บาลีวันละคำ

เถร-เถน (บาลีวันละคำ 418)

เถร-เถน

เถร บาลีอ่านว่า เถ-ระ

เถน บาลีอ่านว่า เถ-นะ

เถร” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มั่นคง” “ผู้ยังคงอยู่” “ผู้น่าสรรเสริญยกย่อง” หมายถึงพระเถระ, พระผู้ใหญ่, พระภิกษุผู้มีพรรษาตั้งแต่ 10 ขึ้นไป; ผู้เป็นพระเถระ, ผู้แก่, ผู้เฒ่า, ผู้ใหญ่

ในพระไตรปิฎกแสดงคุณสมบัติของภิกษุที่สมควรได้นามว่า “เถร” ไว้ 4 ประการ คือ

1. มีศีลาจารวัตรอันงาม

2. เป็นพหูสูต รอบรู้พระธรรมวินัย

3. ทรงสมาธิ (ตามหลักว่าถึงขั้นได้ฌาน)

4. เป็นอิสระจากกิเลส

ภิกษุผู้มีคุณสมบัติเช่นนี้แม้อายุน้อย ก็ได้นามว่า “ธรรมเถร” (ผู้เป็นเถระโดยธรรม) ภิกษุที่อายุพรรษามาก แต่พร่องคุณสมบัติเช่นนี้ ท่านเรียกว่า “สมมุติเถร” (ผู้เป็นเถระโดยสมมุติ)

ในภาษาไทย มีปัญหาว่า “เถร” (ไม่มีสระ อะ) ในนามสมณศักดิ์ เช่น “พระโพธิญาณเถร” จะอ่านอย่างไร -เถ-ระ หรือ -เถน ?

ตามเจตนาในการเขียน ควรอ่านว่า “-เถน” เช่นเดียวกับ “สามเณร” เราก็อ่านว่า -เนน ไม่ใช่ -เน-ระ

ถ้าต้องการให้อ่านว่า – เถ-ระ ก็ควรจะเขียนเป็น “-เถระ

บางท่านรังเกียจเสียง “เถน” เพราะ “เถน” (บาลีอ่านว่า เถ-นะ) แปลว่า ขโมย จึงเรียกพระที่ประพฤติเสียหายว่า “เถน” แล้วอธิบายแบบลากเข้าวัดว่า พระที่เป็น “เถน” ก็เพราะขโมยเพศพระมาครอง

พจน.42 เก็บคำว่า “เถน” ไว้ บอกความหมายว่า “นักบวชที่เป็นอลัชชี” ทั้งๆ ที่ “เถนขโมย” ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับนักบวชเลย

: จาก “เถน” ไปเป็น “เถร” น่ากราบ

: จาก “เถร” ไปเป็น “เถน” น่ากำราบ

บาลีวันละคำ (418)

7-7-56

เถน = ขโมย, โจร (ศัพท์วิเคราะห์)

เถเนติ เถยฺยํ กโรตีตติ เถโน ผู้ลักขโมย

เถน ธาตุ ในความหมายว่าลัก, ขโมย อ ปัจจัย

เถร = เถระ, ผู้ชรา, ผู้เฒ่า, คนแก่

ฐาติ ติฏฺฐตีติ เถโร ผู้ยังคงอยู่

ฐา ธาตุ ในความหมายว่ายืน, ตั้งอยู่ อิร ปัจจัย แปลง ฐ เป็น ถ อิ เป็น เอ

ถิรตีติ เถโร ผู้มั่นคง

ถิร ธาตุ ในความหมายว่ามั่นคง ณ ปัจจัย พฤทธิ์ อิ เป็น เอ

ถวติ สิญฺจตีติ เถโร ผู้น่าสรรเสริญยกย่อง

ถุ ธาตุ ในความหมายว่าสรรเสริญ, ชมเชย อิร ปัจจัย แปลง อิ เป็น เอ ลบสระหน้า

เถร (บาลี-อังกฤษ)

(คุณ) อาวุโส (= มีอายุ) (เป็นศัพท์เฉพาะที่หมายถึงพระภิกษุ เฉพาะในหมู่ของพระโคดมพุทธเจ้า)

ลักษณะ ๔ อย่างที่ทำให้เป็นพระเถระได้ คือ

๑ มีอุปนิสัยใจคอสูงส่ง high character,

๒ ทรงจำพระธรรมวินัยได้อย่างดียิ่ง knowing the essential doctrines by heart,

๓ ปฏิบัติเพื่อฌานสี่ practising the four Jhānas,

๔ มีจิตใจบริสุทธิ์จากกิเลสาสวะเนื่องจากขจัดความมัวเมาของจิตได้ being conscious of having attained freedom through the destruction of the mental intoxications.

เถร (ประมวลศัพท์)

พระผู้ใหญ่ ตามพระวินัยกำหนดว่ามีพรรษาตั้งแต่ ๑๐ ขึ้นไป

เถรภูมิ

ขั้นหรือชั้นแห่งพระเถระ, ระดับอายุ คุณธรรม ความรู้ ที่นับว่าเป็นพระผู้ใหญ่ คือมีพรรษาตั้งแต่ ๑๐ ขึ้นไป และรู้ปาฏิโมกข์ เป็นต้น เทียบ นวกภูมิ, มัชฌิมภูมิ

เถร ป., ค.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)

พระเถระ, พระผู้ใหญ่, พระภิกษุผู้มีพรรษาตั้งแต่ ๑๐ ขึ้นไป; ผู้เป็นพระเถระ, ผู้แก่, ผู้เฒ่า, ผู้ใหญ่.

เถน

  น. นักบวชที่เป็นอลัชชี. (ป. เถน ว่า ขโมย).

เถร, เถร-, เถระ

  [เถน, เถระ-] น. พระผู้ใหญ่ ตามพระวินัยกําหนดว่า พระมีพรรษาตั้งแต่ ๑๐ ขึ้นไป เรียกว่า พระเถระ. (ป.).

เถรภูมิ

  [เถระพูม] น. ขั้นหรือชั้นแห่งพระเถระ, ทางคณะสงฆ์จัดภิกษุเป็น ๓ ชั้น ชั้นต้น คือ นวกภูมิ (ชั้นใหม่) มีพรรษาตํ่ากว่า ๕ ชั้นกลาง คือ มัชฌิมภูมิ (ชั้นกลาง) มีพรรษาตั้งแต่ ๕ ถึง ๙ และชั้นสุดคือ เถรภูมิ (ชั้นพระเถระ) มีพรรษาตั้งแต่ ๑๐ ขึ้นไป.

เถรกรณธรรม

๑.   เป็นผู้มีศีล     สำรวมในพระปาฏิโมกข์     ถึงพร้อมด้วยมรรยาท

และโคจร  เห็นภัยในโทษมาตรว่าน้อย   สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย

๒.  เป็นพหูสูต    ทรงจำธรรมที่ได้ฟังแล้ว      สะสมธรรมที่ได้ฟัง

แล้วไว้      ธรรมเหล่าใดงามในเบื้องต้นงามในท่ามกลางงามในที่สุด      แสดง

พรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถพร้อมทั้งพยัญชนะบริบูรณ์สิ้นเชิง    บริสุทธิ์สิ้นเชิง

ธรรมเห็นปานนั้น   อันเธอได้สดับแล้วมาก   ทรงจำไว้   กล่าวได้คล่อง  เพ่ง   

ด้วยใจ  เห็นเนื้อความปรุโปร่ง

๓.  เป็นผู้ได้ตามต้องการ    ได้ไม่ยาก    ได้ไม่ลำบาก    ซึ่งฌาน  ๔

อันเป็นธรรมเป็นไปในจิตอันยิ่ง    เป็นธรรมเครื่องพักผ่อนอยู่สบายในอัตภาพ

ปัจจุบัน

๔.  เธอกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติ    อันหาอาสวะมิได้

เพราะอาสวะสิ้นไป  ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง  สำเร็จอยู่ในปัจจุบันนี่

จตุกกนิบาต อังคุตตรนิกาย ข้อ ๒๒

เถรตฺติเก   ชาติมหลฺลโก   คิหิชาติตฺเถโร   นามฯ 

จตฺตาโรเม  ภิกฺขเว  เถรกรณา  ธมฺมา ฯ อิธ  ภิกฺขเว  เถโร 

สีลวา  โหติ ฯ  พหุสฺสุโต  โหติ ฯ จตุนฺนํ  ฌานานํ   ลาภี   โหติ

อาสวานํ   ขยา ฯเปฯ  อุปสมฺปชฺช  วิหรติ ฯ ยุเม  โข     ภิกฺขเว 

จตฺตาโร  เถรกรณา  ธมฺมาติ*   เอวํ  วุตฺเตสุ  ธมฺเมสุ  เอเกน   

วา  อเนเกหิ  วา  สมนฺนาคโต  ธมฺมตฺเถโร  นาม ฯ  อํตโร  

เถรนามโก  ภิกฺขูติ  เอวํ  เถรนามโก  วา ฯ  ยํ  วา  ปน  มหลฺลก-

กาเล  ปพฺพชิตํ สามเณราทโย  ทิสฺวา  เถโร  เถโรติ  วทนฺติ

อยํ  สมฺมติตฺเถโร (๑) นาม ฯ

*เถรกรณธรรม ๔ องฺ. จตุกฺก . ๒๑/๒๒/๒๙

พึงทราบวินิจฉัยในเถรัตติกะต่อไป

ท่านเป็นผู้ใหญ่โดยชาติ  ชื่อว่า  คิหิชาติเถระ.   ท่านผู้ประกอบด้วยธรรมอย่างเดียว หรือหลายอย่าง ในบรรดาธรรมทั้งหลาย ที่ตรัสไว้อย่างนี้ว่า  “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ธรรมที่ทำให้เป็นเถระ ๔ ประการเหล่านี้ คือ พระเถระในพระศาสนานี้ เป็นผู้มีศีล เป็นพหูสูต ได้ฌาน ๔ เพราะสิ้นอาสวะทั้งหลาย  ฯลฯ  เข้าถึงพร้อมอยู่    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย    ธรรมที่ทำให้เป็นเถระ  ๔  ประการเหล่านี้แล ”  ดังนี้  ชื่อว่า  ธรรมเถระ.  ท่านผู้มีชื่อว่าเถระอย่างนี้    คือ     “ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง   ที่ชื่อว่า   พระเถระ”   ก็ดี

คนทั้งหลายเห็นนักบวชเช่นสามเณรเป็นต้น      ที่บวชเวลามีอายุมากแล้ว เรียกขานว่า  ” พระเถระ   พระเถระ”   ก็ดี   นี้ชื่อว่า   สมมติเถระ.

อรรถกถาสังคีตสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค

สุมงฺคลวิลาสินี ภาค ๓ หน้า 305

พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล เล่ม ๑๖ หน้า 311

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย