เป็นคำเขมร แปลว่า รุ่ง 

พอได้ยินเสียง “พรึก” เราก็มักจะนึกถึงคำว่า “พฤกษ์” ที่คุ้นหูคุ้นตา เพราะฉะนั้น คำว่า “ดาวประกายพรึก” จึงมีคนเขียนผิดเป็น “ดาวประกายพฤกษ์” กันอยู่ทั่วไปแม้จนทุกวันนี้ 

ดีร้าย คำว่า “อัมพฤกษ์” ก็น่าจะตกอยู่สภาพเดียวกัน คือพอได้ยินเสียง อำ-มะ-พรึก ก็มีคนเขียนเป็น “อัมพฤกษ์” ทันที แล้วก็เขียนเช่นนี้กันทั่วไป จนเป็นที่ยอมรับกันไปในตัวว่าชื่อโรคนี้สะกดเป็น “อัมพฤกษ์” โดยไม่มีใครสงสัยหรือสนใจที่จะรู้ว่า จริงๆ แล้วเสียง -พรึก- ในชื่อนี้สะกดอย่างไรกันแน่ และหมายถึงอะไรกันแน่

ถ้าจะใช้ค่านิยม “ลากเข้าวัด” เสียง -พรึก- ในชื่อนี้อาจจะมาจากคำว่า “พฤทธิ์” ได้อีกทางหนึ่ง

คำว่า “พฤทธิ์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

พฤทธิ์ : (คำนาม) ความเจริญ, ความมั่งคั่ง, ความสมบูรณ์, ความอวบ, พฤฒิ ก็ใช้; ในไวยากรณ์หมายถึงเสียงยาวที่สุดของสระต่าง ๆ คือ ในบาลีและสันสกฤตได้แก่ อา เป็นพฤทธิ์ของ อะ เป็นต้น. (คำกริยา) กระทําสระให้ยาวเช่นนั้น. (ส. วฺฤทฺธิ).”

พฤทธิ์” อ่านว่า พฺรึด และเสียง -พรึด- นั่นเองเพี้ยนเป็น -พรึก- ถ้าคำนี้เขียนเป็น “อัมพฤกษ์” ได้ ก็ย่อมมีสิทธิ์ที่จะเขียนเป็น “อัมพฤทธิ์” ได้เช่นกัน 

อัมพฤทธิ์” แปลลากเข้าความว่า “โรคที่ตัดความเจริญ

นี่เป็นค่านิยม “ลากเข้าวัด” คืออธิบายให้เป็นคำบาลีสันสกฤตอย่างที่เคยทำกันมา 

แต่เมื่อจะพิจารณากันด้วยเหตุผลทางวิชาการแล้ว อาจจะมีคำในภาษาอื่นๆ อีกที่เป็นที่มาของคำว่า “อัมพฤกษ์” และที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ อาจมาจากภาษาถิ่นต่างๆ ในประเทศของเรานี่เอง ดังนี้ จึงควรเป็นโอกาสที่ผู้เชี่ยวชาญภาษาถิ่นของเราจะได้เข้ามาช่วยกันพินิจพิจารณาอีกแรงหนึ่งเพื่อนำไปประมวลเป็นองค์ความรู้ร่วมกันของชาวเรา

…………..

หมายเหตุ :

ภาพเอกสารโบราณที่นำมาลงประกอบไม่เกี่ยวใดๆ กับคำว่า “อัมพฤกษ์” แต่นำมาลงเพื่อเป็นแรงบันดาลใจ 

กล่าวคือ ภาพนี้เป็นภาพที่ถ่ายจากเอกสารของทางราชการเกี่ยวกับโรคระบาดในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.2461 คือประมาณ 100 เศษปีมาแล้ว เมื่อโรคโควิด 19 ระบาดในช่วงเวลาที่ผ่านมาจนถึงบัดนี้ยังไม่ซา ได้มีผู้มีอุตสาหะไปค้นเอกสารโบราณอันกล่าวถึงโรคระบาดในประเทศไทย จึงได้พบเอกสารนี้และนำมาเผยแพร่ให้ทราบทั่วกัน

นำมาลงเพื่อเป็นแรงบันดาลใจอย่างไร?

คำว่า “อัมพฤกษ์” มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานตั้งแต่ฉบับ พ.ศ.2493 ผู้เขียนบาลีวันละคำเชื่อว่า ในระหว่างการพิจารณาคำนี้ คณะกรรมการจะต้องได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับที่มาของคำนี้ไว้ด้วยอย่างแน่นอน และในการชำระปรับปรุงพจนานุกรมในคราวต่อมาจนมาเป็นพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ฉบับล่าสุด คณะกรรมการก็น่าจะได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับที่มาของคำนี้ไว้ด้วยเช่นกัน แต่ความคิดเห็นนั้นอยู่ในรายงานการประชุมซึ่งไม่ได้เผยแพร่ให้ประชาชนได้รับรู้ด้วย 

ถ้าท่านผู้ใดใครผู้หนึ่งมีอุตสาหะไปค้นเอกสารเก่าเกี่ยวกับเรื่องนี้ อาจจะพบข้อมูลที่บอกถึงที่มาของคำว่า “อัมพฤกษ์” ในรายงานการประชุมครั้งใดครั้งหนึ่งก็เป็นได้ 

นี่คือสิ่งที่ผู้เขียนบาลีวันละคำวาดฝันไว้ว่าอาจจะเกิดขึ้นโดยมีเอกสารเรื่องโรคระบาดที่นำมาลงประกอบนี้เป็นแรงบันดาลใจ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าเห็นว่าทำแล้วดี

: ก็อย่าให้เป็นหน้าที่ของใครคนเดียว

#บาลีวันละคำ (3,326)

21-7-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *