บาลีวันละคำ

ธัมมจักกัปปวัตนสูตร (บาลีวันละคำ 436)

ธัมมจักกัปปวัตนสูตร

ธมฺม” (ทำ-มะ) แปลตามศัพท์ว่า “สภาพที่ทรงไว้” ความหมายกลางๆ คือ หลักธรรม, หลักการ, หลักปฏิบัติ ในที่นี้หมายถึงพระธรรม, คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งแสดงธรรมให้เปิดเผยปรากฏขึ้น (ดูเพิ่มเติมที่ บาลีวันละคำ (115) 31-8-55)

จกฺก” (จัก-กะ) แปลว่า ล้อรถ, แผ่นกลม, วงกลม

ปวตฺตน” (ปะ-วัด-ตะ-นะ) แปลตามศัพท์ว่า “การเคลื่อนไปข้างหน้า” ในที่นี้เป็นอาการของ “ล้อ” จึงมีความหมายว่า “หมุนไป

สูตร” บาลีเป็น “สุตฺต” (สุด-ตะ) หมายถึง เส้นด้าย, เส้นเชือก (ความหมายนี้แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ยาวออกไป”) และหมายถึงพระพุทธพจน์หรือพระสูตรต่างๆ ในพระไตรปิฎก (ความหมายนี้แปลตามศัพท์ว่า “วจนะที่หลั่งเนื้อความออกมา” และ “วจนะที่รักษาอรรถไว้ด้วยดี” เป็นต้น)

ธมฺม + จกฺก + ปวตฺตน + สุตฺต = ธมฺมจกฺกปฺปวตฺตนสุตฺต  (สังเกต จกฺก + ปวตฺตน ซ้อน ปฺ) เขียนแบบไทยเป็น ธัมมจักกัปปวัตนสูตร แปลความว่า “พระสูตรว่าด้วยการหมุนกงล้อแห่งธรรม

เนื้อหาแห่งพระสูตรนี้ (เรียกสั้นๆ ว่า “พระธรรมจักร” หรืออีกชื่อหนึ่งว่า “ปฐมเทศนา”) ว่าด้วยอริยสัจสี่ พระพุทธองค์ทรงแสดงแก่พระปัญจวัคคีย์ เป็นการเริ่มประกาศพระพุทธศาสนา เมื่อวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะหลังจากตรัสรู้แล้ว 2 เดือน เมื่อจบพระสูตร ท่านโกณฑัญญะ หนึ่งในปัญจวัคคีย์บรรลุธรรม ทูลขออุปสมบทเป็นพระสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนา ทำให้มีพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ครบบริบูรณ์

: การแสดงพระสูตรนี้ มีคำพรรณนาไว้ว่า อุปมาดั่งจักรพรรดิราชธรรมราชา ทรงกรีธากองทัพธรรม ย่ำยีบดขยี้กิเลสมารน้อยใหญ่ นำเวไนยนิกรให้ลุถึงอมตนครมหานฤพานฉะนั้นแล

——————-

(ชำระหนี้ Chakkris Uthayophas ที่ค้างมาตั้งแต่วันอาสาฬหบูชา)

บาลีวันละคำ (436)

25-7-56

สุตฺต ๑ สายสูตร, เส้นด้าย (ศัพท์วิเคราะห์)

สุจตีติ สุตฺตํ สิ่งที่ยาวออกไป

สุจ ธาตุ ในความหมายว่าไป, เป็นไป ต ปัจจัย ลบสระที่สุดธาตุ แปลง จ เป็น ตฺ

สุตฺต ๒ พระสูตร, ปาพจน์, พระพุทธพจน์

– อภิสเวติ อตฺเถติ สุตฺตํ พจนะที่หลั่งเนื้อความออกมา

สุ ธาตุ ในความหมายว่าไหล, หลั่ง ต ปัจจัย ซ้อน ต

– สูเทติ เธนุ วิย ขีรํ อตฺเถ ปคฺฆราเปตีติ สุตฺตํ พจนะที่ยังเนื้อความให้หลั่งไหลออกมาเหมือนแม่โคหลั่งน้ำนม

สุ ธาตุ ในความหมายว่าไหล, หลั่ง ต ปัจจัย ซ้อน ตฺ

– สุฏฺฐุ อตฺถํ ตายตีติ สุตฺตํ พจนะที่รักษาอรรถไว้ด้วยดี

สุ บทหน้า ตา ธาตุ ในความหมายว่ารักษา อ ปัจจัย ลบสระที่สุดธาตุ ซ้อน ตฺ

– อตฺเถ สูเจตีติ สุตฺตํ พจนะที่ประกาศเนื้อความ

สุจ ธาตุ ในความหมายว่าประกาศ, ให้แจ่มแจ้ง ลบสระที่สุดธาตุ แปลง จ เป็น ตฺ

(หมายเหตุ วิเคราะห์ท้ายนี้ ธาตุในความหมายว่าประกาศ, ให้แจ่มแจ้ง คือ สูจ ธาตุ รัสสะ อู เป็น อุ ลบสระที่สุดธาตุ แปลง จ เป็น ตฺ)

จกฺก (บาลี-อังกฤษ)

ล้อ (รถ), แผ่นหินแบนกลมใช้เป็นอาวุธสำหรับขว้างไป, แผ่นกลม, วงกลม

ปวตฺตน (คุณ.,นปุง.)

๑. เคลื่อนไปข้างหน้า, ทำดี, เป็นผลดี, มีประโยชน์ moving forward, doing good, beneficial, useful

๒. การปฏิบัติ, การประกอบ, การทำสำเร็จ execution, performance, carrying out

สุตฺต (นปุง.)

๑. ด้าย, เส้นด้าย a thread, string

๒. ส่วนของปิฎกทางพุทธศาสนา the (discursive, narrational) part of the Buddhist Scriptures containing the suttas or dialogues, later called Sutta — piṭaka (cp. Suttanta).

๓. หนึ่งในองค์แห่งพระไตรปิฎก (หนึ่งในนวังคสัตถุศาสน์) one of the divisions of the Scriptures

๔. กฎ, มาตรา  a rule, a clause (of the Pātimokkha)

๕. บท, หมวด, คำสนทนา, ข้อความ, ข้อสนทนา a chapter, division, dialogue (of a Buddh. text), text, discourse

๖ ฉันท์โบราณ, คำอ้างอิง an ancient verse, quotation

๗ หนังสือเกี่ยวกับกฎ, เรื่องราวเก่าๆ, ตำรา book of rules, lore, text book

ธรรม (ประมวลศัพท์)

สภาพที่ทรงไว้, ธรรมดา, ธรรมชาติ, สภาวธรรม, สัจจธรรม, ความจริง; เหตุ, ต้นเหตุ; สิ่ง, ปรากฏการณ์, ธรรมารมณ์, สิ่งที่ใจคิด; คุณธรรม, ความดี, ความถูกต้อง, ความประพฤติชอบ; หลักการ, แบบแผน, ธรรมเนียม, หน้าที่; ความชอบ, ความยุติธรรม; พระธรรม, คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งแสดงธรรมให้เปิดเผยปรากฏขึ้น (บาลีวันละคำ (115) 31-8-55)

ธรรมจักร

  น. ชื่อปฐมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่พระเบญจวัคคีย์ เรียกเต็มว่า ธัมมจักกัปปวัตนสูตร; แดนธรรม; เครื่องหมายทางพระพุทธศาสนา เป็นรูปวงล้อมี ๘ ซี่บ้าง ๑๒ ซี่บ้าง. (ส.).

ปวัตน-, ปวัตน์

  [ปะวัดตะนะ-, ปะวัด] น. ความเป็นไป. (ป.).

ปวัตนาการ

  น. อาการที่เป็นไป.

สูตร ๑

  [สูด] น. กฎสําหรับจดจํา เช่น สูตรคูณ สูตรคณิตศาสตร์; ส่วนประกอบที่กำหนดขึ้นในการปรุงยา อาหาร เครื่องดื่ม เป็นต้น. (ส.; ป. สุตฺต).

สูตร ๒

  [สูด] น. ชื่อหลักธรรมในพระสุตตันตปิฎก เรียกว่า พระสูตร เช่น มงคลสูตร กาลามสูตร; ข้อความทางปรัชญาที่เรียบเรียงร้อยกรอง หรือย่อขึ้นไว้สำหรับท่องจำ เช่น โยคสูตร นยายสูตร สูตรสนธิ.

สูตร ๓

  น. มุ้ง, ม่าน, ราชาศัพท์ใช้ว่า พระสูตร หรือ พระวิสูตร.

Chakkris Uthayophas ๒๒ ก.ค.๕๖

ผมจึงใคร่ขอความกรุณาความหมายของชื่อพระสูตรธัมมจักกัปปวัตนสูตร ครับ จะเป็นพระคุณยิ่ง

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย