บาลีวันละคำ

คาถาบูชาหลวงพ่อโต (บาลีวันละคำ 3,338)

คาถาบูชาหลวงพ่อโต

ผู้เขียนบาลีวันละคำเข้าไปไหว้พระตามวัดต่างๆ เป็นประจำ ได้เห็น “คาถาบูชาหลวงพ่อโต” ที่วัดแห่งหนึ่ง ข้อความดังนี้ –

…………..

โตเสนโต วะระธัมเมนะ

โตสัฏฐาเน สิเว วะเร

โตสัง อะกาสิ ชันตูนัง

โตสะจิตตัง นะมามิหัง.

…………..

ข้อความที่เป็น “คาถาบูชาหลวงพ่อโต” นี้เป็นบทหนึ่งในบทร้อยกรองภาษาบาลีที่เรียกกันว่า “อิติปิโสรัตนมาลา”

“อิติปิโสรัตนมาลา” เป็นวรรณกรรมบาลีที่เอาบทสรรเสริญคุณพระรัตนตรัยที่ขึ้นต้นว่า “อิติปิ  โส  ภควา …” จนถึง “… โลกสฺสาติ” มากระจายเป็นคำๆ แล้วใช้คำนั้นๆ เป็นพยางค์แรกในบทร้อยกรองแต่ละวรรค 

อย่างใน “คาถาบูชาหลวงพ่อโต” นี้จะเห็นว่าทุกวรรคขึ้นต้นด้วยคำว่า “โต” ทั้งนี้เพราะท่านแต่งมาเป็นลำดับ ตั้งแต่ อิ-ติ-ปิ-โส- จนถึงคำว่า “สุคโต” (อยู่ในห้องพุทธคุณ) “สุ” ก็แต่งไป 4 วรรค ขึ้นด้วยด้วย “สุ” ทุกวรรค “” ก็แต่งไป 4 วรรค ขึ้นด้วยด้วย “” ทุกวรรค ครั้นมาถึง “โต” ท่านก็แต่ง 4 วรรค ขึ้นด้วยด้วย “โต” ทุกวรรคดังที่เห็นนั้น “อิติปิโสรัตนมาลา” จะแต่งแบบนี้ตั้งแต่ต้นจนจบ

ทำไมจึงเอาบทที่ขึ้นต้นด้วย “โต” มาเป็น “คาถาบูชาหลวงพ่อโต”?

คงเดาได้ไม่ยาก นั่นก็คือ ผู้เลือกหาคำบูชาเห็นว่า คาถาบทนี้ขึ้นต้นด้วย “โต” ตรงกับชื่อพระพุทธปฏิมาที่เรียกกันเป็นสามัญว่า “หลวงพ่อโต” จึงเอาเสียง “โต” ในคำบาลีมาเป็นคำบูชาเพื่อให้สอดคล้องกับชื่อ “หลวงพ่อโต

โปรดทราบว่า คำว่า “โต” ที่เป็นพยางค์แรกในคาถานั้น แต่ละคำไม่ได้มีความหมายสอดคล้องกับคำว่า “โต” ที่เป็นชื่อพระพุทธปฏิมาแต่ประการใดทั้งสิ้น เป็นเรื่องที่เราเอาเสียงของคำมาใส่จินตนาการเอาเองโดยแท้

แต่แม้กระนั้น มองในแง่ดีก็ยังเป็นผลดีได้อยู่ นั่นคือ เพราะอาศัยนามพระพุทธปฏิมาในภาษาไทยเป็นสื่อให้น้อมนึกถึงคุณพระรัตนตรัยในคำบาลี นับว่าได้เจริญพุทธานุสติภาวนาเป็นการปฏิบัติธรรมได้วิธีหนึ่ง

ถ้าผู้ไปไหว้หลวงพ่อโตและได้อ่านคำบูชาแล้วน้อมนึกอย่างนี้ ก็เป็นมหากุศล

คาถาบูชาหลวงพ่อโต” หรือ “อิติปิโสรัตนมาลา” บทที่ขึ้นต้นว่า “โต” เขียนแบบบาลีและแปลเป็นไทยดังนี้ –

…………..

โตเสนฺโต วรธมฺเมน

โตสฏฺฐาเน สิเว วเร

โตสํ อกาสิ ชนฺตูนํ

โตสจิตฺตํ นมามิหํ.

พระพุทธเจ้าพระองค์ใด 

ทรงโปรดสัตว์ให้แช่มชื่นด้วยพระธรรมอันประเสริฐ 

ทรงก่อความยินดีในพระนิพพานอันประเสริฐเป็นฐานที่ควรยินดี 

ให้เกิดมีแก่เวไนยสัตว์ทั้งหลาย 

ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นผู้มีพระทัยชื่นบาน

…………..

หมายเหตุ :

(๑) อิติปิโสรัตนมาลาที่เผยแพร่กันทั่วไปบางฉบับ-หลายฉบับ ตรงคำว่า “โตสจิตฺตํ” เป็น “โตลจิตฺตํ” คือเป็น “โตล-” ลิง ไม่ใช่ “โตส-” เสือ

พิจารณาลีลาภาษาแล้ว “โตส-” เหมาะสมกว่า สอดคล้องกับ 3 วรรคที่ใช้คำว่า “โตส” เหมือนกัน 

โตส” แปลตรงศัพท์ว่า “ยินดี” ยักเยื้องออกไปเป็น “ชื่นบาน” “แช่มชื่น” ส่วน “โตล-” แม้จะมีผู้แปลว่า “เที่ยงตรง” (แผลงมาจาก “ตุล” หรือเราคุ้นกันในคำว่า “ตุลา” ที่แปลว่าคันชั่ง) แต่ความก็ไม่เข้ากัน

เห็นได้ชัดว่า “โตส” นั่นเองเขียนผิดเป็น “โตล” 

(๒) ดูตามภาพประกอบ (ภาพที่ 3 และ 4) จะเห็นว่า คำว่า “อกาสิ” เขียนผิดเป็น “อภาสิ” –กา ไก่ เขียนผิดเป็น –ภา สำเภา นี่ก็เดาได้ไม่ยาก ไก่ กับ สำเภา โครงรูปเหมือนกัน ต่างกันที่มีหัวกับไม่มีหัว คนเห็น ไก่ เข้าใจว่าเป็น สำเภา 

อกาสิ” แปลว่า “ได้ทำแล้ว

อภาสิ” แปลว่า “ได้กล่าวแล้ว

ความหมายไกลกันเป็นคนละเรื่อง (อาจมีผู้พยายามหาทางแปลให้ได้ความ คือพยายามอธิบายผิดให้เป็นถูก)

ทำนองเดียวกับเห็น เสือ เป็น ลิง 

โตส” = ยินดี จึงกลายเป็น “โตล” = เที่ยงตรง

(๓) แต่ที่น่าสังเกตเป็นพิเศษก็คือ ป้ายคำบูชาที่เป็น “อกาสิ” (ถูก) กับที่เป็น “อภาสิ” (ผิด) เป็นป้ายคำบูชาพระพุทธปฏิมาองค์เดียวกันและตั้งอยู่ใกล้ๆ กันนั่นเอง 

ผู้ดูแลรับผิดชอบเรื่องนี้รู้หรือไม่ และคิดอย่างไร 

เราท่านที่เห็นกรณีเช่นนี้แล้วคิดอย่างไร

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ความผิดพลาดเป็นเรื่องธรรมดา

: แต่การไม่ยอมแก้ไขข้อผิดพลาดเป็นเรื่องไม่ธรรมดา

#บาลีวันละคำ (3,338)

2-8-64 

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *