บาลีวันละคำ

สังฆกรรม [1] (บาลีวันละคำ 409)

สังฆกรรม [1]

อ่านว่า สัง-คะ-กำ

บาลีเป็น “สงฺฆกมฺม” อ่านว่า สัง-คะ-กำ-มะ

ประกอบด้วย สงฺฆ + กมฺม

สงฺฆ” ภาษาไทยเขียน “สังฆ” (ถ้าอยู่ท้ายคำ มักเขียน “สงฆ์” อ่านว่า สง) มีความหมายว่า ฝูงชน, ชุมนุมชน, หมู่, ฝูง, คณะสงฆ์, พระ, นักบวช, พุทธจักร, กลุ่มใหญ่, ประชาคม; ในทางพระวินัย หมายถึงภิกษุตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไป

ในคำว่า “สังฆกรรม” นี้ “สงฆ์” หมายถึงภิกษุตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไป และโดยความมุ่งหมายก็คือสังคม หรือ “ส่วนรวม” ของภิกษุ ไม่ใช่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง

กมฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “กรรม” พูดทับศัพท์ว่า “กรรม” และใช้ในความหมายหลายอย่าง (ดูรายละเอียดที่คำว่า กรรม”) คำนี้แปลตามศัพท์ว่า การกระทำ, สิ่งที่พึงทำ, การงาน

สังฆกรรม” มีความหมายดังนี้ –

1. ความหมายตามรูปแบบ คือ กิจที่ภิกษุตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไปร่วมกันทําในสีมา (เขตที่กำหนดให้เป็นที่ประชุมสงฆ์ ที่รู้กันทั่วไปคือโบสถ์)

ภิกษุ 4 รูป เป็นองค์ประชุมต่ำสุดที่จะนับว่าเป็น “สังฆกรรม” บางเรื่องกำหนดองค์ประชุมไว้สูงกว่านี้ เช่น รับกฐิน อย่างน้อยต้อง 5 รูป บวชพระ อย่างน้อยต้อง 10 รูป

2. ความหมายตามเนื้อหา คือ กิจของส่วนรวมที่จะต้องช่วยกันทำให้สำเร็จ ถ้าดูดายถือว่าไม่มีความรับผิดชอบ

ในภาษาไทยเคยใช้คำว่า “ร่วมสังฆกรรม” เป็นสำนวน หมายถึง คบหากัน ไปไหนมาไหน ทำอะไรด้วยกัน เช่นเคยทำงานร่วมคณะรัฐบาล แล้วต่อมาแตกคอกัน หรือถูกปรับออกจากคณะรัฐมนตรี ก็พูดว่า “ทำแบบนี้ผมไม่ร่วมสังฆกรรมด้วยอีกแล้ว

คำเตือน :

ถ้าไม่คิดจะทำเพื่อส่วนรวม ก็อย่าเอามาร่วมสังฆกรรม

————————–

(ตามคำถามของ Yalorda Suksuwan)

บาลีวันละคำ (409)

28-6-56

สงฺฆ ป.(บาลี-อังกฤษ)

หมู่, สงฆ์, ภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป.

สงฆ์ (บาลี-อังกฤษ)

๑. ฝูงชน, ชุมนุมชน, หมู่, ฝูง

๒. คณะสงฆ์, พระ, นักบวช, พุทธจักร the order, the priesthood, the clergy, Buddhist church

๓ กลุ่มใหญ่, ประชาคม

กมฺม (บาลี-อังกฤษ)

กรรม, การกระทำ, การงาน

สงฺฆ ป.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)

หมู่, สงฆ์, ภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป.

กมฺม นป.

กรรม, ๑ การกระทำ หมายถึง การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา คือ ทำด้วยความจงใจหรือจงใจทำ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เช่น ขุดหลุมพรางดักคนหรือสัตว์ให้ตกลงไปตาย เป็นกรรม แต่ขุดบ่อน้ำไว้กินใช้ สัตว์ตกลงไปตายเอง ไม่เป็นกรรม (แต่ถ้ารู้อยู่ว่า บ่อน้ำที่ตนขุดไว้อยู่ในที่ซึ่งคนจะพลัดตกได้ง่าย แล้วปล่อยปละละเลย มีคนตกลงไปตายก็ไม่พ้นเป็นกรรม) การกระทำที่ดีเรียกว่า “กรรมดี” ที่ชั่ว เรียกว่า “กรรมชั่ว”; กรรม ๒ กรรมจำแนกตามคุณภาพหรือตามธรรมที่เป็นมูลเหตุมี ๒ คือ ๑. อกุศลกรรม กรรมที่เป็นอกุศล กรรม ชั่ว คือ เกิดจากอกุศลมูล ๒. กุศลกรรม กรรมที่เป็นกุศล กรรมดี คือเกิดจากกุศลมูล; กรรม ๓ กรรมจำแนกตามทวารคือทางที่ทำกรรมมี ๓ คือ ๑. กายกรรม การกระทำทางกาย ๒. วจีกรรม การกระทำทางวาจา ๓. มโนกรรม การกระทำทางใจ

สงฺฆกมฺม นป.

การกระทำของสงฆ์ ได้แก่กิจที่พระสงฆ์ตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไปร่วมกันทำในสีมา.

สังฆกรรม (ประมวลศัพท์)

งานของสงฆ์, กรรมที่สงฆ์พึงทำ, กิจที่พึงทำโดยที่ประชุมสงฆ์ มี ๔ คือ

๑. อปโลกนกรรม กรรมที่ทำเพียงด้วยบอกกันในที่ประชุมสงฆ์ ไม่ต้องตั้งญัตติและไม่ต้องสวดอนุสาวนา เช่น แจ้งการลงพรหมทัณฑ์แก่ภิกษุ

๒. ญัตติกรรม กรรมที่ทำเพียงตั้งญัตติไม่ต้องสวดอนุสาวนา เช่น อุโบสถและปวารณา

๓. ญัตติทุติยกรรม กรรมที่ทำด้วยตั้งญัตติแล้วสวดอนุสาวนาหนหนึ่ง เช่น สมมติสีมา ให้ผ้ากฐิน

๔. ญัตติจตุตถกรรม กรรมที่ทำด้วยการตั้งญัตติแล้วสวดอนุสาวนา ๓ หน เช่น อุปสมบท ให้ปริวาส ให้มานัต

สังฆ-

  [สังคะ-] น. สงฆ์, มักใช้เป็นส่วนหน้าสมาส.

สังฆกรรม

  [สังคะกำ] น. กิจที่พระสงฆ์ตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไปรวมกันทําภายในสีมา เช่น การทำอุโบสถ การสวดพระปาติโมกข์. (ส. สํฆ + กรฺมนฺ; ป. สงฺฆกมฺม).

กรรม์

  [กัน] (กลอน) น. กรรม.

กรรม ๑, กรรม- ๑

  [กำ, กำมะ-] น. (๑) การ, การกระทำ, การงาน, กิจ, เช่น พลีกรรม ต่างกรรมต่างวาระ, เป็นการดีก็ได้ ชั่วก็ได้ เช่น กุศลกรรม อกุศลกรรม.(๒) การกระทำที่ส่งผลร้ายมายังปัจจุบัน หรือซึ่งจะส่งผลร้ายต่อไปในอนาคต เช่น บัดนี้กรรมตามทันแล้ว ระวังกรรมจะตามทันนะ.(๓) บาป, เคราะห์, เช่น คนมีกรรม กรรมของฉันแท้ ๆ.(๔) ความตาย ในคำว่า ถึงแก่กรรม.

สงฺฆกมฺม ในมหาวิภังค์ ภาค ๑

นตฺถิ  ตยา  สทฺธึ  อุโปสโถ  วา  ปวารณา  วา  สงฺฆกมฺมํ  วา

ทุสฺสีลปุคฺคเล  นิสฺสาย  อุโปสโถ  น  ติฏฺฐติ  ปวารณา  น  ติฏฺฐติ  สงฺฆกมฺมานิ  นปฺปวตฺตนติ  สามคฺคี  น  โหติ

สมันตปาสาทิกา ภาค ๑ หน้า ๓๑๖

อุโบสถ ปวารณา สังฆกรรม บรรพชา อุปสมบท

แยกเป็นคนละอย่างกัน

จริงอยู่ อุโบสถ ๙ เหล่านี้ คือ จาตุทสีอุโบสถ ปัณณรสีอุโบสถ สามัคคีอุโบสถ สังฆอุโบสถ คณอุโบสถ ปุคคลอุโบสถ สุตตุทเทสอุโบสถ ปาริสุทธิอุโบสถ อธิษฐานอุโบสถ ทั้งหมดนั้นเนื่องด้วยพระวินัยธร

และถึงแม้ปวารณา ๙ เหล่านี้ คือ จาตุทสีปวารณา ปัณณรสีปวารณา สามัคคีปวารณา สังฆปวารณา คณปวารณา ปุคคลปวารณา เตวาจิกาปวารณา เทววาจิกาปวารณา สมานวัสสิกาปวารณา ก็เนื่องด้วยพระวินัยธร เธอเป็นใหญ่แห่งปวารณา ๙ นั้น เพราะเป็นหน้าที่ของเธอ ด้วยประการฉะนี้

ถึงสังฆกรรมทั้ง ๔ นี้ คือ อปโลกนกรรม ญัตติกรรม ญัตติทุติยกรรม ญัตติจตุตถกรรมก็ดี ทั้งบรรพชาและอุปสมบทแห่งกุลบุตรทั้งหลาย อันเธอเป็นอุปัชฌาย์ทำนี้ก็ดี ก็เนื่องด้วยพระวินัยธรทั้งนั้น ผู้อื่นถึงทรงปิฏก ๒ ก็ไม่ได้เพื่อทำกรรมนี้เลย เธอเท่านั้นให้นิสัย ให้สามเณรอุปัฏฐาก ผู้อื่นย่อมไม่ได้เพื่อให้นิสัย ไม่ได้เพื่อให้สามเณรอุปัฏฐากเลย แต่เมื่อหวังเฉพาะการอุปัฎฐากของสามเณร ย่อมได้เพื่อจะให้ถืออุปัชฌาย์ในสำนักของพระวินัยธรก่อนแล้วจงยินดีข้อวัตรปฏิบัติ.

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม ๒ – หน้าที่ 754

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย