บาลีวันละคำ

อธิษฐานพรรษา (บาลีวันละคำ 3,331)

อธิษฐานพรรษา

ไม่ใช่ “ปวารณาเข้าพรรษา”

อ่านว่า อะ-ทิด-ถาน-พัน-สา 

อธิษฐานพรรษา” ประกอบด้วยคำว่า อธิษฐาน + พรรษา 

(๑) “อธิษฐาน” 

บาลีเป็น “อธิฏฺฐาน” อ่านว่า อะ-ทิด-ถา-นะ รากศัพท์มาจาก อธิ (คำอุปสรรค = ยิ่ง, ใหญ่, ทับ”) + ฐา (ธาตุ = วาง, ตั้ง, ยืน) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), ซ้อน ฏฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ 

: อธิ + ฏฺ + ฐา = อธิฏฺฐา + ยุ > อน = อธิฏฺฐาน แปลตามศัพท์ว่า “การตั้งอยู่อย่างยิ่ง” 

อธิฏฺฐาน” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ – 

(1) การตัดสินใจ, ความตั้งใจ, การอธิษฐาน, ความปรารถนา (decision, resolution, self-determination, will)

(2) การดูแล, การจัดการ, การบัญชางาน, อำนาจ (looking after, management, direction, power)

บาลี “อธิฏฺฐาน” ภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “อธิษฐาน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

อธิษฐาน : (คำกริยา) ตั้งใจมุ่งผลอย่างใดอย่างหนึ่ง, ตั้งจิตปรารถนา, ตั้งจิตขอร้องต่อสิ่งที่ตนถือว่าศักดิ์สิทธิ์เพื่อผลอย่างใดอย่างหนึ่ง, อธิฏฐาน ก็ว่า. (ส.; ป. อธิฏฺฐาน).”

(๒) “พรรษา

บาลีเป็น “วสฺส” รากศัพท์มาจาก วสฺสฺ (ธาตุ = ราด, รด) + (อะ) ปัจจัย

: วสฺสฺ + = วสฺส แปลตามศัพท์ว่า (1) “น้ำที่หลั่งรดลงมา” (2) “ฤดูเป็นที่ตกแห่งฝน” (3) “กาลอันกำหนดด้วยฤดูฝน” 

วสฺส” (ปุงลิงค์; นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ฝน, ห่าฝน (rain, shower)

(2) ปี (a year)

(3) ความเป็นลูกผู้ชาย, ความแข็งแรง (semen virile, virility)

ในที่นี้ “วสฺส” มีความหมายตามข้อ (1)

บาลี “วสฺส” สันสกฤตเป็น “วรฺษ” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “พรรษา” อ่านว่า พัน-สา

วสฺส -วรฺษ” ไทยเราน่าจะใช้เป็น “พรรษ” (พัด) แต่ที่เป็น “พรรษา” อาจเป็นเพราะ –

1 ในบาลีมักใช้ในรูปพหูพจน์ คือเป็น “วสฺสา” (สัน.วรฺษา) เราจึงใช้ตามที่คุ้นเป็น “พรรษา

2 คำที่หมายถึงฤดูฝนมีอีกคำหนึ่ง คือ “วสฺสาน” (วัด-สา-นะ) คำนี้อาจกร่อนเป็น “วสฺสา-” เราก็เลยใช้เป็น “พรรษา

ความจริง ที่ใช้เป็น “พรรษ” ก็มี แต่มักเป็นภาษาเขียน ไม่ใช่ภาษาพูด

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

พรรษา : ช่วงระยะเวลา ๓ เดือนในฤดูฝน เช่น เข้าพรรษา จําพรรษา; ปี เช่น บวช ๓ พรรษา, (ราชาศัพท์) มีพระชนมายุ ๒๕ พรรษา. (ส. วรฺษ; ป. วสฺส, วสฺสาน).”

อธิษฐาน + พรรษา = อธิษฐานพรรษา เป็นคำประสมแบบไทย แปลจากหน้าไปหลัง แปลว่า “ตั้งใจอยู่จำพรรษา

อภิปรายขยายความ :

ช่วงวันเข้าพรรษาได้ยินและได้เห็นคำว่า “ปวารณาเข้าพรรษา” ค่อนข้างหนาหูหนาตา 

โปรดทราบว่า คำว่า “ปวารณาเข้าพรรษา” เป็นคำที่ไม่ถูกต้อง “ปวารณา” เป็นคำเรียกเมื่อออกพรรษา ไม่ใช่เรียกตอนเข้าพรรษา

คำเรียกการเข้าพรรษาของพระสงฆ์ ท่านนิยมใช้คำว่า “อธิษฐานพรรษา” 

หนังสือวินัยมุข เล่ม 2 พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส อธิบายวิธีอธิษฐานพรรษาไว้ตอนหนึ่ง ดังนี้ –

…………..

… เข้าพรรษาทำกันอย่างไร? ในบาลีกล่าวเพียงให้ทำอาลัยคือผูกใจว่าจักอยู่ในที่นี้ ๓ เดือน. ความลงสันนิษฐานนั้นเองชื่อว่าทำอาลัยในที่นี้ แม้หากจะไม่ทำอาลัย แต่เมื่อถึงกำหนดเข้าพรรษาแล้วไม่ไปแรมข้างไหน ก็ได้ชื่อว่าเข้าพรรษาเหมือนกัน. แต่ในบัดนี้ มีธรรมเนียมที่ประชุมกันกล่าวคำอธิษฐานพร้อมกันว่า “อิมสฺมึ  อาวาเส อิมํ  เตมาสํ  วสฺสํ  อุเปม” แปลความว่า “เราเข้าถึงฤดูฝนในอาวาสนี้ตลอดหมวด ๓ เดือน.”

การจำพรรษาอยู่ในที่เดียวนั้น ควรมีเขตเป็นเครื่องกำหนดว่าอยู่ในที่เดียวเพียงไหน ในข้อนี้แลท่านลังเลกัน จะกำหนดด้วยวิหารคือกุฎีที่อยู่ หรือกำหนดด้วยอาวาสทั้งสิ้น. เพราะเหตุนี้ จึงตั้งธรรมเนียมอธิษฐานพรรษาเฉพาะรูปๆ ที่กุฎีซ้ำอีกว่า “อิมสฺมึ  วิหาเร  อิมํ  เตมาสํ  วสฺสํ  อุเปมิ” แปลความอย่างเดียวกัน เปลี่ยนแต่เพียงในวิหารแทนในอาวาส. …

ที่มา: วินัยมุข เล่ม 2 หน้า 83

…………..

ในพระนิพนธ์มีคำว่า “อธิษฐานพรรษา” ชัดเจน เป็นอันไม่ต้องสงสัยว่าท่านนิยมใช้คำนี้ และเป็นอันไม่ต้องสงสัยเช่นกันว่า “ปวารณาเข้าพรรษา” เป็นคำที่พูดผิด 

ยิ่งถ้าพระสงฆ์เป็นผู้พูดเสียเอง คนฟังที่ไม่ได้ศึกษาก็จะเชื่อว่าเป็นคำที่ถูกต้อง และถ้าพูดผิดกันมากๆ ไม่มีใครทักท้วง ในที่สุดคำผิดจะกลายเป็นคำถูกไปอีกคำหนึ่ง แล้วก็จะมีผู้ออกมาอธิบายรับรองว่าใช้คำว่า “ปวารณาเข้าพรรษา” เป็นการถูกต้องเพราะเหตุนี้ๆ 

ขอความกรุณา อย่าให้เป็นเช่นนั้นเลย

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ใช้คำพูดผิดเป็นเรื่องธรรมดา

: แต่ไม่ใช้คำผิดๆ อีกต่อไป เป็นเรื่องควรอนุโมทนา

#บาลีวันละคำ (3,331)

26-7-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *