บาลีวันละคำ

อาญา (บาลีวันละคำ 495)

อาญา

อ่านว่า อา-ยา

บาลีเป็น “อาณา” อ่านว่า อา-นา

อาณา” ตามรากศัพท์แปลว่า “การบอกให้รู้ทั่ว” ขยายความว่า “ประกาศให้รู้และให้ปฏิบัติตาม” หมายถึง คำสั่ง, ความบังคับ, การบังคับบัญชา, อำนาจ

อาณา” สันสกฤตเป็น “อาชฺญา” อ่านว่า อาด-ยา (เสียงที่น่าจะใกล้เคียงที่สุดคือ อาด-เชีย) เอามาใช้ในภาษาไทยจึงมักออกเสียงตามสะดวกลิ้นไทยว่า อาด-ชะ-ยา

นอกจากปรับเสียงแล้วเรายังปรับรูปเป็น “อาญา” อีกรูปหนึ่ง ในภาษาไทยจึงมีใช้ทั้ง อาญา อาณา และ อาชญา

พจน.42 บอกความหมายแต่ละคำไว้ดังนี้ –

1. อาญา : (1) อํานาจ; โทษ (มักใช้สําหรับพระเจ้าแผ่นดินหรือเจ้านาย) เช่น พระราชอาญา (2) คดีที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดตามกฎหมายอาญา เรียกว่า คดีอาญา แตกต่างกับคดีที่ฟ้องร้องเกี่ยวกับสิทธิส่วนเอกชน ซึ่งเรียกว่า คดีแพ่ง

2. อาณา : อํานาจปกครอง เช่น อาณาบริเวณ

3. อาชญา : อํานาจ; โทษ (มักใช้สําหรับพระเจ้าแผ่นดินหรือเจ้านาย) เช่น พระราชอาชญา

คำที่ออกมาจาก “อาชญา” ที่เราคุ้นกันดีก็คือ “อาชญากร” (อาด-ยา-กอน, อาด-ชะ-ยากอน) = ผู้ก่ออาชญากรรม, ผู้กระทําความผิดที่เป็นคดีอาญา และ “อาชญากรรม” = การกระทําความผิดทางอาญา

อาญา อาณา อาชญา มาจากรากเดียวกัน คือ สั่งบังคับให้ทำตาม หรือคุกคามด้วยอำนาจ

: ไม่ว่าใครๆ ก็กลัวภัยคุกคาม

ผู้มีน้ำใจงามจึงไม่ควรคุกคามใครๆ

22-9-56

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย