บาลีวันละคำ

กวี (บาลีวันละคำ 381)

กวี

อ่านว่า กะ-วี

บาลีกับไทยใช้เหมือนกัน แต่บาลีมีทั้งที่เป็น “กวิ” และ “กวี

กวี” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้สรรเสริญ” (คือแต่งบทสรรเสริญเทพเจ้า) “ผู้ผูกทั่ว” (คือเอาถ้อยคำมาผูกเข้าเป็นบทกลอน) “ผู้กล่าวถ้อยคำที่น่ารักเป็นปกติ” “ผู้กล่าวถ้อยคำดื่มด่ำ

ในคัมภีร์จำแนก “กวี” ออกเป็น 4 ประเภท คือ

1. จินฺตากวี = แต่งโดยความคิด (an original poet.กวีที่ไม่เลียนแบบใคร)

2. สุตกวี = แต่งโดยได้ฟังมา (one who puts into verse what he has heard. ผู้แต่งร้อยกรองจากเรื่องที่ได้ฟังมา)

3. อตฺถกวี = แต่งตามความจริง (a didactic poet. กวีที่แต่งสั่งสอนคน)

4. ปฏิภาณกวี = แต่งกลอนสด (an improvisor. กวีผู้แต่งร้อยกรองขึ้นโดยปัจจุบันทันที)

(ความหมายตาม พจน.42, ในที่นี้ยกคำอังกฤษมาเทียบเพื่อศึกษาว่า ฝรั่งกับเราเข้าใจตรงกันหรือไม่)

ภาษาไทยในระยะหลังๆ มีผู้ใช้คำว่า “นักกวี” ซึ่งไม่ถูกต้อง

นัก” ใช้ประกอบหน้าคํานามธรรมดาหรือคำกริยาให้เป็นคำนามที่หมายถึง “บุคคล” และมีความหมายว่า –

– “ผู้” เช่น นักเรียน = ผู้ศึกษาเล่าเรียน, ผู้รับการศึกษาจากโรงเรียน

– “ผู้ชอบ” เช่น นักดื่ม นักท่องเที่ยว

– “ผู้ชํานาญ” เช่น นักเทศน์ นักดนตรี นักคํานวณ นักสืบ

– “ผู้มีอาชีพในทางนั้น ๆ” เช่น นักกฎหมาย นักแสดง นักเขียน

– “ผู้ฝักใฝ่ในทางนั้นๆ” เช่น นักการเมือง, นักเลง- (เช่น นักเลงหนังสือ)

คำเหล่านี้ ถ้าไม่มี “นัก-” นำหน้า ก็จะไม่หมายถึง “บุคคล

กวี” เป็นคำนามที่หมายถึงบุคคลอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมี “นัก” นำหน้า เป็น “นักกวี” แต่ประการใด

: ถ้ารู้ว่าอะไรพอดี ก็จะรู้ว่าอะไรขาด อะไรเกิน

บาลีวันละคำ (381)

30-5-56

กวิ, กวี = กวี, นักปราชญ์, ผู้มีปัญญา, ผู้เชี่ยวชาญในการประพันธ์ (ศัพท์วิเคราะห์)

– กวติ วณฺเณตีติ กวิ ผู้สรรเสริญ คือแต่งบทสรรเสริญเทพเจ้า

กุ ธาตุ ในความหมายว่าสรรเสริญ อิ ปัจจัย พฤทธิ์ อุ เป็น โอ แปลง โอ เป็น อว. ลง อี ปัจจัย ได้รูปเป็น กวี บ้าง

– กวติ ปพนฺธตีติ กวิ ผู้ประพันธ์

กุ ธาตุ ในความหมายว่าประพันธ์ ณ +  อิ, อี ปัจจัย พฤทธิ์ อุ เป็น โอ แปลง โอ เป็น อว

– กวติ วทติ เปมนียวจนํ สีเลนาติ กวิ ผู้กล่าวถ้อยคำที่น่ารักเป็นปกติ

กุ ธาตุ ในความหมายว่าส่งเสียง ณี ปัจจัย พฤทธิ์ อุ เป็น โอ แปลง โอ เป็น อว

– กนฺตํ มนาปวจนํ กวตีติ กวิ ผู้กล่าวถ้อยคำดื่มด่ำ (กุ + ณี เหมือน วิ.ต้น)

กพฺย, กาพฺย = กาพย์

กวิมฺหิ ภวํ กพฺยํ สิ่งที่มีในกวี

กวิ + ณฺย ลบ อิ และ ณ แปลง ว เป็น พ

กวิโน อิทํ กพฺยํ เรื่องของกวี (กวิ + ณฺย)

กวินา วุตฺตนฺติ กพฺยํ คำอันกวีกล่าวไว้ (กวิ + ณฺย)

กวิ (บาลี-อังกฤษ)

กวี a poet ใน สํ, องฺ. และ สุมังคล. ระบุไว้ ๔ ประเภท คือ

1. จินฺตากวิ = จินตกวี, กวีที่ไม่เลียนแบบใคร an original p.

2. สุตกวิ = ผู้แต่งร้อยกรองจากเรื่องที่ได้ฟังมา one who puts into verse what he has heard.

3. อตฺถกวิ = กวีที่แต่งสั่งสอนคน a didactic p.

4. ปฏิภาณกวิ = กวีผู้แต่งร้อยกรองขึ้นโดยปัจจุบันทันที an improvisor.

didactic poem โคลงสำหรับสอนธรรม

กวี

 [กะวี] น. ผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญในศิลปะการประพันธ์บทกลอน จําแนกเป็น ๔ คือ ๑. จินตกวี แต่งโดยความคิด ๒. สุตกวี แต่งโดยได้ฟังมา ๓. อรรถกวี แต่งตามความจริง ๔. ปฏิภาณกวี แต่งกลอนสด. (ป.).

กวีนิพนธ์

น. คําประพันธ์ที่กวีแต่ง.

กาพย์

น. คําร้อยกรองประเภทหนึ่ง มีหลายชนิด เช่น กาพย์ฉบัง กาพย์สุรางคนางค์ กาพย์ยานี กาพย์ขับไม้. (ส. กาวฺย).

กาพย์กลอน

น. คําร้อยกรอง.

นัก ๑

น. ใช้ประกอบหน้าคําอื่นหมายความว่า ผู้ เช่น นักเรียน, ผู้ชอบ เช่น นักดื่ม นักท่องเที่ยว, ผู้ชํานาญ เช่น นักเทศน์ นักดนตรี นักคํานวณ นักสืบ, ผู้มีอาชีพในทางนั้น ๆ เช่น นักกฎหมาย นักแสดง นักเขียน. (ข.).

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย