บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

วัฒนธรรมการสื่อสาร

วัฒนธรรมการสื่อสาร

กรณีเสนอข่าวและความคิดเห็นต่อสาธารณะ

ผมเคยมีเป้าหมายในชีวิตว่าจะเป็นนักหนังสือพิมพ์ หนังสือพิมพ์ดังๆ อย่าง-สยามรัฐ ไทยรัฐ ผมเคยไปสมัครงานมาแล้ว แต่ไม่มีฉบับไหนรับ

จากการสดับตรับฟัง ผมจับหลักได้-อย่างที่รู้กันทั่วไป-ว่า หัวใจของข่าวหรือการเสนอข่าวก็คือ ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร นั่นหมายถึงบอกข่าวกล่าวสารให้คนอ่านรู้เรื่องได้สาระครบ

อีกเรื่องหนึ่งที่ผมได้ยินมา หลักในการเสนอข่าวก็คือ “ข่าวเป็นข่าว อย่าใส่ความเห็นลงไปในข่าว” เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เป็นการใช้ภาษาที่ต้องพิถีพิถันและระมัดระวังมากๆ 

เช่น พาดหัวข่าวย่อยว่า “รัฐมนตรีสั่งงานมั่ว” 

คำว่า “มั่ว” คือความคิดเห็น ไม่ใช่ข่าว 

รัฐมนตรีสั่งงานเรื่องอะไรอย่างไร บรรยายไปในข่าวได้ แต่การสั่งงานเรื่องนั้นอย่างนั้น “มั่ว” หรือ “ไม่มั่ว” นั่นคือความเห็น บางคนอาจเห็นว่า “มั่ว” แต่บางคนเห็นว่า “ไม่มั่ว” ดังนั้น “มั่ว” หรือ “ไม่มั่ว” คือความเห็น อย่าใส่ลงไปในข่าว ให้คนอ่านเขาตัดสินเอง ถ้าหนังสือพิมพ์อยากจะแสดงความคิดเห็นกรณีรัฐมนตรีสั่งงาน ก็เอาไปพูดในบทความหรือในคอลัมน์ซึ่งเป็นเวทีแสดงความคิดเห็นโดยตรง แต่อย่าเอามาใส่ลงไปในเนื้อข่าว เพราะข่าวอยู่ส่วนข่าว ความคิดเห็นอยู่ส่วนความคิดเห็น

ผมไม่แน่ใจว่า นักข่าวสมัยนี้-ไม่ว่าจะเป็นนักข่าวในช่องทางสื่อสารแบบไหนก็ตาม-เขามีอุดมคติหรือหลักการแบบนี้กันบ้างหรือเปล่า

แต่เท่าที่เห็นของจริง ทุกวันนี้การเสนอข่าวและการแสดงความเห็นสับสนอลหม่านมาก ข่าวกับความคิดเห็นปนกันจนไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ถ้าผู้เสพสารไม่ยึดหลักอะไรไว้บ้าง ก็จะถูกชักจูงให้สับสนอลหม่านตามไปได้ง่ายๆ 

ส่วนหลัก “ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร” อันเป็นหัวใจของการเสนอข่าวนั้น ถ้าเอาสิ่งที่ปรากฏทางเฟซบุ๊กเป็นเครื่องวัด ก็กล่าวได้ว่าหลักนี้แทบจะไม่เหลือแล้ว

ท่านศาสตราจารย์ ดร.สมภาร พรมทา ท่านบอกว่า “เฟซบุ๊กคือหนังสือพิมพ์ส่วนตัว” ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งกับความเห็นของท่าน และใช้เฟซบุ๊กของผมในฐานะเป็น “หนังสือพิมพ์ส่วนตัว” มาโดยตลอด

…………………

ถ้าลองไล่อ่านข่าวหรือความเห็นที่ลงในเฟซบุ๊กของแต่ละคนจะพบว่า ผู้บอกข่าวหรือเสนอความเห็นไม่ได้คำนึงถึงหลัก “ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร” กันเลย

ตัวอย่างเช่น เขียนลงในเฟซบุ๊กว่า “คุณพ่อหลับสบายแล้ว” 

พอเดาได้ว่า คุณพ่อของผู้เขียนถึงแก่กรรม – เท่านี้เท่านั้น

แต่ว่า-ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร คุณพ่อชื่ออะไร อายุเท่าไร ตั้งศพที่ไหน เผาเมื่อไร ฯลฯ-ไม่มี

…………………

ต้องทำความเข้าใจกันให้ดีก่อนว่า เฟซบุ๊กนั้นมีผู้บอกว่าเขาไม่ได้มีเจตนาจะเปิดขึ้นมาเพื่อให้เป็นหนังสือพิมพ์ หากแต่มีเจตนาเพื่อใช้เป็นช่องทางสื่อสารระหว่างเพื่อนกับเพื่อน และเป็นที่ระบายความรู้สึกให้เพื่อนกันฟัง เพราะฉะนั้น จะเอามาตรฐานหรือมาตรการอะไรของหนังสือพิมพ์มาวัดมาจับย่อมไม่ถูกต้อง พูดกันตรงๆ เฟซบุ๊กไม่ใช่หนังสือพิมพ์ แต่เป็นไดอารี่หรือสมุดบันทึกส่วนตัว เจ้าของสมุดบันทึกจะเขียนอะไรอย่างไรก็ได้ทั้งสิ้น 

อันนั้นคือเหตุผลของเฟซบุ๊ก ที่เราต้องเข้าใจให้ตรงกัน

…………………

แต่ “ข้อเท็จจริง” ของเฟซบุ๊กที่เราต้องเข้าใจให้ตรงกันด้วยเช่นกันก็คือ เฟซบุ๊กหรือสมุดบันทึกส่วนตัวเล่มนี้ไม่ใช่สมุดบันทึกส่วนตัวเหมือนในสมัยก่อน ที่เจ้าของสมุดบันทึกเขียนไว้อ่านคนเดียวหรืออย่างเก่งที่สุดก็ให้เฉพาะคนที่รู้ใจกันเท่านั้นอ่าน แต่เฟซบุ๊กเป็นสมุดบันทึกสาธารณะ คือไม่ใช่คนเขียนอ่านคนเดียวหรืออ่านได้เฉพาะในหมู่เพื่อน หากแต่สาธารณชนก็มีโอกาสได้อ่านด้วย เพราะฉะนั้น เฟซบุ๊กจึงอยู่ในฐานะเป็นหนังสือพิมพ์ด้วย เพียงแต่ว่าเป็นหนังสือพิมพ์ส่วนตัว ใครจะลงข่าว ลงเรื่อง ลงรูป อะไรก็ได้ ไม่มีใครมาคอยตรวจสอบ เป็นหนังสือพิมพ์ที่มีอิสระและเสรีภาพอย่างยิ่ง จะชมใครหรือจะด่าใครได้ทั้งนั้น กรอบกว้างๆ มีแค่กฎหมายว่าด้วยการหมิ่นประมาท ลามกอนาจาร และการเปิดเผยความลับของทางราชการเท่านั้น

เพราะฉะนั้น เมื่อลงเรื่อง ลงรูป ลงคลิปอะไรๆ ในเฟซบุ๊ก จึงหลีกเลี่ยงได้ยากที่จะไม่ใช้กรอบหรือหลักเกณฑ์ว่าด้วยการสื่อสารที่ควรจะมี 

ถึงตรงนี้ ก็จะมีแต่ว่า-ใครจะมีหลักมีเกณฑ์ในการสื่อสารทางเฟซบุ๊กเป็นประการใดบ้าง-เท่านั้น แต่ต้องยอมรับกันว่า หลักเกณฑ์นั้นควรมี ไม่ใช่ฟรีสไตล์ไร้ขอบเขตหมดทุกเรื่อง

…………………

คราวนี้ก็มาดูกันว่า เวลาโพสต์อะไรๆ ลงในเฟซบุ๊กนั้นคนโพสต์มีเหตุผลอะไร พูดชัดๆ โพสต์ทำไม ทำไมจึงโพสต์

ผมลองประมวลดูแล้ว เหตุผลน่าจะมีดังนี้ 

๑ อยากโพสต์ คืออยากเขียนเรื่องนี้ อยากเขียนแบบนี้ อยากลงรูปนี้ เอาความอยากของตัวเองเป็นที่ตั้งล้วนๆ ใครที่มาเห็นมาอ่านเขาจะอยากอ่านหรือไม่ คนที่มาเห็นมาอ่านจะได้ประโยชน์อะไรหรือไม่ ไม่สน

เฟซบุ๊กส่วนมาก เป็นประเภทนี้ 

๒ อยากให้คนอ่านได้ประโยชน์ คือเห็นว่าถ้าโพสต์เรื่องนี้หรือเรื่องแบบนี้ คนที่เข้ามาอ่านจะได้ประโยชน์ จึงโพสต์ แต่แน่ล่ะ ก็ต้องมีความอยากหรืออุตสาหะส่วนตัวเป็นทุนอยู่ด้วย แต่เป้าหมายหลักอยู่ที่-ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์ ไม่ใช่เพื่อตัวเอง

๓ มีเป้าหมายเฉพาะ ไม่ใช่เพราะอยากโพสต์ ไม่ใช่เพราะอยากให้คนอ่านได้ประโยชน์ แต่โพสต์เพื่อเป้าหมายเฉพาะบางอย่าง อาจเป็นเป้าหมายทางธุรกิจ เป้าหมายทางการเมือง หรือเป้าหมายทางใดๆ อีกร้อยแปด ทั้งสุจริตและไม่สุจริต

ถ้าจับหลักได้อย่างนี้ (หรือแต่ละท่านอาจมีมุมมองของตัวเองเป็นอย่างอื่นอีกก็ตาม) เวลา “เสพ” เฟซบุ๊ก เราก็จะไม่เสียหลัก คือไม่ปล่อยให้เฟซบุ๊กจูงเราไป หรือไม่เข้าไปบังคับกะเกณฑ์ให้เฟซบุ๊กเป็นหรือทำอย่างที่เราต้องการ

…………………

ต่อไปนี้เป็นหลักของผม โดยเฉพาะในการเสนอความคิดเห็นทางเฟซบุ๊ก

หลักใหญ่ของผมก็คือ คำนึงถึงประโยชน์ของคนอ่านเป็นสำคัญ คือตั้งเป้าหมายไปที่ว่าญาติมิตรท่านผู้อ่านควรจะได้ประโยชน์จากสิ่งที่ผมเขียน คือไม่ใช่อยากเขียนอย่างเดียว แต่อยากให้ผู้อ่านได้ประโยชน์ด้วย

ตัวอย่างเช่น ผมไม่นิยมโพสต์รูปตัวเอง กิจวัตรประจำวันของตัวเอง-ประเภททำบุญประจำวันแล้วบอกกล่าวเพื่อให้อนุโมทนา-อย่างที่หลายๆ ท่านนิยมทำเป็นประจำ (ซึ่งผมอ่านแล้วก็อนุโมทนาอยู่เป็นประจำ)

พูดอย่างนี้ต้องขอปรับความเข้าใจไว้ก่อนว่า ไม่ได้แปลว่าผมไม่เห็นด้วย หรือผมคัดค้าน หรือผมตำหนิใครก็ตามที่นิยมทำเช่นนั้น กรุณาอ่านวรรคนี้ด้วย 

เพียงแต่ว่า สำหรับผมแล้วการทำเช่นนั้นผมเห็นว่าคนอ่านได้ประโยชน์น้อยหรือแทบจะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย แต่ท่านที่นิยมทำเช่นนั้นท่านก็ต้องมีเหตุผลของท่าน เหตุผลของเราไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน และถ้าใครมีเหตุผลในเรื่องอะไรไม่ตรงกับเรา ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะต้องโกรธกัน หรือคบกันไม่ได้ 

เราไม่จำเป็นต้องกินน้ำส้มตามเพื่อน และเพื่อนก็ไม่จำเป็นต้องกินกาแฟตามเรา แต่เราควรเป็นเพื่อนกันต่อไปไม่ว่าใครจะชอบกินอะไร

และเมื่อผมบอกว่าการกระทำเช่นนั้นได้ประโยชน์น้อย ก็ไม่ได้แปลว่าท่านจะต้องเลิกทำ ตรงกันข้าม ท่านควรทำต่อไปและทำให้มากขึ้นด้วยซ้ำ ด้วยความมั่นใจในเหตุผลของท่าน

เพราะเมื่อผมบอกว่า สำหรับผมแล้วการกระทำเช่นนั้นได้ประโยชน์น้อย ก็ย่อมหมายถึง “การกระทำเช่นนั้นของผม” ไม่ได้หมายถึง “การกระทำเช่นนั้นของท่าน” การกระทำเช่นนั้นของท่าน ผู้อ่านผู้อื่นอาจได้ประโยชน์มากอย่างยิ่งก็เป็นได้

วิธีคิดอย่างนี้แหละที่ผมเห็นว่าเราส่วนมากไม่ค่อยได้คิด หรือคิดกันไม่ค่อยเป็น 

…………………

เรื่องสำคัญอย่างยิ่งก็คือ ทั้งผู้โพสต์และผู้อ่านควรตั้งอารมณ์ในการโพสต์และในการเข้ามาอ่านโพสต์ให้ตรงกัน

วาดเป็นภาพก็คือ ผมตั้งอารมณ์ว่า-เหมือนผมตั้งแผง เอาสินค้าไปวางแผง เป็นสินค้าที่ผมเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ในทางใดทางหนึ่งแก่ผู้บริโภค

ญาติมิตรที่เข้ามาอ่านโพสต์ก็ตั้งอารมณ์ว่า-เหมือนท่านเดินดูสินค้าตามแผง

นี่คือทั้งผู้โพสต์และผู้อ่านตั้งอารมณ์ตรงกัน

ทีนี้ก็มาถึงเรื่องสำคัญที่สุด-วัฒนธรรมในการตั้งแผงและการเดินดูสินค้า 

ผู้ตั้งแผงเอาสินค้ามาวาง จะเกณฑ์ให้ผู้เดินดูสินค้าต้องชอบและต้องซื้อสินค้าของตน ไม่ได้

ผู้เดินดูสินค้า จะเกณฑ์ให้ผู้ตั้งแผงเอาเฉพาะสินค้าที่ฉันพอใจและต้องการใช้มาวางแผง ห้ามเอาสินค้าที่ฉันไม่ชอบมาวางแผง ไม่ได้

เขาไม่ชอบสินค้าของเรา เขาก็ไม่แวะ ถึงแวะแต่เขาไม่ซื้อ จะไปว่าอะไรเขาไม่ได้ 

เขาไม่เอาสินค้าที่เราชอบมาวางแผง หรือเอาสินค้าที่เราไม่ชอบมาวางแผง จะไปว่าอะไรเขาไม่ได้ เราไม่ต้องการ ก็ผ่านไป

เจ้าของแผง ถ้าเห็นว่าสินค้าของตนมีประโยชน์แก่ผู้บริโภคจริงๆ ไม่ใช้แล้วจะเสียประโยชน์ ก็ต้องหาทางหาวิธีให้ผู้บริโภคเอาสินค้าไปใช้ให้จงได้ แต่ไม่ใช่ใช้วิธีร้องด่าว่าพวกคุณนี่มันโง่ อุตส่าห์เอาของดีมาให้แล้วยังไม่รู้จักใช้

ฝ่ายผู้บริโภค ในกรณีที่เห็นว่าสินค้าที่เอามาวางแผงเป็นสินค้าอันตรายต่อผู้บริโภค (ไม่ว่าจะเห็นเช่นนั้นโดยสุจริต หรือมีอคติใดๆ แอบแฝงอยู่ก็ตาม) ก็มีทางปฏิบัติได้หลายทาง

ไม่อยากยุ่ง ตัวใครตัวมัน เดินผ่านไปเฉยๆ – ก็ได้

ถือเอาสุจริตเป็นที่ตั้ง ใจกล้า เข้าไปบอกเจ้าของแผงตรงๆ และอย่างสุภาพว่าสินค้าของคุณเป็นอันตราย อย่าเอามาวางแผง เก็บเสียเถิด – ก็ได้

แจ้งแก่เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ ให้เขามาจัดการตามหน้าที่ – ก็ได้ ก็ยิ่งดี

หรือจะใช้วิธีเข้าไปยืนหน้าแผง เท้าสะเอว ลอยหน้าด่าฉอดๆ ว่าเอ็งนี่มันเลว เอาของไม่ดี/ของที่ข้าไม่ชอบมาวางแผงทำไม – อย่างนี้ก็ได้

หน้าแผงผมนี่ก็มีผู้เข้ามาใช้วิธีนี้อยู่เนืองๆ จนเป็นที่รู้กัน เห็นชื่อก็รู้เลย มาแล้ว

วิธีที่เลือกใช้ย่อมบอกถึงระดับวัฒนธรรมของผู้ใช้อยู่ในตัว 

…………………

การใช้ภาษา-ทั้งในการเขียนและในการอ่าน-ก็เป็นปัญหาอีกอย่างหนึ่ง ผมเห็นว่าคนสมัยนี้ที่อ่านหนังสือไม่แตกมีมากขึ้น 

เขียนไปด้วยเจตนาอย่างหนึ่ง อ่านเจตนาไปเสียอีกอย่างหนึ่ง 

อย่างข้างต้นโน้น ผมเขียนว่า “ผมไม่นิยมโพสต์รูปตัวเอง” ผมไม่ได้เขียนว่า “ผมจะไม่โพสต์รูปตัวเองอย่างเด็ดขาด” 

เพราะฉะนั้น วันหนึ่งวันใด ใครเห็นผมโพสต์รูปตัวเอง และถ้าอ่านหนังสือแตก ก็ย่อมจะไม่ย้อนผมว่า “ไหนว่าไม่โพสต์รูปตัวเองไงล่ะ” และย่อมจะเข้าใจได้ว่าผมจะต้องมีเหตุผลจำเป็นอะไรสักอย่างเฉพาะคราวนั้น

ข้างต้นผมเขียนว่า “ผมไม่นิยมโพสต์กิจวัตรประจำวันของตัวเอง” ญาติมิตรคงเคยอ่านบ่อยๆ ที่ผมเขียนว่า-วันนี้วันนั้นผมไปเดินออกกำลังที่นั่นที่นี่ ก็คงไม่ต้องพูดเช่นกันว่า “ไหนว่าไม่โพสต์กิจวัตรประจำวันของตัวเองไงล่ะ” เพราะถ้าอ่านต่อไปก็จะรู้ว่า ผมต้องการจะบอกเล่าว่าในระหว่างเดินออกกำลังผมไปพบเห็นอะไรหรือไปทำอะไร-ซึ่งผมเห็นว่าญาติมิตรอ่านแล้วจะได้ประโยชน์ สาระสำคัญอยู่ที่นั่น ส่วน “วันนี้วันนั้นผมไปเดินออกกำลังที่นั่นที่นี่” เป็นองค์ประกอบตามหลัก “ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร” เพื่อให้ครบสูตรเท่านั้น

ถ้าพิถีพิถันในการเขียนและในการอ่าน ปัญหาการเข้าใจผิดในเจตนาของกันและกันก็จะไม่เกิด การสื่อสารก็จะราบรื่น

…………………

หลักของผมอีกประการหนึ่งที่ขอยกมาปิดท้ายก็คือ ผมไม่เขียนตามใจตลาด ไม่เขียนเอาไลค์ ไม่เขียนเอาใจใครที่บอกว่าคนไทยเดี๋ยวนี้อ่านหนังสือไม่เกิน ๘ บรรทัด 

ญาติมิตรจะเห็นมาตลอดว่าโพสต์สั้นๆ ของผมมีน้อยอย่างยิ่ง ส่วนใหญ่หรือแทบทั้งหมดจะค่อนข้างยาวถึงยาวเหยียด (เช่นโพสต์นี้เป็นตัวอย่าง!) 

ลองคิดดูเถิด ถ้ามีแต่คนเขียนเอาใจคนอ่าน ยาวไม่เกิน ๘ บรรทัด คนที่มีศักยภาพในการอ่านหนังสือเกิน ๘ บรรทัดก็จะค่อยๆ หายหดลดลงจนในที่สุดก็จะไม่มีคนไทยที่สามารถอ่านหนังสือเกิน ๘ บรรทัดอยู่ในโลกนี้อีกต่อไป

ช่วยกันยกระดับศักยภาพขึ้นไปหามาตรฐาน

ไม่ใช่ดึงมาตรฐานลงมาหาความไร้ศักยภาพ

…………………

สรุปว่า ในการสื่อสารไม่ว่าจะโดยช่องทางใดๆ-เช่นในโลกของเฟซบุ๊กเป็นต้น-ทุกคนควรต้องมีหลัก โดยการเรียนรู้และแสวงหา แล้วยึดหลักที่ถูกต้องเหมาะสม จะใช้ “ความอยาก” เป็นหลักเพียงอย่างเดียวย่อมไม่พอ

เมื่อมีหลักที่ถูกต้องเหมาะสม ประกอบด้วยความเข้าใจในข้อจำกัดของเพื่อนมนุษย์แต่ละคนในแต่ละสถานการณ์ว่ามีอยู่ไม่เท่ากัน ทุกครั้งที่เขียนโพสต์ออกไปและทุกคราวที่อ่านโพสต์ของใคร ไม่ว่าจะถูกใจหรือไม่ถูกใจ เราก็ยังสามารถยิ้มให้กันได้ด้วยระดับไมตรีจิตจริงใจเหมือนเดิม เท่าเดิม หรือมากขึ้นกว่าเดิม 

แต่ไม่ควรน้อยลงไปกว่าเดิม

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๓๐ กรกฎาคม ๒๕๖๔

๑๔:๒๐

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *