บาลีวันละคำ

พระมหา (บาลีวันละคำ 448)

พระมหา

มีที่มาอย่างไร

การใช้คำว่า “มหา” ประกอบชื่อพระภิกษุมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล แต่ใช้ในฐานะเป็นคำบอกลักษณะบางอย่าง เช่น

– บอกรูปร่าง ดังชื่อ “พระมหาโมคคัลลานะ” สันนิษฐานว่าเพราะท่านมีรูปร่างสูงใหญ่

– เพื่อให้ต่างจากองค์อื่น เช่น “พระมหากาล” เพื่อให้ต่างจาก “พระจุลกาล” “พระมหาปันถก” เพื่อให้ต่างจาก “พระจุลปันถก

– บอกคุณสมบัติบางอย่าง เช่นมีอายุพรรษามาก หรือมีอาวุโสกว่าองค์อื่นๆ ที่อยู่รวมกัน ก็เรียกว่า “พระมหาเถระ

แต่ “พระมหา” ที่หมายถึง สมณศักดิ์ที่ใช้นําหน้าชื่อภิกษุผู้ที่สอบไล่ได้ตั้งแต่เปรียญธรรม 3 ประโยคขึ้นไป (พจน.42) ไม่เกี่ยวกับรูปร่าง หรือบอกความต่างจากองค์อื่น หรืออายุพรรษา แต่เป็นนามสมณศักดิ์ที่เกิดจากความสำเร็จการศึกษาทางพระปริยัติธรรม

สันนิษฐานกันว่า คำว่า “พระมหา” น่าจะมาจากคำเต็มว่า “พระมหาชาติ

มหาชาติ” เป็นชื่อเรียกเวสสันดรชาดก เป็นชาดกสำคัญที่คนไทยนิยมสดับตรับฟังกันมาแต่โบราณกาล ต้นฉบับในพระไตรปิฎกและอรรถกถาเป็นภาษาบาลี

ผู้ที่จะสามารถอ่านเข้าใจและนำ “มหาชาติ” มาเทศนาได้ดีที่สุดคือผู้ที่เรียนภาษาบาลีจนแตกฉาน จึงนิยมเรียกพระสงฆ์ที่รู้ภาษาบาลีว่า “พระมหาชาติ” ด้วยสามารถเทศน์เรื่องมหาชาติได้แตกฉานเป็นมูลเดิม

แม้พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงสนับสนุนให้พระสงฆ์ศึกษาเล่าเรียนภาษาบาลีด้วยเห็นว่าเป็นทางรักษาสืบอายุพระศาสนา และทรงตั้งพระสงฆ์ที่รู้ภาษาบาลีถึงขนาด ให้เป็น “พระมหาชาติ” อนุวัตตามความนิยมนั้นด้วย

ต่อมา คำว่า “พระมหาชาติ” กร่อนไป เหลือเพียง “พระมหา” และภาษาปากเรียกสั้นๆ ว่า “มหา” คำเดียวก็มี

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (คำว่า “พระมหา”) เขียนไว้ว่า –

“บางครั้งชาวบ้านใช้คำว่า ‘มหา’ เรียกอุบาสกบางท่าน ที่มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาและมีความรู้เรื่องพระศาสนาดี หรือดำรงตนเป็นพุทธมามกะที่เคร่งครัด เพื่อเป็นการยกย่องและให้เกียรติ”

โปรดทราบว่า “พระมหา” หรือ “มหา” เป็นคำเรียกเฉพาะผู้ที่สอบไล่ได้ตั้งแต่เปรียญธรรม 3 ประโยคขึ้นไปเท่านั้น ถ้าใช้คำนี้เรียกผู้ที่ไม่มีคุณสมบัติเช่นนั้นย่อมเป็นการล้อเลียนหรือล้อเล่น มิใช่การยกย่องให้เกียรติแต่ประการใด

: “พระม-หา” คำนี้มีนัยะ

: สาธุสะเพราะซื่อสะอาดในศาสนา

: อย่าให้ใครสลับคำคว่ำราคา

: เป็น “พระห-มา” เพราะไม่ซื่อเสียชื่อเอย

บาลีวันละคำ (448)

6-8-56

ล้นเฟรม

สมณศักดิ์อื่นๆ คนอื่นพอใจจึงได้มา

แต่สมณศักดิ์ “พระมหา” ได้มาด้วยความสามารถของตัวเอง

มหาชาติ

  น. เรียกเวสสันดรชาดกว่า มหาชาติ มี ๑๓ กัณฑ์, การมีเทศน์เรื่องมหาเวสสันดรชาดก เรียกว่า มีเทศน์มหาชาติ. (ป.).

พระมหา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พระมหา เป็นคำสมณศักดิ์ใช้นำหน้าชื่อพระภิกษุที่สอบไล่ได้ตั้งแต่เปรียญธรรม 3 ประโยค ขึ้นไป [1] โดยคำ “มหา” มาจากศัพท์ในภาษาบาลี (มหนฺต ลดรูปเป็น มหา) ใช้นำหน้าพระเถระผู้มีร่างกายสูงใหญ่ในสมัยพุทธกาลเช่น พระมหากัสสปะเถระ พระมหาโมคคัลลานะ และใช้เรียกนำหน้ายกย่องพระเถระผู้เป็นที่น่าเคารพนับถือว่า พระมหาเถระ แปลว่า พระเถระผู้ใหญ่

ในปัจจุบันบางครั้งชาวบ้านใช้คำว่า “มหา” เรียกอุบาสกบางท่าน ที่มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาและมีความรู้เรื่องพระศาสนาดี หรือดำรงตนเป็นพุทธมามกะที่เคร่งครัด เพื่อเป็นการยกย่องและให้เกียรติ [2]

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย