บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

จากฉีดวัคซีน ถึงนักเรียนบาลี

จากฉีดวัคซีน ถึงนักเรียนบาลี

—————————-

ผมไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิดเข็มแรกเมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๖๔ และทางโรงพยาบาลนัดฉีดเข็มที่ ๒ วันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๖๔ แต่ด้วยวิธีการจัดระเบียบของโรงพยาบาลอย่างไรก็ไม่ทราบ โรงพยาบาลร่นวันฉีดเข้ามาเป็นวันนี้-๑๖ กันยายน ๒๕๖๔

ผมไปถึงสถานที่นัดหมายก็พบกับปัญหาเดิมที่เคยพบเมื่อไปฉีดเข็มแรก คือลงจากรถเดินเข้าไปที่เต็นท์ก็ไม่รู้ว่าจะเข้าช่องไหนก่อน เดินหลงไปไกลจึงมีผู้ชี้บอกให้ย้อนกลับ

ผมเคยเขียนเสนอไปว่า ควรมีประชาสัมพันธ์สนามประกาศให้ได้ยินไปทั่วบริเวณตลอดเวลาว่า ลงจากรถแล้วกรุณาเดินไปที่ช่องนั้นก่อนนะครับ หรือไม่ก็ติดป้ายตัวโตๆ ให้เห็นชัดว่า “เข้าช่องนี้ก่อน” 

เป็นอันว่าผู้บริหารงานคงไม่รู้ หรือรู้ แต่ไม่เห็นว่าเป็นปัญหา และเป็นอันว่าผู้คนสมัยนี้เห็นว่า การหาทางไป-หาช่องเข้าเอาเองไม่เป็นปัญหา

เมื่อหาช่องเข้าถูกแล้วและผ่านกรรมวิธีตามขั้นตอนต่างๆ เสร็จแล้ว ก็ไปนั่งรอเวลา ณ ที่ซึ่งจัดไว้รวมกับคนอื่นๆ ขณะที่นั่งรอผมก็เจริญกรรมฐานไปด้วย 

ใช้สติกำหนดให้มีความรู้สึกตัวทั่วไปทั้งตัวตั้งแต่ศีรษะจดเท้า-เท้าจดศีรษะ เหมือนมีกระแสไฟฟ้าแล่นอยู่ทั่วตัว เพียงแต่ไม่ใช่กระแสไฟฟ้า หากแต่เป็นกระแสสติของตัวเอง 

ขอแนะนำญาติมิตรที่มักจะเข้าใจว่าตัวเองไม่มีเวลาปฏิบัติธรรมให้ลองใช้วิธีนี้

ในชีวิตประจำวัน ช่วงขณะใดก็ตามที่ไม่จำเป็นต้องพูดกับใคร ก็ใช้จังหวะนั้นเจริญสติ อึดใจหนึ่ง หลายอึดใจ นาทีหนึ่งหรือ ๒-๓ นาทีตามจังหวะที่พอมี ทำเช่นนั้นเป็นประจำ นั่นแหละครับท่านได้ปฏิบัติธรรมแล้ว เป็นการปฏิบัติธรรมโดยวิธีธรรมชาติจริงๆ ไม่ต้องแบ่งเวลา ไม่ต้องแต่งชุดขาว ไม่ต้องไปวัดหรือสถานนัดปฏิบัติธรรม ๓ วัน ๗ วัน-ในกรณีที่ยังไม่สามารถทำเช่นนั้นได้

กำลังทำอะไรก็ให้รู้สึกตัวทั่วพร้อมว่าเรากำลังทำอะไร – หัวใจของการปฏิบัติธรรมอยู่ตรงนี้ครับ

ในช่วงเวลานั้น ผมก็แวบไปนึกถึงเรื่องที่หาช่องเข้าไม่ถูก (แน่นอน รู้ตัวไปด้วยว่ากำลังคิดอะไร) แล้วก็นึกถึงคำว่า “ปฏิคม”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ บอกความหมายของ “ปฏิคม” ว่า “ผู้ต้อนรับ, ผู้รับแขก, ผู้ดูแลต้อนรับ”

“ปฏิคม” นั้น เป็นตำแหน่งที่นิยมจัดไว้ในทำเนียบกรรมการของสมาคมหรือหน่วยงานทั่วไป และรู้กันว่ามีหน้าที่ต้อนรับแขก นั่นแปลว่าเรายอมรับกันทั่วไปว่าการต้อนรับแขกเป็นเรื่องสำคัญมาก

คำแปลตามตัว “ปฏิคม” แปลว่า “สวนไป” คือเห็นแขกมาแต่ไกล แทนที่จะรอให้แขกมาถึงตัว ตัวก็ “สวนไป” หาแขกเสียก่อน นั่นแหละคือความหมายและคือหน้าที่ของ “ปฏิคม”

ถ้าทางโรงพยาบาลจะกรุณาทำอะไรสักอย่างให้มีการ “สวนไป” หาคนที่มาฉีดวัคซีนตั้งแต่ก้าวแรกที่ลงจากรถ ทำหน้าที่เพียงแค่บอกช่องเข้าช่องแรกให้หน่อยเท่านั้น จะได้ใจประชาชนเพิ่มขึ้นอีกเยอะเลยครับ

…………….

ช่วงเวลาที่นั่งรอสังเกตอาการหลังจากฉีดวัคซีนแล้ว ผมก็เจริญกรรมฐานเช่นเคย 

ในช่วงเวลานั้น ผมก็แวบไปนึกถึงคำว่า “ธรรมีกถา” ที่ผมกะว่าจะเขียนเป็นบาลีวันละคำ (แน่นอน รู้ตัวไปด้วยว่ากำลังคิดอะไร) และแล้วคำบาลีชุดหนึ่งก็ไหลออกมา –

…………………………………..

“วี ส สี อิก อี ร วนฺตุ มนฺตุ ณ” 

…………………………………..

เชื่อหรือไม่ว่า คำบาลีชุดนี้ผมท่องจำมาตั้งแต่ปี ๒๕๐๖ เมื่อเริ่มเรียนบาลี บัดนี้กว่าครึ่งศตวรรษผ่านไป ผมไม่เคยทวนไม่เคยนึก แต่พอนึกก็ไหลมาเป็นแถว-เหมือนเพิ่งท่องใหม่ๆ สดๆ

นึกถึงแนวคิดของนักการศึกษาสมัยใหม่ที่ดูถูกดูหมิ่นการท่องจำว่าเป็นการสอนให้เด็กลายเป็นนกแก้วนกขุนทอง คิดอะไรเองไม่เป็น

ผมไม่แน่ใจว่า นักเรียนบาลีรุ่นใหม่ยังใช้วิธี “ท่องหลัก” กันอยู่หรือเปล่า หรือว่าเดี๋ยวนี้มีวิธีเรียนรู้และเข้าใจได้โดยไม่ต้องท่องจำเหมือนสมัยก่อนกันอีกแล้ว 

เพื่อเป็นการทดสอบ ขออนุญาตเรียนถามนักเรียนบาลีรุ่นใหม่ทั้งปวงว่า คำบาลี “วี ส สี อิก อี ร วนฺตุ มนฺตุ ณ” ที่ยกมานี้คืออะไร 

กรุณาตอบโดยไม่ต้องเปิดหนังสือหรืออุปกรณ์ใดๆ ทั้งสิ้น 

ตอบด้วยความรู้ความเข้าใจที่มีอยูในหัวล้วนๆ ณ เวลานี้

ตอบออกมาจากหัวใจเหมือนกับที่ไหลออกมาหัวใจผมนั่นเลย

ตอบได้หรือไม่ ตอบแล้วกรุณาอธิบายมาพอได้ความด้วยนะขอรับ

ตอบได้หรือไม่ก็ขออนุโมทนาล่วงหน้าขอรับ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๖ กันยายน ๒๕๖๔

๑๘:๑๔

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *