บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ไม่เข้าใจเขียนกับไม่เข้าใจอ่าน

ไม่เข้าใจเขียนกับไม่เข้าใจอ่าน

——————————

ญาติมิตรคงจะสังเกตเห็นว่าหมู่นี้ผมโพสต์กลอนสั้นวันละบททุกวัน จะเรียกว่ามาในมาดใหม่ก็คงพอได้ อันที่จริงญาติมิตรที่เขียนกลอนโพสต์ในเฟซบุ๊กอยู่เป็นประจำก็มีอยู่มากราย ของผมจะเรียกว่ามาดใหม่ก็คงไม่ถูก แต่จะถือว่าใหม่เฉพาะตัวผมก็คงจะไม่ผิด ปกติผมโพสต์บาลีวันละคำทุกวัน และบทความตามสะดวก ส่วนกลอนนั้นนานทีปีหน 

กลอนบทเดียวเขียนง่ายดี เดินออกกำลังตอนเช้าๆ เห็นอะไรสะดุดตากลับมาก็ได้กลอนบทหนึ่งมาฝากญาติมิตร 

แต่ข้อเสียอย่างหนึ่งที่บางคนอาจจะไม่ได้คิด นั่นก็คือเท่ากับเป็นการส่งเสริมให้คนขี้เกียจอ่านเรื่องยาวๆ ไปในตัว-อย่างที่พูดกัน (ซึ่งไม่รู้ว่าใครเป็นคนพูดก่อนและไปได้ข้อมูลมาจากไหน) ว่าคนไทยอ่านหนังสือได้ไม่เกิน ๘ บรรทัด 

กลอนบทเดียวมีแค่ ๔ บรรทัด น้อยหนักเข้าไปอีก!

เมื่อวันก่อนผมโพสต์กลอนบทนี้ครับ –

…………………………………

—————————

บ้างก็ทำจึงได้เป็นอย่าเห็นขำ

บ้างได้เป็นจึงทำขำไฉน

บ้างเป็นแล้วแต่ไม่ทำขำหรือไร

บ้างทำไปแต่ไม่ได้เป็นเห็นขำฤๅ

—————————

…………………………………

๒๗ กันยายน ๒๕๖๔

…………………………………

มีท่านผู้หนึ่งถามเป็นการส่วนตัวว่า อ่านแล้วไม่ค่อยเข้าใจ หมายความว่าอย่างไร ขอจงช่วยอธิบาย 

การเขียนกลอนแล้วคนอ่านไม่เข้าใจ ถือว่าเป็นความบกพร่องอย่างหนึ่งของกลอน ถ้าแต่งส่งประกวดก็ตกรอบแรก เพราะกรรมการอ่านแล้วไม่รู้เรื่อง 

แต่มองอีกแง่หนึ่ง อ่านเข้าใจง่ายไปหมดอาจกลายเป็นกลอนดาดๆ ไม่มีอรรถรส ควรเป็นแบบ-อ่านแล้วขบสักนิด ชีวิตจะมีโอชะ

ผมบอกท่านผู้นั้นไปว่า อธิบายสดๆ อาจจะไม่ค่อยชัด ขออนุญาตเอาไปเขียนทางเฟซบุ๊ก กรุณาตามไปอ่านเอาเถิด 

…………………

กลอนข้างต้นนั้น ผมมีแนวคิดเล็งไปที่คนทำงานกับคนได้ตำแหน่ง ซึ่งมีอยู่ในระบบงานหรือหน่วยงานทั่วไป

บางคนทำงานดี นายเห็นผลงาน เห็นฝีมือ จึงแต่งตั้งให้มีตำแหน่ง หรือถ้ามีตำแหน่งอยู่แล้วก็เลื่อนให้สูงขึ้น นี่คือ- “บ้างก็ทำจึงได้เป็นอย่าเห็นขำ” คือเพราะทำจึงได้เป็น

บางคนไม่ทำงาน คือไม่ได้แสดงฝีมือให้ใครเห็นว่าทำอะไรได้บ้าง อาจมีเหตุผลเยอะแยะ เช่นไม่มีหน้าที่ ไม่ใช่หน้าที่ แต่ครั้นพอได้รับแต่งตั้งให้มีตำแหน่งจะด้วยเหตุอะไรก็ตาม ก็แสดงฝีมือในการทำงานได้เป็นอย่างดี นี่คือ-“บ้างได้เป็นจึงทำขำไฉน” คือเพราะเป็นจึงได้ทำ

บางคนมีตำแหน่ง คือได้เป็นนั่นเป็นนี่อยู่แล้ว แต่กลับไม่ทำงานตามหน้าที่ที่ควรจะทำ นั่งทับตำแหน่งอยู่เฉยๆ ใครเสนอแนะให้ทำอะไรก็เฉยหมด ไม่ทำซะอย่างใครจะทำไม นี่คือ-“บ้างเป็นแล้วแต่ไม่ทำขำหรือไร” คือเป็น แต่ไม่ได้ทำ ประเภทนี้ฟังดูแล้วไม่น่าจะมี แต่มีอยู่จริงๆ ในสังคมไทย

บางคนทำแทบเป็นแทบตาย ขยันทำ ใครขอใครบอกให้ทำอะไรไม่เคยขัดข้อง แต่ปรากฏว่าไม่ได้เป็นอะไรกะเขา คนนั้นคนโน้นได้เป็นนั่นเป็นโน่น แต่คนนี้อดตลอด ไม่เข้าตากรรมการหรือไรก็ไม่ทราบ นี่คือ-“บ้างทำไปแต่ไม่ได้เป็นเห็นขำฤๅ” คือทำ แต่ไม่ได้เป็น

สรุปว่า มีคนอยู่ ๔ ประเภท –

๑ เพราะทำจึงได้เป็น

๒ เพราะเป็นจึงได้ทำ

๓ เป็น แต่ไม่ได้ทำ

๔ ทำ แต่ไม่ได้เป็น

กลอนบทนี้ทำหน้าที่เพียงบรรยายภาพที่ปรากฏให้เห็นว่าเป็นเรื่องขำๆ ชนิดหนึ่งเท่านั้น สวนที่ว่าเรื่องแบบนี้มีที่มาสาเหตุเป็นประการใด ควรเป็นอย่างไร หรือควรทำอย่างไรหรือไม่ควรทำอย่างไร หรือใครจะมีจินตนาการเพิ่มเติมเสริมต่ออะไรอีก อยู่นอกขอบเขตของผมผู้แต่ง ท่านผู้อ่านมีสิทธิ์จินตนาการเอาเองตามสะดวก

…………………

พูดถึงจินตนาการเพิ่มเติมเสริมต่อจากการอ่าน ก็ขออนุญาตเลี้ยวไปทางบทความที่ผมโพสต์ไปเมื่อค่ำวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๖๔

……………………………………….

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/4393295890764114

……………………………………….

เนื่องจากมีญาติมิตรบางท่านใช้จินตนาการไม่ค่อยจะตรงกับเจตนาของผมผู้เขียน

บทความเรื่องนี้ผมตั้งชื่อว่า “กฐิน: เทศกาลเสริมสร้างลักษณะนิสัยเห็นแก่กิน” บทความเรื่องนี้โพสต์มาแล้ว ๓ ครั้ง เท่าที่ผมบันทึกไว้โพสต์ครั้งแรกเมื่อ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๘ โพสต์ครั้งที่สองเมื่อ ๑๑ กันยายน ๒๕๖๐ และครั้งนี้ ๒๘ กันยายน ๒๕๖๔ เป็นการโพสต์ครั้งที่สาม

ไม่ใช่โพสต์ทุกปีนะครับ โปรดทราบ

ประเด็นสำคัญของบทความอยู่ตรงที่-ผมไม่เห็นด้วยกับขบวนการกินฟรีในงานบุญกฐิน ผมไม่ได้บอกว่าไม่เห็นด้วยเฉยๆ แต่ได้แถลงลักษณะการกินฟรีในงานบุญกฐินแบบที่ผมไม่เห็นด้วยไว้ชัดเจนว่า 

………………………………..

คนพวกนี้ไม่ได้ตั้งใจมาช่วยงานกฐิน 

ไม่สนใจงาน 

ไม่ช่วยหยิบจับอะไรทั้งสิ้น 

ไม่สนใจบุญกุศลใดๆ จะมีพิธีทอดกฐินกันอย่างไร ไม่รับรู้รับทราบทั้งนั้น 

เข้าไปในวัดเพื่อกินอย่างเดียว 

กินอิ่มแล้วยังหอบหิ้วเอากลับไปบ้านอีกด้วย 

และนอกจากจะไม่ช่วยงานอะไรแม้แต่น้อยแล้ว ยังทิ้งภาชนะ ถุงพลาสติก เศษอาหาร ฯลฯ ทำความสกปรกให้วัดอย่างไร้ความรับผิดชอบอีกด้วย

………………………………..

นี่คือการกระทำที่ผมไม่เห็นด้วย

ไม่มีถ้อยคำหรือข้อความใดๆ ที่ผมพูดตรงๆ หรือที่อาจตีความได้ว่า ผมไม่ต้องการให้ใครเข้าไปกินฟรีในงานบุญกฐิน หรือผมกีดกัน หวงห้าม หรือหวงแหนของกินในงานบุญกฐิน หรือผมเป็นคนใจแคบไม่อยากให้ใครมากินฟรีในงานบุญกฐิน

งานบุญกฐินเป็นงานกินฟรีครับ รู้กันมาตั้งแต่ปู่ย่าตายายแล้ว

ผมเองเป็นเจ้าภาพซุ้มอาหารงานกฐินทุกปี บางปีชักชวนญาติพี่น้องให้มาเปิดซุ้มด้วย ก็ด้วยเจตนาจะให้คนมากินฟรีนี่แหละ

เพียงแต่ผมสลดใจกับลักษณะนิสัยของคนที่มากินฟรี ดังที่แสดงไว้ข้างต้น และประสงค์จะให้พวกเราช่วยกันคิดอ่านทำอะไรหรือทำอย่างไรกันสักอย่างเพื่อแก้ไขลักษณะนิสัยเช่นว่านั้น 

มีหลายท่านแสดงความเห็นเป็นทำนองว่า ปล่อยไปเถอะ ไม่ต้องไปคิดมาก และไม่ต้องไปคิดอ่านทำอะไรหรอก มันเป็นเรื่องธรรมดา

ผมว่าเรากำลังยอมจำนนให้แก่เรื่องที่สามารถแก้ไขได้ หรืออย่างน้อยก็ช่วยกันคิดอ่านหาทางหาวิธีแนะนำสั่งสอนเพื่อนมนุษย์ให้พัฒนาจิตใจให้ประณีตดีงามขึ้นไปได้อีก 

ถ้าใครเห็นว่าลักษณะนิสัยที่ว่าไว้โน้นไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่เป็นเรื่องธรรมดาที่ควรปล่อยให้เป็นเช่นนั้น ก็แปลว่าเรามาถึงยุคเสื่อมกันแล้ว และการที่ไม่คิดจะหาทางช่วยกันแก้ไขเพื่อให้เพื่อนร่วมโลกเหล่านั้นเกิดสำนึกที่ดีขึ้นมาในใจ นั่นคือการยอมแพ้ให้แก่ความเสื่อม

ผมยังมีศรัทธาในความเพียรพยายามของมนุษย์ ไม่อยากให้เรายอมจำนนกันง่ายๆ จึงได้เน้นย้ำในย่อหน้าสุดท้ายว่า –

………………………………..

ผมอยากให้คนที่มีสติปัญญาเฉียบแหลมช่วยกันคิดหาวิธีการจัดระเบียบการกินให้แก่มนุษย์จำพวกนี้ เพื่อให้บุญกฐินมีคุณค่ามากกว่าเทศกาลเสริมสร้างลักษณะนิสัยเห็นแก่กิน อย่างที่กำลังเป็นอยู่ทุกวันนี้

………………………………..

ผมไม่ได้บอกเลยว่า ให้ช่วยกันหาทางกีดกันป้องปรามห้ามหวงมนุษย์พวกนี้ไม่ให้เข้าไปกินฟรี

ถ้าไม่ใช่เพราะ-ไม่เข้าใจอ่าน

ก็คงเป็นความผิดของผมเองที่-ไม่เข้าใจเขียน

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๓๐ กันยายน ๒๕๖๔

๑๖:๐๒

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *